พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองล่วงหน้า ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท แอสตราเซนเนก้า ตั้งเป้าคาดว่ามอบวัคซีนชุดแรกกลางปีหน้า 26 ล้านโดส ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้ผลิตวัคซีนรายเดียวสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีการลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองล่วงหน้า และสัญญาการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด จำนวน 26 ล้านโด๊ส ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า

โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย มร. เจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตราเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และมร. เอเดรียน เค็มพ์ เลขานุการบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า สหราชอาณาจักร จำกัด โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ร่วมเป็นสักขีพยาน และมร. อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และ มร. นิโคลัส วีคส์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรสวีเดน พร้อมด้วยนายพิษณุ สุวรรณชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ร่วมเป็นเกียรติในพิธี

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 และได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างมากเช่นกัน ดังนั้นการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นทางออกที่ยั่งยืนในการต่อสู้กับปัญหาการแพร่ระบาดครั้งนี้ การที่รัฐบาลไทยสามารถจัดหาวัคซีนที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดและแอสตราเซนเนก้า โดยการจองซื้อล่วงหน้าจำนวน 26 ล้านโด๊ส ทำให้มั่นใจได้ว่าคนไทยจะสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนติดตามความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนในประเทศของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับความสำเร็จการพัฒนาวัคซีนของประเทศต่าง ๆ รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการประสานความร่วมมือ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด

 

“นับเป็นโอกาสที่สำคัญในการแสดงให้นานาชาติได้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมด้านการผลิตชีวเภสัชของประเทศไทย รวมทั้งบทบาทของไทยในฐานะผู้ผลิตวัคซีนที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้บรรลุข้อตกลงการจัดหาวัคซีน ซึ่งพัฒนาขึ้น      โดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ร่วมกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า โดยมอบให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายเดียวสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าส่งมอบวัคซีนชุดแรกได้ภายในกลางปี 2564 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกัน

 

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนโดยการจองล่วงหน้ากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ในวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท รวมทั้งอนุมัติงบประมาณ 2,379.43 ล้านบาท เพื่อจัดหาวัคซีนล่วงหน้าสำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 13 ล้านคน เพื่อลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต ค่าใช้จ่ายในการรักษา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งยังเป็นการสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมยาชีววัตถุในประเทศจากการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้สามารถผลิตวัคซีนโควิด 19  

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ประกาศผลการวิจัยวัคซีนเบื้องต้นว่า     มีประสิทธิผลสูงในการป้องกันโควิด 19 และมีความปลอดภัยสูง สามารถป้องกันกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนจากการติดเชื้อ ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าวัคซีนวิจัย AZD1222 มีประสิทธิผลเฉลี่ย 70% และอาจแสดงประสิทธิผลได้ถึง 90% โดยขึ้นอยู่กับขนาดของโดสที่ให้ พร้อมกันนี้ ยังพบว่ามีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ในกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนและไม่พบเหตุไม่พึงประสงค์ด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรง อีกทั้งยังสามารถจัดเก็บวัคซีนนี้ได้ที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส จึงใช้งานง่ายและเหมาะสมกับระบบสุขภาพของประเทศไทย

มร. เจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะทำงานร่วมกับ สยามไบโอไซเอนซ์ ในการขยายกำลังการผลิตวัคซีน AZD1222 ในระดับโลก โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และสามารถดำเนินการได้ตามแผนการที่วางไว้ ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข และ แอสตร้าเซนเนก้า ได้ประสานความร่วมมือกันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการขออนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุดภายใต้กฎข้อบังคับด้านสาธารณสุขของประเทศไทย

“แอสตร้าเซนเนก้ามีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมสนับสนุนกลยุทธ์การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของรัฐบาล ด้วยการจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด 19 AZD1222 พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจะผลิตในประเทศไทย พร้อมกันนี้ขอขอบคุณสำหรับการแนะนำและแนวทางของรัฐบาล ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะเป็นทางออกของปัญหาการแพร่ระบาด นำมาซึ่งสุขภาพที่ดีและความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไป” มร. เจมส์กล่าว