เปิดสาเหตุผู้ป่วยโควิดโรคไตเสียชีวิตเยอะ เผยอาจมาจากการสร้างภูมิคุ้มกันน้อย   ส่วนสงกรานต์ติดเพิ่มแค่ไหน ต้องรอดูอีก 1 สัปดาห์  

 

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อช่วงสงกรานต์เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ต้องรออย่างน้อย 1 สัปดาห์ที่คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิต และเริ่มตรวจมากขึ้นเพราะไปมีความเสี่ยงและมีความกังวล อย่างไรก็ตาม  ส่วนผู้เสียชีวิตขณะนี้สังเกตว่า ผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิตเยอะมาก ซึ่งมีข้อสมมติฐานหนึ่งคือ ผู้ที่จะไปล้างไตต้องฉีดวัคซีนก่อน หากไม่ฉีดก็ต้องตรวจ ATK ว่าไม่ติดเชื้อ ซึ่งกระบวนการอาจยุ่งยาก ทำให้การไปรับบริการล้างไตน้อยลง แล้วทำให้อาการตนเองหนักขึ้นได้ อีกเรื่องคือผู้ป่วยไตแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่อาจสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อย เพราะจากการตรวจสอบกลุ่มผู้เสียชีวิตทั้งที่เป็นโรคไตและไม่เป็นโรคไต พบว่าการฉีดวัคซีนพอๆ กัน คือ ฉีด 30กว่า% และไม่ฉีด 60กว่า% จึงอาจต้องหาแอนติบอดีมาฉีดแทนหากติดเชื้อหรือก่อนติดเชื้อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนัก

 

"ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตระลอกนี้แตกต่างจากระลอกที่แล้ว คือเดลตามาถึงปอดอักเสบค่อนข้างหนักเลย แต่ระลอกนี้ส่วนใหญ่ป่วยจากโรคประจำตัวก่อน และพบการติดเชื้อเริ่มมีปอดอักเสบและเสียชีวิต เลยค่อนข้างเร็ว เพราะไปรักษาโรคอื่น พอรู้ติดเชื้อโรคเก่ายังไม่ทันจะดี ติดเชื้อซ้ำเข้าไปก็อาจทำให้เสียชีวิต เราเจอเหตุการณ์อย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ" นพ.จักรรัฐกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีช่วงสงกรานต์มีตัวเลขการฉีดวัคซีนรายวันน้อยมาก ประมาณ 1-2 หมื่นกว่าโดสต่อวัน ทั้งที่ สธ.รณรงค์ให้ลูกหลานกลับบ้านพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน รพ.สต.ใกล้บ้าน  นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ที่ตัวเลขน้อยเนื่องจากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา รพ.สต.รายงานลงทะเบียนการฉีดวัคซีนเข้าระบบไม่ได้ ตัวเลขฉีดวัคซีนจังไม่เยอะ เพราะตัวเลขมาจาก รพ.เป็นหลัก ถ้า รพ.สต.คีย์ข้อมูลทั้งหมด อาจจะได้จำนวนผู้ฉีดวัคซีนเยอะขึ้น เพราะตอนนี้ระบบยังเข้าไม่ได้ 100% ส่วนกรณีผู้สุงอายุไม่ยอมไปฉีดวัคซีนเพราะเดินทางลำบาก ไม่มีคนพาไปฉีดวัคซีนนั้น ลูกหลานกลับบ้านไปก็พบว่าช่วยให้กลุ่มนี้เข้ามาฉีดวัคซีนมากขึ้น กลุ่มที่ไม่ยอมมาฉีดก็ต้องช่วยกันรณรงค์มากขึ้น ส่วนที่กังวลผลข้างเคียง รพ.สต.ก็พาเข็มไปหาแขน มีการอธิบายก็ได้กลับเข้ามามาพอสมควร ถือว่ากลยุทธ์ รพ.สต.เข้ามาช่วยก็น่าได้ผลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีประชากรสูงวัยหลายส่วนหลายจังหวัด ที่อพยพย้ายถิ่นทำงานหรือตามลูกหลานมาอยู่ กทม.หรือจังหวัดใหญ่ๆ เป็นอีกส่วนที่ทำให้ รพ.สต.ในพื้นที่ไม่ทราบ ต้องให้ รพ.สต.พื้นที่ใหม่ที่ก็ไม่ทราบว่ามาอยู่เช่นกัน ถือเป็นช่องว่างที่ต้องปรับกลยุทธ์ต่อ

 

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ส่วนการสุ่มตรวจดูว่าใครติดเชื้อมากน้อยแค่ไหนในประเทศไทย ปกติจะตรวจจากภูมิคุ้มกัน แต่มีการฉีดวัคซีนด้วย การตรวจภุมิคุ้มกันจึงไม่สามารถบอกได้ แต่มีเทคนิคในการตรวจสอบ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ แต่ข้อมูลยังไม่ออกมาว่าติดไปกี่เปอร์เซ็นต์ เบื้องต้นคร่าวๆ น่าจะติดเชื้อในประเทศไทยแล้ว 10% จากประชากร 60-70 ล้านคน หากรวมคนฉีดวัคซีนไปด้วย นับในกลุ่มฉีดเข็ม 3 เป็นหลัก เหมือนว่าประชากรเรามีภูมิคุ้มกันไม่เยอะมาก อาจจะมีสัก 50% เราต้องการสัก 80% จึงต้องเร่งบูสต์ โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มสูงวัยที่เสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต หน่วยงานต่างๆ ต้องช่วยกัน