นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ เผยงานวิจัย! ภาวะวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า กระตุ้นหืดกำเริบ! ส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เกิดการอักเสบของหลอดลม ทำให้เกิดโรคหืดได้ แนะปรับไลฟ์สไตล์ ลดเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกกินอาหารสุขภาพ ช่วยควบคุมโรค
สถานการณ์โรคหืดในปัจจุบัน อุบัติการณ์ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่กลับพบว่า กลุ่มโรคหืดรุนแรงมีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังสัมพันธ์กับภาวะทางจิตใจหรือ "โรคซึมเศร้า" ร่วมด้วย
พบผู้ป่วยกลุ่มโรคหืดรุนแรงเพิ่มขึ้น ควบคุมอาการได้ยาก
ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ว่า ผู้ป่วยโรคหืดจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคหืดไม่รุนแรงและกลุ่มโรคหืดรุนแรง โดยสถานการณ์โรคหืด 5 ปีย้อนหลัง อุบัติการณ์ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดกว่า 4,000 คนต่อปี แม้ว่าตัวเลขของผู้ป่วยจะเริ่มนิ่งแล้ว กลุ่มโรคหืดรุนแรงเพิ่มขึ้น การควบคุมโรคเป็นไปได้ยากมากขึ้น ควบคุมอาการได้ยาก แม้จะมียาดี ๆ เพิ่มมากขึ้นก็ตาม
ภาวะโรคร้อน-PM 2.5 กระตุ้นอาการให้กำเริบ
ด้วยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อสุขภาพ กระตุ้นอาการของโรคหืดให้รุนแรงขึ้น ศ.ดร.พญ.อรพรรณ ให้ข้อมูลว่า ภาวะโรคร้อน ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และมลพิษทางอากาศ PM 2.5 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ควบคุมโรคได้ยาก เช่น
- ภาวะโลกร้อน ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้มากขึ้นในชั้นบรรยากาศ มีผลต่อสารก่อภูมิแพ้ทั้งนอกบ้านและภายในบ้าน เช่น ละอองเกสร ไรฝุ่น เชื้อรา จากเดิมที่เกิดเป็นช่วง ๆ ตามฤดูกาล แต่เมื่อเกิดฝนตก น้ำท่วม ความร้อน จากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ผู้ป่วยด้วยโรคหืดและภูมิแพ้ มีอาการกำเริบได้
- มลพิษทางอากาศ ไม่เพียงแต่ PM 2.5 ยังมีมลพิษอื่น ๆ ที่ส่งผลกับสุขภาพ เช่น ฝุ่น PM 10 หรือฝุ่นหยาบ และความเข้มข้นสูงของไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน มลพิษเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ
นอกจากนี้ การใช้ชีวิตในแต่ละวัน ความเครียด อาหาร และกิจกรรมทางกายที่น้อยลง ล้วนส่งผลต่อโรคหืดและภูมิแพ้เช่นกัน
ภาวะโรคร่วมกับโรคหืด
ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวด้วยว่า โรคหืดจะพบภาวะโรคร่วมได้หลายชนิด เช่น ไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้ ภูมิแพ้จมูกอักเสบ ริดสีดวงจมูกนอนกรน รวมไปถึงโรคกรดไหลย้อน ที่มีความสัมพันธ์กับโรคหืดเช่นกัน เพราะเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ควบคุมระบบทางเดินอาหาร จึงพบโรคกรดไหลย้อนในผู้ป่วยโรคหืดได้ด้วย
"นอกจากภาวะโรคร่วมด้านร่างกายแล้ว โรคที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจก็ส่งผลเช่นกัน สำหรับภาวะทางจิตใจและอารมณ์ที่มีผลต่อหอบหืด ภูมิแพ้ มีงานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า สัมพันธ์กับหลายโรค เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะเครียด และภาวะซึมเศร้า งานวิจัยในผู้ป่วยโรคหืดพบว่า โรคหืดทั่วไปมักจะมีการป่วยซึมเศร้า 10-15% แต่กลุ่มผู้ป่วยโรคหอบหืดชนิดรุนแรง จะพบภาวะซึมเศร้ามากถึง 30%"
