กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจเชิงรุกโควิดสมุทรสาคร -จังหวัดใกล้เคียงพบ 689 ราย เผยต้นเชื้อระบาดจากแรงงานข้ามชาติ เผยแผนควบคุมโรคสกัดกลุ่มใหญ่สมุทรสาครห้ามออกนอกพื้นที่ ส่วนกลุ่มซื้อขายนำเชื้อออกนอกจังหวัด เป็นกลุ่มเล็ก ตรวจจับเร็วลดการแพร่เชื้อ
เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 20 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 และมาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมโรค กรณีจังหวัดสมุทรสาคร ว่า สำหรับกรณีที่จ.สมุทรสาคร เป็นเคสเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. พบการติดเชื้อในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคนไทยอยู่ภายในประเทศ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นต้นเชื้อรายแรก แต่มาจากที่อื่น ทางกรมควบคุมโรคและจังหวัดได้พยายามค้นหาสาเหตุการติดเชื้อ และสงสัยแรงงานจากเมียนมา เพราะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยรายแรก และได้ไปสำรวจจนพบว่า ตลาดกลางกุ้ง เป็นแหล่งแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก โดยพบ90% เป็นชาวเมียนมา อีก 10% เป็นคนไทย แต่90% ไม่มีอาการ ซึ่งการพักอาศัยก็ค่อนข้างแออัด มีการใกล้ชิดกัน จึงทำให้ติดเชื้อจำนวนมาก
สธ. กล่าวอีกว่า สำหรับการรายงานวันนี้(20 ธ.ค.) เป็นการรายงานผลระยะแรก แต่จะมีการรายงานผลระยะต่อไป ซึ่งจะมีผู้ติดเชื้ออีก ดังนั้น ครั้งนี้ คือการระบาดในประเทศไทยอีกรอบเป็นวงกว้าง โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบกลุ่มแหล่งที่มีเชื้อ และมีขอบเขตบริเวณชัดเจน จึงพยายามควบคุม และล็อกดาวน์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นข่าวไปแล้วนั้น เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวของเชื้อไปที่อื่น ส่วนที่ผ่านมาที่มีคนไปซื้อขายก็มีการนำเชื้อออกไปจังหวัดต่างๆแต่ไม่มากนัก โดยมีข้อมูลบุคคลเหล่านี้ทุกรายแล้ว ส่วนผู้ที่เคยไปก่อนหน้านี้ก็ขอให้มาพบเจ้าหน้าที่และรายงานตัวในการสอบสวนโรคต่อไป
ด้าน นพ.โอกาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จุดตั้งต้นของการระบาดครั้งนี้ คือ ตลาดกลางกุ้ง โดยได้รับรายงานตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.จากนั้นก็สอบสวนโรค จนพบมีผู้ป่วยขยายวงทั้งในจ.สมุทรสาคร นครปฐม 2 ราย สุพรรณบุรี ราชบุรี กรุงเทพฯ 2 ราย สุมทรปราการ 3 ราย และอื่นๆ โดยทั้งหมด 32 รายที่มาตรวจในรพ. อย่างไรก็ตาม มีการตรวจค้นหาในชุมชนเพิ่มอีก 657 ราย ดังนั้น รวมทั้งหมด 689 รายทั้งจ.สมุทรสาครและจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อมูล ณ ช่วงเวลานี้ และไม่ต้องกังวล เพราะจะมีข้อมูลตัวเลขเพิ่มขึ้นอีก เพราะเราตรวจกว้างมากขึ้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ขยายผลตรวจหาโควิดเพิ่ม! ตลาดคู่ค้าจ.สมุทรสาครอีก 7 จังหวัด ถือเป็นการระบาดรอบใหม่)
“มีข้อกังวลจากพี่น้องสื่อมวลชนที่ไปลงพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร สอบถามว่าต้องถูกกักตัวหรือไม่ จริงๆ คือไม่ต้องถูกกักตัว แต่ต้องมาพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนว่า เสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง หรือเสี่ยงต่ำ เช่น เสี่ยงสูง หากมีการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1 เมตรนาน 5 นาที ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว ไม่สวมหน้ากากอนามัย ถุงมือไม่ใส่ มือไม่ล้าง หากประเมินแล้วว่า สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัวและตรวจแล็บ แต่หากไม่ได้พบผู้ติดเชื้อ ไม่ได้พูดคุยเกิน 5 นาที ก็เสี่ยงน้อยก็จะได้รับคำแนะนำกักตัว จริงๆไม่ใช่แค่ผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่ระบาดก็เช่นกัน รวมทั้งประชาชนคนอื่นๆด้วย” นพ.โอภาส กล่าว และว่า ขอย้ำเรื่องอาหารทะเล ที่มีคนกังวลว่ารับประทานได้หรือไม่ ขอนำเรียนว่า หลายประเทศมีการพบเชื้อในอาหารต่างๆ แต่การพบแบบนั้นคือ การพบสารพันุกรรมในอาหาร มีการปนเปื้อนแต่ไม่ได้หมายความว่าถ่ายทอดเชื้อได้ ยังไม่มีหลักฐาน แต่ในสุขอนามัยขอให้รับประทานอาหารสุก ร้อน สะอาด เพราะจะปลอดโรคต่างๆ ไม่ใช่แค่โควิด
