สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยกับแนวทางดำเนินชีวิตอย่างไรให้เดินต่อแม้ต้องสูญเสียคนใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตาย ผ่านกลุ่มจิตบำบัด “ปราการโมเดล”
เมื่อเวลา 13.30 น. เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ไลฟ์สด “วันผู้สูญเสียคนใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตาย” โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งประสบการณ์จากผู้สูญเสีย และทางออกพร้อมคำแนะนำจากจิตแพทย์ โดย นพ.ปราการ ถมยางกูร กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้เชิญ “ครูกุ๊ก” จากจ.สุราษฎร์ธานี มาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ เพื่อให้หลุดออกจากความทุกข์ หายจากอาการซึมเศร้าซึ่งเราบำบัดรักษาได้ โดยครูกุ๊ก เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วม กลุ่มจิตบำบัด PRAKARN โมเดล สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากญาติ (คนใกล้ชิด) เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สสส. และโรงพยาบาลราชวิถี อย่างไรก็ตาม สามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตต่างๆได้ทางสายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323
(ข่าวเกี่ยวข้อง :ร่วมรับฟังทางออก “ชีวิต” ต้องดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อคนใกล้ชิดต้องลาจาก…)
“ครูกุ๊ก” ผู้ผ่านประสบการณ์สูญเสีย และได้ร่วมกับกลุ่มจิตบำบัด PRAKARN โมเดล โดยเล่าว่า การเข้าร่วมเป็นลักษณะการพูดคุย ไม่ใช้ยาบำบัด และกลุ่มนี้ดีมากตรงไม่มีการตัดสินเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีที่ยืน มีคำพูดหนึ่งว่า คนรู้น้อยจะตัดสิน คนที่รู้เยอะจะเข้าใจ ในการร่วมกลุ่มนี้คือสัมผัสได้เลยว่า เขาเข้าใจเรา อย่างไรก็ตาม ตอนแรกที่เข้าร่วมยอมรับว่า หนีเลย ไปครั้งแรกไม่เข้า เพราะด่านแรกเหมือนการที่เราไปแล้วเราไปถ่ายทอดความรู้สึก มันทำให้เราเจ็บ เราไม่อยากไป และเวลาเราออกจากนอกบ้านทำให้เป็นเรื่องแปลกใหม่ การที่เราออกจากบ้านและมาร่วมโครงการ ซึ่งเมื่อได้รับรู้เพื่อนร่วมทีม ทำให้รู้สึกว่ายังมีคนอื่นเจอหนักกว่าเราอีก คือ ตอนนั้นแค่รู้สึกว่า พวกพี่ๆเขาเจอมาหนักกว่าเรา เราไม่อยากเอาความรู้สึกเราไปให้เขาอีก แค่รู้สึกว่า ไปรักษาตัวเอง ไม่อยากไป และไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งทำให้คนอื่นเศร้า เพราะเวลาเราไปฟังเรื่องของเขา เราก็เศร้าไปด้วย
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay
“แต่ก็มาคิดว่า หากไม่อยากอยู่ในสภาวะแบบนี้ก็ควรกลับไปร่วมโครงการ จึงกลับไปอีกครั้ง ซึ่งถือว่าตัดสินใจถูกมาก เพราะมีคนนำทาง โดยหนึ่งในกิจกรรมของปราการโมเดล ที่ประทับใจและสะท้อนได้ตรง คือ มีอยู่วันหนึ่งในการทำกิจกรรม ด้วยการจุดเทียนไข คุณหมอถามว่า คุณเห็นอะไรในแสงเทียน วันนั้นมีมุมมองว่า เห็นน้ำตาเทียนกำลังทำร้ายตัวมันเองอยู่และไหลออกไป โดยไม่รู้จะไหลไปไหน เป็นธรรมชาติ หลังจากนั้นคุณหมอก็มีกิจกรรม และทำให้เรามีมุมมองใหม่ในการเห็นไฟจากเทียนไข ซึ่งครั้งนั้นเราตอบว่า เห็นแสงไฟ เห็นสีสันของเปลวเทียน อันนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเดียวที่ได้ทำ ซึ่งมุมมองจะเปลี่ยนไป จึงอยากแนะนำหลายๆท่านที่ไม่ทราบว่า ทางออกจากโรคซึมเศร้าคืออะไร อันนี้คือ หนึ่งในนั้นที่จะช่วยได้” ครูกุ๊ก กล่าว และว่า ขอย้ำว่า โรคซึมเศร้า บำบัดรักษาได้ ก็เหมือนโรคโควิด เป็นแล้วก็รักษาได้
ทั้งนี้ ครูกุ๊ก ยังแนะนำว่า ทุกครั้งที่จมกับความคิดเศร้าๆ ต้องดึงสติ และมาอยู่กับตัวเองด้วยการบีบแขนตัวเอง หรือสะบัดมือให้ออกจากความคิดนั้น แต่ตอนที่เป็นหนักๆ สะบัดมืออาจไม่เพียงพอ แค่สะกิดนิ้ว หรือขยับนิ้วนิดหน่อยก็ถือว่าดีแล้ว แต่ทางที่ดีที่สุดขอให้เข้าสู่การบำบัดรักษาจะดีกว่า
ทั้งนี้ ติดตามเนื้อหาอย่างละเอียด และวิทยากรมาให้ความรู้เพิ่มเติมได้จากเฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
- 385 views