คร.ชี้ฝุ่น PM 2.5 ไม่ส่งผลโดยตรงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด แต่หากรับเชื้อและรับฝุ่นจิ๋ว จะทำให้ปอดแย่ลง ทางที่ดีต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน พร้อมให้คำแนะนำคนทำงานกลางแจ้ง
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่กระจายทั่ววันนี้(15 ธ.ค.) ว่า ในช่วงนี้พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยค่า PM2.5 ในแต่ละจุดแต่ละเวลามีความแตกต่างกัน ทำให้ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจึงขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ คือ 1.ตำแหน่งที่อยู่อาศัยหรือตำแหน่งที่ทำกิจกรรม 2.ช่วงเวลาและระยะเวลาที่สัมผัส 3.ชนิดของกิจกรรมที่ทำในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 สูง เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง ทำงานกลางแจ้ง จะมีความเสี่ยงที่จะได้รับ PM2.5 มากกว่ากลุ่มคนที่ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือทำงานในอาคาร
และ 4.ปัจจัยเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหืด ภูมิแพ้ หากได้รับมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป สำหรับประชาชนที่มีบุคคลในครอบครัวที่ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และ 4.กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา น้ำตาไหล และตาแดง หากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ประกอบอาชีพกลางแจ้ง เช่น วินมอเตอร์ไซด์ ตำรวจจราจร ฯลฯ ต้องมีการสวมหน้ากาก N 95 หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆ สวมหน้ากากอนามัยที่เป็นชนิดป้องกัน PM 2.5 สามารถใช้ได้ เพราะถ้าใช้หน้ากาก N95 อาจจะอึดอัด ส่วนบุคคลทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยทั่วไปได้ ไม่จำเป็นต้องสวมทับสองชั้น เพราะถ้าเราไม่ได้อยู่กลางแจ้งก็สามารถป้องกันได้ แม้ไม่ 100%
เมื่อถามว่ามีข้อกำหนดหรือไม่ว่า ช่วงมีฝุ่นมากควรอยู่กลางแจ้งเป็นเวลาเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า บอกไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลวิชาการ แต่ปกติก็ไม่ควรอยู่นาน และค่าฝุ่น PM2.5 ในแต่ละจุดแต่ละเวลามีความแตกต่างกัน ทำให้ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจึงขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนก็จะบอกว่า ภายใน 1 ชั่วโมงก็ควรจะมีการดื่มน้ำ จิบน้ำ ดังนั้น หากเทียบกับเรื่องการอยู่ในพื้นที่ฝุ่น PM2.5 หนามากๆ ก็ไม่ควรอยู่นาน ยิ่งคนทำงานกลางแจ้งต้องหาทางหลบฝุ่น หรือเข้าตัวอาคาร เพื่อป้องกันการรับฝุ่นมากเกินไป
เมื่อถามถึงกรณีโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จะมีสูงหรือไม่ในสภาพอากาศฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันชัดเจน อย่างไรก็ตาม ฝุ่นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นเซลล์ตรงเยื่อจมูกอ่อนแอลง ก็ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ปัจจัยทางสังคม เมื่อมีฝุ่นมากคนก็จะไม่ออกจากบ้าน หรือลดการทำกิจกรรมลง ก็ทำให้ความเสี่ยงลดลงด้วย ยกเว้นว่า หากรับเชื้อโควิดและรับฝุ่น PM2.5 เมื่อเข้าไปในปอดจะยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้
นพ.โอภาส กล่าวว่า ช่วงนี้หากไม่จำเป็นก็ขอให้อย่าออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อย่างโรคปอด โรคทางเดินหายใจ หากต้องออกไปข้างนอกขอให้สวมหน้ากากป้องกัน ส่วนที่ว่าจะต้องทำงานที่บ้าน (Work from home) เพื่อหลบฝุ่นช่วงนี้หรือไม่นั้น อาจไม่ถึงขั้นนั้น แต่หากทำได้ก็จะช่วยลดปริมาณไอเสียจากรถยนต์ แต่บางอาชีพอาจไม่ได้ อย่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่เพื่อประเมินความเสี่ยงในการสัมผัสฝุ่นละอองอย่างเหมาะสม โดยสามารถติดตามสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ และขอให้ประชาชนลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เช่น ลดการใช้รถยนต์และรถที่มีควันดำ ลดการเผาขยะ หรือเผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงดูแลทำความสะอาดบ้าน ให้ปลอดฝุ่น โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด และปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรม นอกบ้าน เช่น ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้ง โดยเฉพาะบริเวณหรือเส้นทางที่มีฝุ่นหนาแน่น หากจำเป็นควรป้องกันการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด
- 156 views