รมช.สธ.เปิดงาน Update โควิด-19 ระบาดระลอก 2 เกิดแน่แต่ไทยวางระบบสาธารณสุขดี มีความพร้อมบุคลากร เฝ้าระวังตรวจจับเร็ว ด้าน “หมอยง” เผยสิ้นปีผู้ป่วยทั่วโลกอาจถึง 80-100 ล้านคน ชี้โควิด19 จะเป็นเชื้อตามฤดูกาลในที่สุด ย้ำกรณีกลายพันธุ์น้อยกว่าหวัดใหญ่ 10 เท่า
เมื่อเวลา 09.00 น วันที่ 30 ต.ค. ที่โรงพยาบาลราชวิถี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) คนที่ 1 เป็นประธานเปิดงาน Virtual Policy Forum : Updating on Diagnosis, Treatment and Vaccine of COVID-19 ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี สำนักข่าว Hfocus The Reporters และสสส. ว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 นั้น ตนมองว่าการระบาดระลอก 2 ย่อมต้องเกิดขึ้น ทั้งกรณีการเดินทางเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการเดินทางเข้าออกรอบบ้านเราตามช่องทางธรรมชาติ เพราะช่องทางธรรมชาติเรายังไม่สามารถควบคุมได้เต็มระบบ ซึ่งแน่นอนว่าการเข้าออกทางสนามบินมีระบบที่ค่อนข้างมั่นใจ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลใช้เงินไปเกือบ 100 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเราก็มีการสร้างงานโดยการจ้างคน โดยต้องยิงเงินเข้าไปในระบบประมาณ 5 แสนล้านบาท ไม่รวมกับ 4.5 แสนล้านบาทที่อัดเข้าไปในระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม วันนี้อีก 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง โลกเราจะเดินทางไปสู่ความเป็นปกติสุข เนื่องจากจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโคแวกซ์(COVAX) หรือแอสตราเซเนกา
นายสาธิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นอนุมัติงบ 2 แสนล้านบาท เพื่อฉีดวัคซีนให้กับทุกคน ส่วนไทยรัฐบาลจะเตรียมเงิน 2 หมื่นล้านบาท หากเราได้รับวัคซีนแล้ว โดยเราจะได้ประมาณ 13 ล้านโดสหากผลิตสำเร็จ โดยจะนำมาแบ่งกลุ่มว่า จะแบ่งให้กลุ่มไหนอย่างไร ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดสถานการณ์โควิด และไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริหาร หรือคณะรัฐมนตรีก่อนเลย ซึ่งเคยมีคนบอกควรให้ผู้บริหารในการดำเนินการแก้โควิด แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่าง และเตรียมรองรับระลอก 2 ที่จะเกิดขึ้นโดยปัจจุบันในกทม. ทางการแพทย์รับได้ประมาณ 200 เตียงต่อวัน ซึ่งก็ถือว่ามั่นใจได้ในทางการแพทย์ ขณะที่กรมควบคุมโรคก็มีการอบรมผู้ที่จะมาสอบสวนโรคเพิ่มเติม แต่สิ่งสำคัญอย่าเสพติดกับตัวเลขผู้ป่วยเป็นศูนย์ราย แต่เราต้องเน้นการสอบสวนโรคให้เร็ว ควบคุมโรคได้ และต้องไม่ปกปิดข้อมูล
