เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต จี้ สปสช.เร่งจัดให้มีหน่วยฟอกไตเทียมที่ให้บริการแก่ผู้ป่วยไตที่ติดเชื้อเอชไอวี อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เรื่อง ขอให้มีมาตรการส่งเสริมให้หน่วยไตเทียมจัดบริการได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และหาแนวทางชดเชยค่าบริการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียมที่เหมาะสมให้กับหน่วยบริการ
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของ สปสช. มีผู้ป่วยไตวายที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 355 คน แบ่งเป็นบำบัดทดแทนไตทางช่องท้อง (CAPD) 306 คน บำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียม 45 คน และผ่าตัดปลูกถ่ายไต 4 คน ซึ่งในส่วนของผู้ป่วยไตวายที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียมนั้น พบว่าประสบปัญหาถูกปฏิเสธการบริการเนื่องจากมีเชื้อเอชไอวี ทำให้ปัจจุบันมีหน่วยบริการเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่ให้บริการฟอกไตแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ และใน 5 แห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลเอกชนไป 4 แห่ง มีเพียงหน่วยงานของรัฐคือสถาบันบําราศนราดูรเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการ
ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต จึงเสนอให้ สปสช. ประสานงานกับกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีหน่วยไตเทียมที่ให้บริการโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย อย่างน้อยควรมีหน่วยบริการที่มีความพร้อมจังหวัดละ 1 แห่งและในระยะยาวควรส่งเสริมให้หน่วยบริการทุกแห่งสามารถให้บริการได้
"หน่วยไตเทียมในระดับจังหวัดมีอยู่แล้วเพียงแต่ปฏิเสธไม่ฟอกให้ผู้ติดเชื้อ จะทำอย่างไรให้หน่วยที่มีอยู่แล้วสามารถให้บริการได้ในกรณีที่มีผู้ติดเชื้อไปรับบริการ ซึ่งถ้าพูดถึงมาตรฐาน แต่ละหน่วยบริการจะมี standard precaution (การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ) ในเรื่องนี้อยู่แล้วว่าผู้ป่วยที่ฟอกไตด้วยเครื่องต้องติดไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี รวมถึงเชื้อไวรัสเอชไอวีจากกระบวนการฟอกไต แต่พอเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ ก็เป็นปัญหาว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคหรือเป็นที่ความรู้สึกของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ทั้งหมด ดังนั้นก็ต้องไปดูว่าในเชิงมาตรฐานแล้วอะไรคือช่องว่างในเรื่องนี้ จริงๆ แล้วไวรัสเอชไอวีตายง่ายมาก ไวรัสตับอักเสบตายยาก ดังนั้นในส่วนของไวรัสเอชไอวีไม่ต้องห่วง ยังไงก็ไม่ติด ส่วนใหญ่ทั่วโลกก็รู้ว่าการกินยาต้านไวรัส ไวรัสในเลือดมันไม่มีแล้ว โอกาสที่จะส่งต่อหรือกระจายเชื้อเป็นศูนย์ แต่คำถามคือปัจจุบันมีโรงพยาบาลรัฐแห่งเดียวเดียวที่ให้บริการฟอกไตแก่ผู้ติดเชื้อ โรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ไม่มีให้บริการเลยและยืนยันว่าไม่ฟอกเลือดให้ผู้ติดเชื้อ เคยถามเหตุผลเขาก็บอกว่ามีความเสี่ยง หากผู้ป่วยโรคไตอื่นๆ ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อมาฟอกไตด้วยก็จะเกิดความไม่สบายใจ แปลว่าต้องทำความเข้าใจกับผู้ให้บริการ เพราะพยาบาลหรือแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรงนั้นอาจไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวี การพัฒนาระบบ พัฒนาบุคลากรในเชิงความเข้าใจว่าแบบไหนเสี่ยงแบบไหนไม่เสี่ยงก็จะลดอคติ ลดความหวาดกลัวลง รวมทั้งในเครือข่ายโรคไตก็ต้องมีการทำความเข้าใจเรื่อง standard precaution เรื่องการติดต่อของไวรัสเอชไอวีหรือไวรัสตับอักเสบกับผู้ป่วยไตอื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายด้วย" นายอภิวัฒน์ กล่าว
นายอภิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยความที่ปัจจุบันมีหน่วยบริการฟอกไตสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีน้อย ทำให้ผู้ป่วยประสบความยากลำบากในการรับบริการ ต้องเดินทางไปในหน่วยบริการที่ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาของตัวเอง นอกจากมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว การรับบริการแต่ละครั้งยังถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม 2,500-3,000 บาท ด้วยเหตุผลว่าต้องเปลี่ยนตัวกรองไตเทียมทุกครั้งหลังจากให้บริการ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายต้องรับบริการ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ รวมค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 20,000-24,000 บาท ถือว่าเป็นภาระทางการเงินที่สูงโดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจซบเซาในปัจจุบัน หลายคนต้องกู้ยืมเงินมาจ่ายค่าบริการและไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถจ่ายได้ต่อเนื่องไปตลอดหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่ายมีข้อเสนอว่า สปสช.ควรหาแนวทางชดเชยค่าบริการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียมให้แก่หน่วยบริการที่มีค่าใช้จ่ายและภาระงานที่เพิ่มขึ้นให้เหมาะสม โดยไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้รับบริการ
"เรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องของ สปสช. รวมทั้งกรมบัญชีกลางและสำนักงานประกันสังคม หาแนวทาง กรณีที่บอกว่าต้องซื้อตัวกรองใหม่ทุกครั้ง แบบนี้ก็ควรมีระบบการเงินเข้าไปรองรับ รวมทั้งอาจให้ค่าดำเนินการเพิ่มให้แก่บุคลากร เป้าหมายสำคัญคือหน่วยบริการต้องไม่เก็บเงินค่าบริการ ต้องหยุดปัญหานี้เพราะเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วยโดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ มันต้องปลดล็อกปัญหานี้ออกไป" นายอภิวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ นอกจากข้อเสนอให้จัดให้มีหน่วยบริการอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่งที่สามารถให้บริการฟอกไตแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและจัดระบบด้านการเงินเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการโดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเพิ่มแล้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคไต ยังเสนอให้มีการเปิดช่องทางด่วนรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้ผู้ป่วยที่จ่ายเงินค่าบริการฟอกไต สามารถขอรับเงินคืนได้ เพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบแก่ประชาชน ตลอดจนจัดให้มีมาตรการติดตามกำกับตรวจสอบเพื่อให้หน่วยบริการจัดบริการได้ตามมาตรฐานและไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย และข้อสุดท้ายเสนอให้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มีส่วนดำเนินงานพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยไต
- 607 views