อย. ลงพื้นที่เยี่ยมวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชา ณ รักจังฟาร์ม อ. วังน้ำเขียว จ. นครราชสีมา เตรียมความพร้อมรองรับการปลดล็อกใบ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก กัญชาออกจากยาเสพติด 

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ส่ง (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ภายในเดือนนี้ เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดย (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญในการปลดล็อกทุกส่วนของต้นกัญชา กัญชง ยกเว้น ช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอกของกัญชาและกัญชง และเมล็ดกัญชา ออกจากยาเสพติดให้โทษ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์กัญชาและกัญชงเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้การปลูกกัญชาขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ปลูกโดยทั่วไป เกษตรกรยังคงต้องรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ โดยสามารถระบุเงื่อนไขการนำส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศฯ ฉบับนี้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ขออนุญาตปลูกกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ (3 ธันวาคม 2563) อย. และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าการปลูกกัญชาโดยวิสาหกิจชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนรักจังฟาร์ม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐพัฒนาโมเดลการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (กรีนเฮาส์) เพื่อส่งผลผลิตไปผลิตเป็นตำรับยากัญชาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้สำรวจพื้นที่ปลูกกัญชาเพื่อเรียนรู้รูปแบบการปลูกตลอดจนเทคนิคการปลูกเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับวิสาหกิจชุมชน รวมถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกัญชาครบวงจร ทั้งการดูต้นกัญชา กัญชงของจริง การฝึกอบรม การให้ความรู้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ อย. ได้หารือกับตัวแทนสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักจังฟาร์มเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและวิสาหกิจชุมชนในประเด็นข้อจำกัดและปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานตามนโยบายกัญชาทางการแพทย์ เพื่อวางแผนและช่วยกันพัฒนาแนวทางส่งเสริมนโยบายขับเคลื่อนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการปลดล็อกส่วนของกัญชาตามประกาศฯ ที่จะมีผลใช้บังคับในเร็ว ๆ นี้ โดยหวังให้การเยี่ยมชมในครั้งนี้จะสามารถนำไปต่อยอดขยายผลไปยังวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาทางการแพทย์ ให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าต่อพี่น้องเกษตรกร นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของประชาชน และสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ในกลุ่มผู้ปลูกและผู้ประกอบการในอนาคตต่อไป 

สำหรับทิศทางในปี 2564 ที่กำลังจะถึง คาดว่าจะได้เห็นภาพของพัฒนาผลิตภัณฑ์และงานบริการเพื่อสุขภาพที่มีการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาและกัญชงอย่างถูกต้อง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในฐานราก และการพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา กัญชงได้อย่างยั่งยืน รองเลขาธิการฯ กล่าว