กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์น้ำท่วม 17 จว. ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 2 หมื่นครัวเรือน พบผู้เสียชีวิต 5 รายจมน้ำจากกระแสน้ำพัดพา
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค และรายงานสถานการณ์สาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในช่วงวันที่ 20 ส.ค.63–ปัจจุบัน พบว่าเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วาตภัย ดินโคลนถล่ม และดินสไลด์ จำนวน 17 จังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ลำปาง แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ปราจีนบุรี และสิงห์บุรี) ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,278 ครัวเรือน โดยจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเนื่องมาจากระแสน้ำพัดพา รวมจำนวน 5 ราย (ในจังหวัดลำปาง 2 ราย จังหวัดน่าน แพร่ และสุโขทัย จังหวัดละ 1 ราย)”
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบเหตุการณ์คนตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตในช่วงน้ำท่วมได้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและอาจการเกิดพายุได้ในระยะนี้ ทำให้มีโอกาสเกิดน้ำท่วมได้ในบางพื้นที่หรือน้ำมีปริมาณมากขึ้นตามแหล่งน้ำต่างๆ โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าสภาพภูมิอากาศและแนวโน้มการเกิดพายุในระยะนี้ ในช่วงวันที่ 5-8 ก.ย. 63 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก อาจได้รับอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งในบางพื้นที่อาจเกิดน้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลัน หรือน้ำป่าไหลหลากได้
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ระมัดระวังการจมน้ำในช่วงน้ำท่วม รวมถึงแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ควรลงไปเล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง น้ำเชี่ยว เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายและเจ็บป่วยจากโรคต่างๆแล้ว ยังเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตอีกด้วย ประชาชนควรสำรวจและเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณบ้าน รอบบ้าน และชุมชน ที่เสี่ยงต่อการพลัดตกและจมน้ำ ไม่ควรดื่มของมึนเมาเพราะอาจทำให้ขาดสติและจมน้ำได้ ส่วนประชาชนที่ประกอบอาชีพทางน้ำ ไม่ควรออกประกอบอาชีพตามลำพัง หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง แกลลอนเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ลูกมะพร้าว เพื่อช่วยในการลอยตัว สำหรับเด็กและประชาชนที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ขณะเกิดเหตุ เช่น โรคอัมพาต โรคลมชัก ความดันโลหิตต่ำ ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรอยู่ตามลำพัง สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
- 9 views