ต่อมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อภิปรายหัวหน้า Updating COVID-19 ว่า ปัจจุบันเชื้อไวรัสโคโรนาตามฤดูกลางมี 4 ตัว และโควิด-19 ตัวนี้ในอนาคตจะเป็นตัวที่ 5 ซึ่งจะกลายเป็นเชื้อตามฤดูกาลนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีข้อมูลว่า กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 30 ปี อัตราตายน้อยมาก ขณะที่ผู้สูงอายุจะมีอาการและความรุนแรงมากกว่า โดยหากเราปล่อยไปเรื่อยๆ เด็กรุ่นใหม่ที่ต่ำกว่า 30 ปีกลุ่มนี้จะหมดไปเอง เพราะโดยธรรมชาติก็จะไล่ขึ้นไปเอง
สำหรับการติดเชื้อส่วนใหญ่80% แทบไม่มีอาการ มีอาการ 20% และจะรุนแรงถึงต้องอยู่ไอซียูประมาณ 3% จริงๆ โรคนี้เมื่อเทียบกับอีโบลานั้น ยังมีความรุนแรงไม่เท่าอีโบลา จึงพบเกิดการระบาดทั่วโลกได้ง่าย เพราะอีโบลาเป็นแล้วน็อกเลย สำหรับอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ เมื่อเทียบกับโรคซาร์ส กับเมอร์สนั้น พบว่า โควิดน้อยกว่ามาก โดยโรคนี้อัตราเสียชีวิตจะสูงขึ้นตามอายุ โดยอายุ 50 ปีขึ้นไปจะพบอัตราเสียชีวิตขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ส่วนการประเมินสถานการณ์การระบาดของทั่วโลก คาดการณ์ว่า สิ้นปีนี้อาจถึง 80-100 ล้านคน
“สำหรับพม่า จุดที่น่ากลัวคือ การเข้าออก เพราะอย่างถ้าเข้าออกตามกฎเกณฑ์ไม่น่ากลัวเลย แต่ที่กลัวคือ จะปีนรั้วเข้ามา โดยไม่ได้เข้าออกตามประตู และจังหวัดที่น่ากลัวคือ ทางระนอง อย่างอีก 1-2 เดือนมรสุมหมด จะมีผู้อพยพทางทะเลที่จะไปต่อมาเลเซีย จุดพวกนี้ที่ลักลอบเข้ามาน่ากลัวกว่า ซึ่งของพม่าตายไปกว่า 1 พันคนแล้ว อย่างไรก็ตาม ไทยถือว่ารับมือได้ดี อย่างสูงสุดผุ้ป่วย 188 คน ยกตัวอย่าง หากจังหวัดมี 1 ล้านคน มีผู้ป่วยวันละ 5 คน ประเทศไทยรับได้ เพราะเรารู้ว่า ผู้ป่วยจริงๆ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีส่วนน้อยที่มีอาการมากจนต้องเข้าไอซียู” ศ.นพ.ยง กล่าว และว่า ที่น่ากังวลว่า ปัจจุบันคนกลับสแกนไทยชนะน้อยลง ซึ่งจริงๆควรทำอย่างสม่ำเสมอ
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า สำหรับรหัสพันธุกรรมของไวรัสตัวนี้มีการถอดไปแล้วมากกว่า 1 แสนตัว โดยมีของประเทศไทยประมาณ 400 ตัว โดยสายพันธุ์แอลโตในยุโรป และแตกออกลูกหลานเป็นสายพันธุ์อี และสายพันธุ์จี แต่สายพันธุ์จี มากสุด และแตกลูกหลานเป็นจีอาร์ กับจีเอส อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ต้นตอ สายพันธุ์เอส และแอลเริ่มหมดไป อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค จึงไม่ได้มีผลต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับอัตราการกลายพันธุ์ของไวรัสตัวนี้น้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ 10 เท่า ซึ่งไข้หวัดใหญ่เมื่อมีการกลายพันธุ์ จึงต้องฉีดวัคซีนทุกปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การรับมือของไทยถือว่าดี อัตราตายคงที่ 59 ราย ซึ่งเชื่อว่าคนเสียชีวิตจากโควิดยังน้อยกว่าอัตราการฆ่าตัวตายในปีนี้
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ผอ.สถาบันวัคซีนฯ เผยทั่วโลกพรีออเดอร์จองวัคซีนโควิด 4.6 พันล้านโดส )
- 6 views