ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยไทม์ไลน์บุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดรายที่ 7 ทำงานร่วมกับรายที่ 4 และอยู่หอพักเดียวกัน รับประทานอาหารร่วมกันกับรายที่ 6 ชี้บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงอีก 29 คนเตรียมตรวจเชื้อครั้งที่ 3 ในวันที่ 15 ธ.ค.63

เมื่อเวลา 14 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงความก้าวหน้าผลการสอบสวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบติงานในสถานกักกันทางเลือก หรือ ASQ กทม. ว่า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่พบติดโควิด-19 ในวันนี้(14 ธ.ค.) จำนวน 1 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ เป็นเพศหญิงอายุ 27 ปี พบว่าทำงานในรพ.เดียวกันกับบุคลากรทางการแพทย์ที่พบติดโควิดรายที่ 4 ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นรายแรกที่ป่วย ซึ่งจริงๆแล้วรายที่ 7 นั้นถือว่าเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม สำหรับรายที่ 7 ไม่ใช่พยาบาล แต่เป็นบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับไทม์ไลน์บุคลากรทางการแพทย์รายที่ 7 เป็นเพื่อนร่วมห้องพักของบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดโควิดรายที่ 6 ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มเดียวกัน เริ่มจากผู้ติดเชื้อรายแรก คือ รายที่ 4 อยู่ใน ASQ และมีกิจกรรมนอกเวลางาน คือ รับประทานอาหารร่วมกัน กับรายอื่นๆ ตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับรายที่ 7 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงที่อยู่ในการกักกันทำงานเดียวกันกับรายที่ 4 และพักอาศัยกับรายที่ 6 อยู่ในคอนโดมิเนียมเดียวกัน และร่วมรับทานอาหารด้วยกันกับรายที่ 6 ระหว่างวันที่ 5-7 ธ.ค. 2563 ตรวจเชื้อครั้งแรกวันที่ 8 ธ.ค. ผลเป็นลบ และตรวจซ้ำครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ผลเป็นบวก มีอาการเจ็บคอ แน่นจมูก โดยรายที่ 7 อยู่ใน ASQ ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 51 ราย อยู่ในรพ.เอกชน ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 31 ราย ตรวจครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ผลลบทั้งหมด และครั้งที่ 2 วันที่ 8 ธ.ค.ผลลบ 30 ราย โดยอีก 1 รายคือ ผู้ป่วยรายที่ 7 ที่ตรวจพบเชื้อ อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจครั้งที่ 3 กลุ่มที่เหลืออีก 29 คน ในวันที่ 15 ธ.ค. ซึ่งนับแล้วในวันพรุ่งนี้(15 ธ.ค.) ก็จะครบ 10 วันพอดี หากไม่พบเชื้อก็ถือว่าพ้นระยะฟักตัวของโรคท เนื่องจากโดยหลักแล้วระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ 5-7 วัน มากสุดไม่เกิน 10 วัน แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยก็ต้องเฝ้าระวังอีก 4 วันที่เหลือ เพื่อรอให้ครบกำหนด 14 วันก็จะดีที่สุด อย่างไรก็ตาม รายนี้ไม่ต้องกังวลในส่วนของผู้ที่พักในคอนโดมิเนียมเดียวกัน หากไม่มีอาการป่วย ไม่มีอะไรผิดปกติ ก็ถือว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่หากสงสัยว่า ป่วย เริ่มมีอาการไข้ น้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ฯลฯ ก็สามารถไปรับการตรวจเชื้อที่สถานพยาบาลได้

เมื่อถามย้ำว่าการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ครั้งนี้น่าจะมาจากการร่วมรับประทานอาหารเป็นหลักหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะการรับประทานอาหารจะไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย และจะมาจากการพูดคุยกันระหว่างนั้น ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม แต่ในกลุ่มนี้ไม่ได้รับประทานอาหารร่วมกันทั้งหมด 7 คน แต่จะเป็นการรับประทานอาหารแยกกัน อาจ 2 คน หรือ 3 คน แล้วมาเจอกัน เป็นต้น

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง