รองนายกฯ-รมว.สธ.นำผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม และสธ. ปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดรูปแบบโรงเรือนและกลางแจ้ง อ.หนองใหญ่ ชลบุรี ชูเดินหน้านโยบายกัญชา พร้อมดันกฎกระทรวงกัญชง ใช้ปี 63

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 ต.ค. 2563  ที่องค์การเภสัชกรรม อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี นายอนุทิน   ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse)” โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ร่วมในพิธี

นายอนุทิน กล่าวว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์ ถือเป็นนโยบายของพรรค และเป็นคำสัญญาที่มีให้กับพี่น้องประชาชนแต่ แต่สิ่งสำคัญในเรื่องการปลูกกัญชานั้นจะมุ่งไปยังยารักษาโรค นอกจากนี้สารสกัดจากกัญชายังนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ แต่ไม่ได้เอาไปใช้ทางด้านสารเสพติด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเรามักคิดว่ากัญชาไม่ดี แต่จริงๆมีข้อดีด้วย 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ขณะนี้อยู่ในชั้นกฤษฎีกา พิจารณาก่อนเข้าสภา และอีกไม่กี่สัปดาห์ สธ.จะออกกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากกัญชง เนื่องจากกัญชงไม่ได้ถูกจัดเป็นยาเสพติดจึงความเข้าถึงในการใช้ประโยชน์เร็วกว่า จึงปลดล็อกเร็วกว่า เน้นปลูกนำสารสกัดไปใช้ประโยชน์ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชน วิสาหกิจชุมชนดำเนินการในลักษะของคอนแท็กฟาร์มมิ่ง ที่จะสามารถปลูกและอยู่ภายใต้การควบคุมตามระเบียบของสธ.

"กัญชาหรือกัญชงไม่มีความแตกต่าง เพราะสิ่งที่เป็นประโยชน์คือการเอาสารสกัดสำคัญทั้ง CBD และ THC ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหน ผู้ผลิตก็สามารถมีวิธีการผสมผสานการใช้ประโยชน์จากสารสำคัญ ซึ่งหลังจากมอบนโยบายเรื่องนี้ไป 1 ปีกว่า ถือว่ามีความก้าวหน้ามาก เห็นจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ ที่จะปลดล็อกกัญชามากขึ้น ซึ่งผ่านครม.แล้ว แปลว่าได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภา จึงมั่นใจว่ากฎหมายนี้จะผ่านการพิจารณาในสภา ระหว่างนี้ถ้ามีใครแอบอ้างขายกัญชา แค่ชื่อก็ไม่ได้แล้ว เพราะผิดกฎหมาย อย่าเชื่อคำแอบอ้าง" นายอนุทิน กล่าว 

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม กล่าวว่า ขณะนี้กฎกระทรวงเรื่องกัญชง จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีการอบสุดท้ายไม่เกินเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งหากส่งกลับมายัง อย.ก็จะเสนอรองนายกฯ ลงนามทันที คาดว่าจะสามารถใช้ได้ภายในปี 2563 แน่นอน ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้จะให้ประโยชน์กับทั้งเกษตรกรและประชาชนทั้งในเชิงการใช้สารสกัดที่กัญชงจะมีCBD สูงTHC ต่ำ สามารถนำมาผลิตเป็นยา เครื่องสำอาง นอกจากนี้ เส้นใยยังสามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงเมล็ดกัญชงซึ่งจะมีน้ำมันจากเมล็ดสามารถนำไปผลิตเป็นยา อาหาร และเคนื่องสำอางได้เช่นกัน แต่การดำเนินการทั้งหมดต้องผ้านการอนุญาตตามกฎระเบียบ

 

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำร่องกับวิสาหกิจชุมชนใน 3 จังหวัดคือ บุรีรัมย์ ลำปาง และนครราชสีมา โดยเบื้องต้นเป็นการมอบสายพันธุ์กัญชาที่องค์การเภสัชกรรมให้ไปปลูกเพื่อให้ได้ช่อดอกที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอภ นำมาผลิตสารสกัดกัญชาที่มีคุณภาพต่อไป อย่างไรก็ตาม  สำหรับแผนงานปี 2564 จะมีการพัฒนาสารสกัดในรูปแบบฟิล์ม แชมพู ซึ่งอยู่ในขั้นการทดลอง ส่วนเดือน ม.ค. 2564 จะผลิดสารสำคัญให้เป็นสารละล่ยน้ำ รวมถึงมีการทำสลีปปิ้งมาส์กด้วย