ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยกตัวอย่างงานคอนเสิร์ตที่สามารถจัดได้ และทำได้ดีคุมโควิด-19 มีจัดจุดคัดกรองให้ประชาชน เข้าไปไม่แออัด มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลประชาชน มีการสแกน “ไทยชนะ” มีการจัดที่นั่งห่างกัน 2 เมตร

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการปิดสถานที่จัดงานเทศกาลดนตรี บิ๊กเมาน์เท่น ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อให้เป็นอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งปิด ทั้งนี้ตอนอนุญาตจัดนั้นเป็นอำนาจของนายอำเภอ กับเทศบาล แต่ที่สั่งปิดเพราะไม่ทำตามมาตรการและไม่แก้ไข ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการ

เมื่อถามว่ามีการแชร์ข้อความพร้อมภาพโดยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดงานดนตรีอื่นๆ จึงสามารถจัดได้ นพ.โอกาส กล่าวว่า การจัดกิจกรรม ขอย้ำว่าทำได้ ตัวอย่างดีๆ ก็มี จริงๆ ตัวอย่างที่ทำดีๆ ทำได้ เราสนับสนุน ให้ทำด้วย แต่กรณีถูกผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาสั่งปิดนั้นก็เห็นว่าคนแออัดเยอะมาก สแกนไทยชนะวันนั้นวันเดียวก็ 3 หมื่นคน แล้วเมื่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลงไปกับกับตรวจสอบ ขอให้แก้ไขก็บอกว่าแก้ไม่ได้ จะเห็นว่าครบถ้วนคือ 1. แก้ปัญหาไม่ได้ 2. คนแออัด อย่างนี้ความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคเป็นไปได้อย่างสูง

“นึกภาพว่าหากมีการกระจายไป ซึ่งคนร่วมงานมาจากทั่วประเทศ แล้วกลับไปทั่วประเทศ ผมคิดว่าอันนี้ยิ่งกว่า สนามมวยลุมพินีสัก 10 เท่า แล้วสนามมวยลุมพินีคนก็หลักพันถึงต้นๆ หมื่น ส่วนอันนี้คนร่วมงาน 4-5 หมื่น คิดดูว่าจะกระจายกันขนาดไหน หากไม่ป้องกันไว้ก่อน ถ้าเกิดเหตุขึ้นมา ผมคิดว่าป้องกันไม่ทันแน่นอน” นพ.โอภาส กล่าว

สำหรับข้อกังวลเรื่องการจัดงานคอนเสิร์ต งานรื่นเริง ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร ภายหลังงานเทศกาลดนตรี บิ๊กเมาน์เท่น ถูกสั่งปิดนั้น อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอยืนยันว่าในตอนนี้ประเทศไทยไม่มีพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ระบาดโควิด-19 แม้แต่พื้นที่เดียว ดังนั้นช่วงเทศกาลปีใหม่ยังสามารถจัดกิจกรรม คอนเสิร์ตได้ตามปกติ แต่ต้องขออนุญาตให้ถูกต้องจากฝ่ายปกครอง ในเรื่องของการใช้เสียง ใช้ลำโพง รวมถึงมีแผนการควบคุมป้องกันโรคที่กำหนดไว้ควบคู่กันไป เช่น ที่มีการเน้นย้ำหลายครั้งว่าการจัดงานประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือผู้จัดงานจะต้องพยายามจัดในสถานที่ที่ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคให้มากที่สุด เช่น 1.การเว้นระยะห่างไม่ให้มีการอัด 2. ต้องคัดกรองผู้เข้างานอย่างเป็นระเบียบและตรวจวัดอุณหภูมิ 3. จะต้องทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะ เช่นห้องน้ำ และอื่นๆ 4. จะต้องมีจุดล้างมือและเจลแอลกอฮอล์ และ 5. ประการสำคัญคือจะต้องมีผู้กำกับแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่มีการจัดงาน

ส่วนที่ 2 คือประชาชนไปร่วมงานให้สนุกก็ต้องป้องกันตัวเองโดยการสวมหน้ากากอนามัยให้ครบถ้วนถอดในเวลาจำเป็นจริงๆ เช่นการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ ต้องสแกน Application ไทยชนะทุกครั้ง เพื่อให้ติดตามและแจ้งข่าวสารกับผู้ร่วมกิจกรรมนั้นๆ ได้อย่างสะดวก โดยตรงเพื่อให้ทราบถึงวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องไม่ให้เกิดความสับสน ที่สำคัญคือหลังร่วมกิจกรรมอะไรก็ตามหากกลับไปแล้วมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ขอให้ไปพบแพทย์และแจ้งสถานที่แจ้งที่ท่านไป และส่วนที่ 3 ขอย้ำว่าที่สำคัญคือทางผู้จัดงาน ประชาชน เจ้าหน้าที่ดูแล และเมื่อฝ่ายปกครองร่วมมือการตรวจสอบว่าที่จัดนั้นมีความเหมาะสมถูกต้องหรือไม่หากไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้จัดปรับปรุงแก้ไข

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ยกตัวอย่างงานที่สามารถจัดได้ และทำได้ดี คือเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมาที่จังหวัดชลบุรีมีการจัดจุดคัดกรองให้ประชาชน เข้าไปไม่แออัด มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลประชาชน มีการสแกน “ไทยชนะ” มีการจัดที่นั่งห่างกัน 2 เมตร เป็นต้น ไม่ปล่อยให้มีการแออัดที่บริเวณหน้าเวทีจนเกินไป การจำหน่ายอาหารเรียบร้อยดี มีการสวมหน้ากากอนามัย ยกเว้นการถ่ายรูปที่มีการถอดหน้ากากในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นย้ำว่าการจัดงานเคาท์ดาวน์ และเทศกาลอื่นๆ สามารถทำได้ แต่ควรจัดเวทีแสดง จัดการให้คนร่วมงานอยู่เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณไม่เกิน 10 คน มีแถวห่างกันประมาณ 2 ตารางเมตรต่อ 1 คน ระยะห่างระหว่างแถว 3 เมตร จะเกิดความปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อย และเวลาเกิดปัญหาเกิดขึ้นเราจะได้ดูแลเป็นกลุ่มๆไป ยกตัวอย่างงานที่สิงห์ปาร์ค ซึ่งพบว่าผู้ติดเชื้อฯ ไปจุดนั้น เมื่อมีการแบ่งกลุ่มก็ทำให้การควบคุมโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการกักตัวคนน้อยลง ไม่ต้องกักทั้งงาน นี่คือตัวอย่างสำหรับประชาชนหรือผู้ที่จะจัดงานต่างๆ

“ขอยืนยันว่าจัดได้ขออนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบ และผู้ที่จัดงานประชาชนเจ้าหน้าที่ร่วมมือกันทำให้งานสำเร็จ มาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ของไทยถือว่าทำได้ดีจนถึงตอนนี้ก็ยังถือว่าทำได้ดี แต่ในเป็นช่วงที่จะมีเทศกาลต่างๆ เป็นเทศกาลแห่งความสุขก็อยากจะให้ประชาชนร่วมกิจกรรมได้อย่างมีความสุข แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องไม่ละเลยมาตรการควบคุมความปลอดภัยขอความร่วมมือทุกคนในการสวมหน้ากากอนามัยเว้นระยะห่างกิจกรรมรื่นรมย์ขอให้มีพอสมควร จะกลับไปปกติทันทีทันใดคงไม่ได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ห่างกันแล้วความสุขจะลดลง มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ ขอความร่วมมือจากทุกคนด้วย” นพ.โอภาส กล่าว