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวย้ำอีกว่า การพบผู้ป่วยจำนวนมาก ได้มีการกักตัวในพื้นที่ไม่ให้ออกไปภายนอก เช่น หอพักบริเวณตลาดก็ควบคุม ไม่ให้มีการเดินออกมาตามที่ต่างๆ ส่วนอาหารการกินเรามีการดูแล และมีโรงพยาบาลสนาม หากมีอาการก็จะส่งโรงพยาบาล ขณะที่คนไทยติดเชื้อได้นำส่งโรงพยาบาลแล้ว อย่างไรก็ตาม มีหอพักสำคัญๆอยู่อีก 7 แห่งมีแรงงานเมียนมาอยู่อีก ซึ่งขณะนี้ปิดแล้วและเข้าไปตรวจเชื้อเชิงรุก อย่างไรก็ตาม การที่พบเปอร์เซ็นต์สูงถึง 40% เพราะเราไปตรวจในพื้นที่เสี่ยงสูง แต่หากไปตรวจในพื้นที่เสี่ยงต่ำ เปอร์เซ็นต์ก็จะลดลง แผนดำเนินการจะตรวจหาเชื้อเพิ่มอีก 3-4 หมื่นราย แต่ช่วงแรกเราตรวจประมาณกว่าหมื่นรายก่อนขยายต่อไป
“แผนการควบคุมโรค จะพยายามคุมไว้ที่จ.สมุทรสาคร บริเวณตลาดกลางกุ้ง และบริเวณแหล่งระบาด จะปิดเฉพาะความเสี่ยงรุนแรง ส่วนอำเภอใกล้เคียงภายในจังหวัดก็จะค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อควบคุมไม่ให้ออกไปนอกจังหวัด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ติดเชื้อ 500-600 คนจะพยายามคุมไว้ในจังหวัด แต่ก็มีบ้างกรณีคนที่มาซื้อกุ้ง ซื้อของไปขายแล้วออกไปนอกจังหวัด แต่ไม่ได้มาก มีประมาณ 1-2 เคส ซึ่งเราตรวจจับได้เร็ว และเข้าไปควบคุมได้เร็ว ดังนั้น กลุ่มที่นำเชื้อออกไปน่าจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 10-20 คนต่อกลุ่ม ซึ่งจะควบคุมไว้ ขณะนี้เรามีรายชื่อและติดตามผู้สัมผัสได้ สรุปคือ คุมกลุ่มใหญ่ไว้ในจ.สมุทรสาคร และกลุ่มเล็กรีบตรวจับ ซึ่งคาดว่าจะควบคุมได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์การแพร่เชื้อจะหมดวงจร ” ปลัดสธ. กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “ราชวิถี-มีหมอ” เปิดให้กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 พบแพทย์ออนไลน์ผ่าน Telemedicine)
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า การจะควบคุมได้ต้องมีมาตรการต่างๆ อย่างมาตรการด้านสาธารณสุข จะประกอบด้วย 1.ค้นหาผู้ติดเชื้อ ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าว จ.สมุทรสาคร และจังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกัน ประชาชนจ.สมุทรสาครเฝ้าระวังอาการ ส่วนประชาชนที่มาจากสมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ให้สังเกตอาการ และเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน 2.เฝ้าระวัง โดยตรวจผู้ป่วยปอดอักเสบทุกราย 3.เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมรับการระบาด ทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุด PPE ยา แอลกอฮอล์ ฯลฯ 4.จัดตั้งให้มีศูนย์รับคำปรึกษาทุกจังหวัด 5.กำหนดผู้รับผิดชอบของทุกจังหวัดในการจัดการรับมือการระบาด 6.ตรวจสอบ ยกระดับการป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลทุกแห่ง
“ต้นเชื้อเหตุการณ์ครั้งนี้ สันนิษฐานว่ามาจากแรงงานเมียนมา แต่เราก็ควบคุมเฉพาะกลุ่มได้ อย่างไรก็ดี โชคดีที่เขาไม่ได้ไปคลุกคลี หรือเดินทางไปไหนมาก เพราะวิถีชีวิตพวกเขาจะคุยในกลุ่มตนเอง ทำให้แพร่เชื้อเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น หากติดไปยังคนไทยจึงไม่มาก แต่ก็ต้องย้ำเรื่องมาตรการต่างๆที่กล่าวไว้ข้างต้น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ด้าน นพ.กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า ในเขตสุขภาพที่ 5 ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ทั้งหมดได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการทุกจังหวัด ศูนย์ระดับเขตเพื่อระดมช่วยกันกับจ.สมุทรสาคร นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมเรื่องเตียง อย่างคนไข้ที่มีผลบวกกว่า 500-600 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาไม่มีอาการ ปัจจุบันมีเตียงเหลือประมาณพันเตียง ขณะที่ Local Quarantine ก็มีความพร้อม ขณะที่อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหน้ากากอนามัย ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ มีเตรียมไว้เป็นเดือนๆ และจากนี้ก็จะมีมาสำรองอีก ดังนั้น ขณะนี้จ.สมุทรสาครถูกควบคุมแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้เจอทุกอำเภอ และทางการแพทย์มีเครื่องมือ อุปกรณ์ เตียงเพียงพอ
- 5 views