ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ไขข้อสงสัยว่าด้วยเรื่องกัญชา 6 ต้นผ่านมา 1 ปีถึงไหน ปชช.ปลูกได้หรือยัง

 

การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องกัญชา 6 ต้น/ครอบครัวนั้น มีเสียงวิพากษ์ของคนในสังคมว่าแม้จะผ่านมา 1 ปีแล้วประชาชนก็ยังไม่สามารถปลูกได้ 

 

นพ กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ได้ออกมาชี้แจงถึงการดำเนินงานกัญชาเฟส 2 ว่า "ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการต่อยอดให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ หลังจากที่ปีแรกได้เร่งดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชาที่มีคุณภาพในสถานพยาบาลใกล้บ้านแล้ว ปีที่สองจะเร่งเครื่องเต็มที่ในการพัฒนากัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 ยังไม่ได้กำหนดให้ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาและใช้เพื่อรักษาตนเองได้ ซึ่งในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ได้เร่งแก้ไขและทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสียในการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติด

ในขณะเดียวกันสถาบันกัญบาทางการแพทย์ ก็จะดำเนินงานในลักษณะ Model Development (Sandbox) กล่าวคือ ได้ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลคูเมือง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนมาลัย ร่วมกับส่วนราชการ ผู้นำชุมชน อสม ประชาชนในพื้นที่ ได้ประชุมและกำหนดแนวทางข้อตกลงร่วมกัน โดยให้ชาวบ้านปลูกครัวเรือนละ 6 ต้น จำนวน 10 ครัวเรือนในนามวิสาหกิจชุมชน 

 

โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและถูกกฏหมายจากโรงพยาบาลคูเมือง เมื่อปลูกได้ผลผลิตก็ส่งให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ได้แปรรูปเป็นยารูปแบบง่ายๆ และจ่ายให้ผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนมาลัย  และยังมีช่องทางที่ต้องการรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสูงก็สามารถส่งวัตถุดิบให้โรงพยาบาลคูเมืองซึ่งผ่านมาตรฐาน GMP  ในการดำเนินการนี้จะมีการจัดทำธรรมนูญหมู่บ้าน ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชนให้นำกัญชามาใช้เพื่อสุขภาพอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ มีระบบที่ชุมชนจัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการนำไปใช้ที่ผิด  และทำคู่มือการปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูปขั้นต้นให้ชาวบ้าน จัดทำคู่มือการผลิตและอบรมให้กับโรงพยาบาลที่จะเป็นสถานที่ผลิต 

 

รวมถึงจะมีการเก็บข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีข้อมูลมาผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการ เราจะประเมินผลการดำเนินโครงการภายใน 6 เดือน โดยประเมินผลทั้งทางคุณภาพและมูลค่าที่เป็นตัวเงิน มีการวิเคราะห์ปัจจัยและข้อจำกัดที่มีผลต่อการดำเนินโครงการ และนำเสนอต่อท่านรองนายกและรัฐมนตรีว่าการและปลัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

 

ผู้อำนวยการสถาบันการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ยังได้กล่าวต่อว่า ในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้พยายามเร่งปรับปรุงกฏระเบียบที่เป็นข้อจำกัดของการดำเนินงานขับเคลื่อนกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งเราให้คำจำกัดของเศรษฐกิจในสองด้าน คือ ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และสร้างรายได้ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและประเทศ ในส่วนของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะเร่งดำเนินการในสองประเด็นคือ การทำให้มียากัญชากระจายให้กับสถานพยาบาลเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา รวมทั้งจัดหาตำรับยากัญชาที่มีส่วนประกอบไม่ซับซ้อนมาให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้ผลิต เพื่อลดต้นทุนของยาและจัดทำแนวทางการผลิตที่ดีในการผลิตยากัญชาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ  

 

ในขณะเดียวกันสถาบันก็วางแผนเตรียมการเรื่อง ธนาคารเมล็ดพันธุ์กัญชา-กัญชง ที่มีคุณภาพและหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อรองรับเพื่อรองรับความต้องการประชาชน วิสาหกิจชุมชน เพราะปัจจุบันมีงานวิจัยมากแล้วว่ากัญชาแต่ละสายพันธุ์จะใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง ผู้ป่วยจะได้มีกัญชาที่ตรงกับโรคไว้ใช้