รองอธิบดีคร. เผย 5 กลุ่มมากับหน้าหนาว “หวัดใหญ่-ปอดอักเสบ-อุจจาระร่วง-โรคหัด-มือเท้าปาก” เผยหวัดใหญ่ลดกว่าปีก่อน เหตุมีมาตรการป้องกันโควิด ขณะเดียวกันเฝ้าระวังอาการโควิดเพิ่มกลุ่มปอดอักเสบ แต่ไม่พบผู้ป่วยกลุ่มนี้
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2563 นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวโรคที่มากับหน้าหนาว ว่า สำหรับหน้าหนาวนี้ กรมควบคุมโรคมีคำแนะนำ และเตือนการระวังตัวเพื่อดูแลสุขภาพอยู่ 5 โรค ประกอบด้วย 1. โรคไข้หวัดใหญ่ ปีนี้มีการเจ็บป่วยน้อยลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปี25 63 ป่วย 113,000 กว่าราย ส่วนปี2562 ป่วย 396,000 กว่าราย แสดงว่าเป็นผลมาจากของโควิด จากการสวมหน้ากากอนามัย ทำให้โรคลดลงไปถึง 3 เท่า จึงเป็นสิ่งที่ดีในการดูแลสุขภาพ 2.โรคปอดอักเสบ 150,000 ราย เสียชีวิต 100 กว่าราย ถือว่าสูญเสียชีวิตสูง 3.อุจจาระร่วง ทุกปีมีผู้ป่วยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพฤติกรรมกิน โดยปีนี้พบประมาณ 680,000 ราย 4.โรคระบบทางเดินหายใจอีกโรค คือ โรคหัด ป่วย 938 ราย ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และ5.โรคมือเท้าปาก มีผู้ป่วย 15,000 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
นพ.ปรีชา กล่าวว่า สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจ โรคไข้หวัดใหญ่ โดยพบว่ากลุ่มป่วยมากที่สุดคือ เด็กเล็ก ไม่ได้ให้วัคซีน โดยให้วัคซีน 6 เดือนถึง 2 ปี ดังนั้นกลุ่ม 0-4 เดือนไม่ได้รับวัคซีนและป่วยสูงสุด และยังมีกลุ่มอื่นๆ อย่างผู้สูงอายุ สำหรับพื้นที่ที่พบป่วยมากที่สุด คือ ภาคเหนือ เพราะอากาศค่อนเย็น และมีความแออัด อากาศปิด มีการท่องเที่ยวมากพอสมควร และเมื่อเทียบแล้วกับก็จะพบว่า อัตราป่วยลดลงไป 1 ใน 3 แม้จะเป็นเรื่องดี ก็ต้องรักษาความดีในการป้องกันโรค ทั้งสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ ไม่สัมผัสใบหน้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก
นพ.ปรีชา กล่าวอีกว่า โดยโรคไข้หวัดใหญ่ยังดีมีวัคซีน ซึ่งกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มสามารถรับบริการวัคซีนได้ฟรี กลุ่มเสี่ยง คือ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคอ้วนน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ กลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง และกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยสามารถรับบริการของรัฐได้ทุกแห่ง และทางประกันสังคมก็ให้บริการฉีดวัคซีนได้เช่นกันอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนโรคปอดอักเสบนั้น ขณะนี้กำลังกังวลเพราะมีโควิดอยู่ด้วย โดยเรามีกระบวนการเฝ้าระวังผู้ป่วยปอดอักเสบว่า มีโควิดหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีโควิด การติดเชื้อปอดอักเสบก็ลดเช่นกัน โดยลดไปกว่า 1 แสนคน จากปี 2562 พบป่วยกว่า 2 แสนคน
“นอกจากนี้ ยังพบโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็ก คือ โรค RSV ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากไวรัสชนิดหนึ่ง โดยมีความรุนแรงในเฉพาะเด็กเล็ก เพราะการติดเชื้อจะลงไปที่หลอดลม ทำให้หลอดลมฝอยอักเสบ หายใจลำบาก การเอาเสมหะออกยาก ดังนั้น หากเด็กเล็กมีอาการเหล่านี้รีบพาพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้ขับเสมหะอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การรับเชื้อนั้น จะมีระยะฟักตัว 4-6 วัน และจะแพร่ได้อีก 1 สัปดาห์ ปัญหาคือ ปัจจุบันไม่มียา และวัคซีน ดังนั้น การป้องกันสำคัญสุด โดยต้องไม่คลุกคลีกับผู้ที่มีอาการป่วย หลีกเลี่ยงการไปเล่นเป็นกลุ่ม ช่วงนี้ต้องแยกตัว ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีการสุ่มตรวจผู้ป่วยในคลินิกไข้หวัด พบRSV ราว 10-20 % แต่ปี 2563 พบ 50 % แสดงว่าอาจมีการระบาดเกิดขึ้น และเชื้อน่าจะพบในผู้ใหญ่ที่ป่วยไข้หวัดทั่วไป ซึ่งก็ต้องระมัดระวังตัวด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ยังต้องใช้อย่างต่อเนื่อง คือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ก็ยังต้องปฏิบัติ เพราะนอกจากป้องกันโรคเหล่านี้แล้ว ก็ยังช่วยป้องกันโควิดด้วย เพราะสถานการณ์โควิดยังระบาดทั่วโลกอยู่” รองอธิบดี คร. กล่าว
สำหรับโรคอุจจาระร่วงนั้น ก็เป็นได้ทุกอย่าง ทั้งสารเคมี สารพิษ เชื้อไวรัส แบคทีเรีย การป้องกันก็ยังต้องล้างมือให้สะอาด รับประทานอาหารสุก สะอาด ร้อน ไม่เก็บไว้นาน เพราะแบคทีเรียฟักตัวเพิ่มขึ้น เกิดสารพิษ แบคทีเรียเพาะตัวได้นาน นอกจากนี้ โรคหัด แม้มีวัคซีน แต่ก็ยังมีปัญหาการครอบคลุมการฉีดวัคซีนลดต่ำลง จึงรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนหัดมากขึ้น เพื่อให้เด็กไม่ติดตัวโรคหัด ซึ่งโรคนี้ติดง่ายมาก หากอยู่ในห้อง แค่พูดคุยกันก็ติดได้ จึงจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกัน สำหรับอาการจะหนักกรณีกลุ่มขาดสารอาหาร อาจเสียชีวิตได้ จึงต้องมีภาวะโภชนาการที่ดีพอ และได้รับวัคซีนป้องกัน และอีกโรค คือ มือเท้าปากพบป่วยปีละ หมื่นกว่าราย แต่ปีที่ผ่านมาเจอ 6 หมื่นกว่าราย แสดงว่าผลของการป้องกันโควิด ก็ทำให้สถานการณ์ มือ เท้า ปากดี ขึ้น โดยที่เรากังวล คือ เชื้อ EV71 อาจทำให้เสียชีวิต แต่ปีนี้ไม่มี ซึ่งก็ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสังเกต รวมทั้งครูอาจารย์ ต้องล้างมือเด็กหลังเล่นของเล่น หรือสถานที่ต่างๆ ต้องทำความสะอาด และเมื่อเด็กป่วย มีตุ่มขึ้นมือเท้าปาก ต้องให้หยุดเรียน
- 175 views