หมอรามาเผยหญิงพบพันธุกรรมโควิด ล่าสุดไม่พบสารพันธุกรรม ไม่ถือเป็นผู้ป่วยแล้ว เบื้องต้น ยืนยันว่ารายนี้ไม่นับว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศไทย
ตามที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวพบคนไทย ติดเชื้อโควิด-19 เป็นหญิงทั้งคู่ โดยรายแรกเป็นหญิงอายุ 34 ปีจ.ชัยภูมิ ตรวจพบซากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ส่วนอีกรายอายุ 35 ปี จ.เลย ต้องขอตรวจเชื้อซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากพบเชื้อไวรัสน้อยนั้น
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เวลา 18.16 น. ที่กรมควบคุมโรค นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี พร้อมด้วย นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.กองระบาดวิทยา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนสิริ รองผอ.รพ.รามาธิบดี พญ.ศศิ เกียรติบูรณกุล ศาสตราจารย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และผู้แทนคณะแพทย์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกันแถลงความคืบหน้ากรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)
นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า กรณีหญิงไทย อายุ 35 ปี เคยทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางกลับมาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 เข้ากักตัวที่สถานกักกันที่ราชการกำหนด 14 วัน ทำการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ จึงเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดเลย จากนั้น วันที่ 16 ส.ค.2563 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยรถยนต์ส่วนตัว เพื่อเตรียมตัวไปทำงาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และในวันที่ 18 ส.ค.2563 เข้ารับการตรวจสุขภาพและหาเชื้อโควิด-19 พบสารพันธุกรรมเชื้อฯ ในปริมาณน้อย จึงได้มีการตรวจแล็บอีก 2 ครั้งในวันที่ 18 ส.ค. และวันที่ 20 ส.ค. ครั้ง ซึ่งผลออกมาไม่พบสารพันธุกรรมแต่อย่างใด ซึ่งตรงกับผลตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นพ.สุรศักดิ์ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเลือดพบว่ามีภูมิคุ้มกัน บ่งชี้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อมาก่อนในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมาตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด ซึ่งการติดเชื้ออาจจะเกิดขึ้นในขณะทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนถึงในจังหวัดเลย ซึ่งรายนี้อยู่ในการดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาล ระหว่างรอผลการตรวจเพาะเชื้อ (Viral culture) เพื่อยืนยันว่าเชื้อไม่สามารถแพร่ได้ ซึ่งจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ให้การรักษาค่อนข้างมั่นใจว่าไม่แพร่เชื้อ
ด้าน พญ.วลัยรัตน์ กล่าวว่า จากการสอบสวนโรค พบว่ากลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อวันที่ 24 ม.ย. เข้าที่ state quarantine จังหวัดชลบุรี อยู่จนถึงวันที่ 9 ก.ค. ตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 29 มิ.ค.และวันที่ 5 ก.ค.ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อ จึงจึงออกจาก state quarantine กลับบ้านที่จังหวัดเลย โดยมีเพื่อนขับรถมารับกลับไปถึงบ้านให้ผู้ใกล้ชิดเป็นพ่อ แม่ และคนที่อยู่ในบ้านรวมถึงเพื่อนทั้งหมด 5 คน จากนั้นในช่วงเดือนก.ค. ส่วนใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดเลย มีการเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนที่คลอดลูกที่รพ.ปากชม จากการสอบสวนพบว่ามีผู้สัมผัสใกล้ชิด 6 ราย เป็นเพื่อนและคนที่ไปเจอ จากนั้น เมื่อวันที่ 12 ส.ค. หรือวันที่ 13 ส.ค.เดินทางไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารซึ่งจำชื่อไม่ได้ มีผู้สัมผัสใกล้ชิด 3 ราย
ต่อมาวันที่ 16 ส.ค. เดินทางมายังกทม. โดยมทีพ่อ แม่ ขับรถมาส่ง พักอาศัยกับเพื่อนอีก 2 คน ที่โรงแรมบัดดี้เพลส มีผู้สัมผัสใกล้ชิด 4 ราย คือ เพื่อน 2 ราย แม่บ้าน 2 ราย และผู้พักอาศัยในโรงแรมดังกล่าว 104 ราย แต่กรณีทั้งหมดนี้ไม่ถือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ แต่หากกังวลใจสามารถรับการตรวจได้ที่รพ. จากนั้น วันที่ 18 ส.ค. เดินทางไปรพ. รามาฯ โดยรถแท็กซี่ พร้อมเพื่อนอีก 2 คน เพื่อตรวจหาเชื้อและเตรียมตัวไปทำงานที่ประเทศดูไบ มีคนใกล้ชิด 6 ราย อ คือ คนขับแท็กซี่ และเจ้าหน้าที่รพ.รามาฯ 5 ราย และต่อมาวันที่ 19 ส.ค. เข้ารับการรักษาที่รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ จ.สมุทรปราการ
“การจะยืนยันว่าไม่ได้เป็นการติดเชื้อในประเทศไทยได้นั้น ต้องรอผลตรวจในผู้ใกล้สัมผัสใกล้ชิด ถ้าตรวจแล้วไม่เจอผู้สัมผัสใกล้ชิดติดเชื้อ ก็มั่นใจว่าจะไม่ติดจากในเมืองไทย” พญ.วลัยรัตน์ กล่าว
ผศ.นพ.ชนเมธ กล่าวว่า หญิงรายดังกล่าวไม่ได้ป่วยแล้ว เพราะผลตรวจแล็บ 2 ครั้ง ออกมาเป็นลบ แต่ที่บวกหนึ่งครั้ง และมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แสดงว่าเคยติดเชื้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่น่าจะใช่เร็วๆ นี้ อาจจะติดมาตั้งแต่ที่อยู่ดูไบ หรืออยู่ใน จ.เลย แต่ไม่น่าอยู่ในกทม. นอกจากนี้ ทีมสอบสวนโรคได้สอบสวนตั้งแต่เขากลับมาจากต่างประเทศ,สถานที่กักกัน ที่บ้าน ไปที่ต่างๆ เพื่อความมั่นใจ แต่ด้วยข้อมูลระบาดวิทยาที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ ดังนั้น โอกาสติดในประเทศจึงน้อยมาก แต่ขอให้ดูผลการสอบสวนโรคอีกครั้งหนึ่ง
“ผู้หญิงรายนี้ไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยแล้ว แต่จะยังอยู่ในรพ.ไปก่อน เพราะขณะนี้มีความตื่นตัวของประชาชนชาวไทย ส่วนจะออกได้เมื่อไหร่นั้น ให้รอผลการเพาะเชื้อฯ เพื่อยืนยันว่าเชื้อไม่สามารถแพร่ได้แล้ว ซึ่งจะทราบผลใน 1 สัปดาห์ แต่เบื้องต้น ยืนยันว่ารายนี้ไม่นับว่าเป็นการติดเชื้อในปะระเทศไทย” นพ.ชนเมธ กล่าว และว่า ส่วนที่ตรวจไม่เจอในสถานที่กักกันนั้น เชื้อมีปริมาณน้อย เป็นปกติที่จะตรวจเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง ดังนั้นในทุกครั้งจึงต้องมีการตรวจยืนยันเพื่อให้แน่ใจ