ศ.พญ.อรพรรณ เพิ่มเติมว่า การศึกษาวิจัยจากต่างประเทศ เปรียบเทียบผู้ที่เป็นโรคหอบหืด และผู้ที่ไม่เป็นโรคหอบหืด สอบถามว่า มีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ พบว่า ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดมีภาวะซึมเศร้า มากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคหอบหืด ประมาณ 3-5 เท่า
อาการของโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กับโรคหืดได้ใน 2 กรณี
- ผู้ป่วยโรคหืด แล้วพบโรคซึมเศร้าร่วมด้วย เมื่ออาการหอบหืดกำเริบ ทำให้แน่นหน้าอก ไอเป็นชุด เหนื่อยง่าย ทำงานไม่ได้ กินไม่ได้ นอนไม่ได้ ขาดออกซิเจนตอนนอน เกิดการอักเสบในร่างกาย ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้า
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เกิดการอักเสบในร่างกายเรื้อรัง จากฮอร์โมนที่มีผลต่อการอักเสบของหลอดลม ทำให้เกิดโรคหืด
"ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าและเป็นโรคหืด จะรักษายากกว่ากลุ่มที่ไม่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะโรคซึมเศร้าส่งผลต่อผู้ป่วยให้รู้สึกเบื่อ ไม่อยากใช้ยา จึงทำให้คนกลุ่มนี้เป็นโรคหืดชนิดรุนแรง มีการศึกษาพบว่า กลุ่มโรคหืดรุนแรง ต้องตรวจวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าทุกราย เพราะกลุ่มนี้มักจะมีโรคนี้ซ่อนอยู่ แต่หากรักษาภาวะซึมเศร้าได้ดี โรคหืดจะดีขึ้นตามไปด้วย สามารถลดยาได้" นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าว
ศ.พญ.อรพรรณ เพิ่มเติมว่า โรคซึมเศร้า ลำดับแรกต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร อาจพบว่าซึมเศร้าจากการมีโรคอื่นอยู่ หรือเป็นโรคซึมเศร้าจากภาวะจิตใจอย่างเดียว เพราะว่า ในภาวะที่เป็นโรคอื่นอยู่ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าไดั เช่น บางรายเกิดจากโรคภูมิแพ้จมูก ทำให้มีภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง นอนไม่ได้ หายใจไม่เต็มอิ่ม เหมือนขาดออกซิเจน อย่างไรก็ตาม หากพบว่า มีภาวะซึมเศร้า จึงควรตรวจคัดกรองโรคทางร่างกายร่วมด้วย เมื่อไม่มีอาการของโรคอื่นทางร่างกาย จึงเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ ดูแลสภาพจิตใจเพียงอย่างเดียว
โรคแพนิค โรคทางใจอาการคล้ายโรคหืด
ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวอีกว่า ในผู้ที่เป็นโรคหืด เมื่อหอบกำเริบจะกระตุ้นให้โรคแพนิค (Panic Disorder) เป็นมากขึ้น เพราะอาการหอบหืดจะแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย หายใจไม่ทัน ไอเป็นชุด ๆ อีกทั้งผู้ป่วยโรคหืดและผู้ป่วยโรคแพนิค อาการใกล้เคียงกันมาก จึงต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด หากพบว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นโรคหอบกำเริบ ต้องพ่นยาขยายหลอดลม
"ผู้ป่วยที่มีภาวะทางจิตใจ หรือมีความเครียด โรคจะควบคุมได้ยาก ต้องช่วยดูแลเรื่องสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย"
ศ.พญ.อรพรรณ ทิ้งท้ายว่า ภาวะทางร่างกายส่งผลกระทบต่อจิตใจ หากมีอาการเจ็บป่วยจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิต พักผ่อนให้เพียงพอ หาวิธีผ่อนคลายลดความเครียดในแต่ละวัน เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้ได้ 6-8 แก้วต่อวัน หมั่นออกกำลังกาย แม้ว่าจะมีอาการโรคหืด ก็ยังสามารถเลือกวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมได้
- 183 views