ความคืบหน้านโยบายนำ "กัญชา" กลับไปเป็นยาเสพติด ล่าสุด เว็บไซต์ LAW ระบบกลางทางกฎหมาย ได้เผยแพร่ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ... นำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นประเด็นการนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด ระหว่างวันที่ 11-25 มิ.ย. 2567
สำหรับรายละเอียดของร่างประกาศดังกล่าว พบว่า มีการกำหนดกัญชา กัญชง พืชฝิ่น เห็ดขี้ความหรือพืชเห็ดขี้ควาย ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยในส่วนของกัญชา กำหนดรายละเอียดไว้ว่า
กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
(ค) สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
(ง) เมล็ดกัญชา
กัญชง (hemp) พืชซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
(ค) สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
(ง) เมล็ดกัญชง
นอกจากนี้ ยังระบุถึงกรณีที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์นั้น ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
สำหรับก่อนหน้านี้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2565 ซึ่งกำหนดชื่อยาเสพติดมีเพียง พืชฝิ่น เห็ดขี้ควาย และ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ในสกุล Cannabis ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูก ภายในประเทศ และสารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ
- 1563 views