เพราะอะไร “ไทม์ไลน์” ประวัติผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงสถานที่ต่างๆ วันเวลา จึงเป็นสิ่งสำคัญ ไขข้อสงสัยได้จาก “นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป
ดังที่เห็น ทุกครั้งที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงเมื่อพบผู้ติดโรคโควิด-19 รายใหม่ ที่ไม่ใช่ผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้ากักตัวในสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด จะมาพร้อม “ไทม์ไลน์”ของผู้ติดเชื้อรายนั้นๆเสมอ เพราะการทราบเส้นทางประวัติการเดินทาง ไปไหน เมื่อไหร่และเจอใครบ้าง เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการตาม “ล็อคเป้า” ตะครุบตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้าสู่การดูแลให้ได้โดยเร็ว จำกัดวงการรับเชื้อให้น้อยที่สุด ลดโอกาสการแพร่เชื้อ นำสู่การควบคุมโรคได้สำเร็จ หากเมื่อไหร่ที่ผู้ติดเชื้อโกหกไทม์ไลน์ ย่อมส่งผลอย่างยิ่งต่อการคุมโรค โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาด “โควิด-19”
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อธิบายว่า ทันทีที่ได้รับรายงานผลตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการณ์วิทยาศาสตร์(ห้องแล็ป)ยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจะลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคด้วยการสอบถามประวัติการเดินทางจากผู้ติดเชื้อ เพื่อนำมาสู่การเขียนเป็นไทม์ไลน์ จะทำให้ระบุได้ว่าผู้ติดเชื้อไปที่ไหน และเจอใครมาบ้าง จะได้ระบุผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเสียงต่ำ ติดตามและนำเข้าสู่ระบบการป้องกันควบคุมโรค
การได้ประวัติของผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งนำมาเขียนเป็น “ไทม์ไลน์” จะเริ่มตั้งแต่วันที่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อและย้อนหลังกลับไป โดยทั่วไปจะย้อนไปถึงเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะเริ่มป่วยหรือเริ่มตรวจพบ เพราะเป็นระยะเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นจุดที่ได้รับเชื้อ อย่างกรณีของผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ หากเป็นวันเริ่มป่วยในประเทศไทย ก็จะย้อนหลังกลับไปว่าเขามีกิจกรรม ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนอย่างไร แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์นั้นเสมอไป อาจจะมีบางคนที่ยาวหรือสั้นกว่านั้น บางกรณีอาจถอยหลังกลับไปถึง 4 สัปดาห์ เพราะว่าลักษณะของการพบผู้ป่วย 1 รายบางทีเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ยิ่งถ้าหากมีหลายคนที่อยู่ในวงเดียวกันบางทีความสัมพันธ์ระหว่างคนนั้นกับคนถัดมาที่ป่วย อาจจะต้องระบุเวลาที่ยาวขึ้น
ดังนั้น “ไทม์ไลน์” จะมีช่วงก่อนหน้าที่จะตรวจเจอหรือก่อนหน้าที่จะป่วยระยะเวลาหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ 2-4 สัปดาห์ เพื่อดูว่าเขาติดเชื้อมาจากไหน จากใคร จากกิจกรรมใด และช่วงหลังจากเริ่มป่วยแล้วไปข้างหน้า เพื่อประโยชน์ในการดูความเสี่ยงของคนที่จะได้รับเชื้อจากคนนี้ ระบุผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ หรือเขาไปในสถานที่ใด แพร่เชื้อให้ใครมากน้อยแค่ไหน
นิยามของผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง(High risk contact) หมายถึง ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 ตามลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง คือ ผู้ที่เรียน ผู้อาศัยร่วมห้องพัก หรือทำงานในห้องเดียวกันหรือคลุกคลีกัน ,ผู้สัมผัสที่มีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วยโรคโควิด-19โดยไม่มการป้องกัน หรือผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ในห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ป่วยโรคโควิด-19และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
ส่วนผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ(Low risk contact) คือ ผู้ที่ทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 แต่ไม่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงสูง ,ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จัดว่าไม่มีความเสี่ยง(No risk)
“ถ้าเราสามารถมีข้อมูลเกี่ยวกับไทม์ไลน์ที่ครบถ้วน เราก็จะประเมินภาพรวมได้ ตั้งแต่ตอนรับเชื้อได้อย่างไร มีโอกาสแพร่เชื้อต่อมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสำหรับนักระบาดวิทยา ไทม์ไลน์นี้ใช้มานานมากแล้ว แต่สำหรับประชาชนก็น่าจะนิยมหรือเป็นที่รู้จัก ไทม์ไลน์ของการสอบสวนโรคมากขึ้นในช่วงหลัง ”นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณ อธิบายเพิ่มด้วยว่า ถ้าระบุไทม์ไลน์ได้เร็วก็จะทำให้การควบคุมโรคได้เร็ว เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคที่มีประสบการณ์ จะซักประวัติ นอกจากประวัติอาการป่วยและประวัติกิจกรรม ดังนั้น ประวัติกิจกรรมจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้อยู่กับเขา จึงต้องให้เขาพูดความจริง ยิ่งพูดละเอียดครบถ้วน ทำให้เห็นภาพเหตุการณ์ได้ชัดเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะผู้ใกล้ชิดในครอบครัว เพื่อน ผู้ร่วมงานหรือแม้แต่คนอื่นที่ไปเกี่ยวข้องในที่สาธารณะ และที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์
แต่ปัญหาหนึ่งที่เจ้าหน้าที่พบเมื่อลงพื้นที่สอบสวนโรค คือ ผู้ป่วยโกหกประวัติและกิจกรรมที่ทำในช่วงเวลานั้นๆ อย่างกรณีการสอบสวนโรคจากผู้ลักลอบจากเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาเข้าประเทศไทย ผ่านช่องทางธรรมชาติและพบติดโควิด-19ในช่วงแรก 10 คนนั้น เจ้าหน้าที่มีความประสบการณ์ก็พบความผิดปกติจากประวัติที่แต่ละคนบอก มีการให้ประวัติเพียง 50 % จึงต้องมีการสอบทานประวัติใหม่ จากแหล่งอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เช่น กล้องวงจรปิด หรือหลักฐานอื่น ๆ ทำให้การสอบสวนโรคมีความยุ่งยากมากขึ้นและใช้เวลานานขึ้น
“ถ้าผู้ป่วยโกหกประวัติ ก็ทำให้การควบคุมโรคมันล่าช้าและก็เป็นความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ทำให้หลงทาง สมมติบอกเรื่องไม่จริง ก็ทำให้เจ้าหน้าที่แปลความหมายไม่ถูกต้อง อย่างเช่น บอกว่า ไม่ได้ไปต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ก็ต้องไปหาว่าแล้วอาจจะไปติดเชื้อจากที่ชุมนุมคนหมู่มากมาหรือเปล่า ไปที่คนเยอะมาหรือเปล่า หรือไปกิจกรรมนี้มาหรือเปล่า หรือกิจกรรมอื่นๆในประเทศที่ใกล้เคียงสุดที่จะติดเชื้อมาได้ เพราะเขาไม่บอกว่าไปต่างประเทศ แต่ถ้าบอกว่าไปต่างประเทศ ข้อมูลก็จะชัดเจนเพราะต่างประเทศก็ความเสี่ยงมากที่จะติดเชื้ออยู่แล้ว”นพ.โสภณกล่าว
การที่ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 บอกประวัติการเดินทางและกิจกรรมที่ทำตามความเป็นจริง จะทำให้ “ไทม์ไลน์”มีความถูกต้อง การจำกัดวงการแพร่เชื้อจะเร็ว และควบคุมโรคได้ทันก่อนขยายวงกว้างขึ้น
- 1411 views