หมอจุฬาฯ อธิบายเทคนิคตรวจเลือดหาการติดเชื้อโควิด เจอได้แม้ไม่มีอาการ ศึกษาในรพ.จุฬา 98 รายให้ผลดี ย้ำหากลดวันกักตัว นทท. เหลือแค่ 7 วันจริง รายได้เข้าประเทศต้องลงสู่ชุมชนด้วย 

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยข้อมูลว่าอยู่ระหว่างการศึกษาการตรวจหาการการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อนำไปสู่การพิจารณาลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวจาก 14 วันเหลือ 7 วัน ว่า  ที่ผ่านมา ศูนย์โรคอุบัติใหม่สภากาชาดไทย ได้ทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คือ 1.ภูมิคุ้มกัน Igm 2.ภูมิคุ้มกัน Igg และ 3. ภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ 

โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วปริมาณ 0.3-0.5 ซีซี ซึ่งใครก็ตามที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็สามารรถตรวจเจอได้ แต่มีข้อแม้อยู่ว่าหากมีการติดเชื้อใน 4-5 วันอาจจะยังตรวจไม่พบอะไรเลย แต่ถ้าหลังติดเชื้อไปแล้ว 4-5 วัน แม้ไม่มีอาการก็สามารถตรวจเจอ ถ้าผลการตรวจเลือดในช่วงวันที่ 0 และวันที่ 7 หากพบว่าผลเป็นลบเท่าว่าไม่มีการติดเชื้อ แต่ถ้าผลเป็นบวกจะต้องตรวจวิเคราะห์ต่อว่าเป็นเชื้อที่สามารถแพร่โรคต่อได้อีกหรือไม่

 

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้เจาะเลือดในกลุ่มผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 98 ราย ซึ่งเข้าโดยเข้าโรงพยาบาล ด้วยอาการเล็กน้อย ปานกลาง หรือหนัก ซึ่งทำในวันที่มีการตรวจยืนยันแล้วว่าเชื้อสามารถแพร่ได้ หรือทำหลังจากนั้น 1 วัน ผลการตรวจพบว่ามีความไว 100% และมีความจำเพาะต่อเชื้อ 100% และมีการตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อทั้ง 3 ชนิด โดยการเจาะเลือดตรวจเป็นระยะๆ ในวันที่ 3, 5 และ 7 ผลที่ออกมาก็จะพบความเปลี่ยนแปลงของระดับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างตามที่ควรจะเป็น

 

“ตรงนี้ให้ความมั่นใจสูงสุด แต่ถ้าอยากจะทดสอบอีกก็สามารถทำได้ โดยในเดือนต.ค.นี้จะมีนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามา และมีการกักตัว 14 วันเต็ม โดยเก็บตัวอย่างเลือด และแยงจมูก ในวันที่ 0, 7, 14 ถ้าผ่านไปอย่างเรียบร้อย แล้วพบว่าใน 7วันสามารถบอกได้ 100% วันไม่มีการติดเชื้อก็สามารถนำไปสู่การพิจารณาลดวันกักตัวเหลือ 7 วันได้ โดยตรวจเลือดแค่วันที่ 0 และ 7 ดังนั้นในเดือน ธ.ค.นักท่องเที่ยวก็สามารถเข้ามาได้อย่างสบายใจได้โดยที่จะมีระยะเวลาในการกักตัวแค่ 7 วัน ตรวจเชื้อ 2 ครั้ง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า วันนี้มีนักท่องเที่ยวขอเข้ามาในเมืองไทยจำนวนมาก ตอนนี้เราเป็นคนเลือก โดยอาจจะเริ่มที่ประเทศสีเขียว สีเหลือง ส่วนสีแดงอาจจะยังไม่อนุญาต สิ่งที่ทำนี้ทำให้เราได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ พอเข้ามาก็เจาะเลือดในวันที่ศูนย์ แล้วให้ผลเป็นลบ จริงๆ อาจจะมีการติดเชื้อแล้วก็ได้ จึงให้กักตัว 5-7 วันจากนั้นก็เจาะเลือดครั้งที่ 2 ถ้ายังให้ผลเป็นลบตรงนี้ก็จะบอกได้ว่าโอกาสติดเชื้อนับว่าน้อยยิ่งกว่าน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ถ้ายังไม่สบายใจ ในวันที่ 7 ก็สามารถตรวจด้วยการแยงจมูกไปตรวจ RT-PCR ด้วยก็ได้ ส่วนตัวเห็นว่ามีหลายประเทศที่สถานการณ์อยู่ในระดับสีเดียว อาทิ นอร์เวย์ สวีเดน เป็นต้น ส่วนใหญ่เข้ามาแล้วอยู่ไทยระยะยาว อย่างไรก็ตาม ล่าสุดประเทศญี่ปุ่นก็ติดต่อขอเข้ามาเที่ยวไทยจำนวนมาก โดยยอมรับมาตรการทุกอย่างของไทย แต่ขอให้มีการกักตัว 7 วันได้หรือไม่ แต่สถานการณ์ของญี่ปุ่นก็พบผู้ติดเชื้อผลุบๆ โผล่ๆ แต่ก็นับเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ อีกทั้งคนญี่ปุ่นก็ได้รับการตรวจหาเชื้อค่อนข้างบ่อย

การเปิดให้นักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งปัจจุบันสภากาชาดไทย มีความสามารถในการรองรับการเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อได้มาถึงวันละ 5,000 รายต่อวัน และสามารถยกระดับรองรับการตรวจฯ ได้มากถึง 10,000 รายต่อวัน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ครั้งละ 1,000 บาท ตรวจ 2 ครั้ง ก็ 2,000 บาท ทั้งนี้จะมีการตั้งกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ประกอบการ และพื้นที่ ให้รับทราบกระบวนการทุกอย่าง และรู้ว่าเม็ดเงินที่จะเข้ามาในประเทศนั้นไปที่ไหนบ้าง ย้ำว่า รายได้ที่จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ต้องมีสัดส่วน 50 : 50 ต้องตกถึงมือคนในชุมชน ไม่ใช่ว่าเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วมีเพียงนายทุนใหญ่ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