สสส. ถอดบทเรียนสู้ภัย เหล้า-บุหรี่ คนทำงาน ปลื้ม แม้ อุปสรรคเยอะต่อสู้นายทุน สิ่งเสพติด แต่ให้ผลดี ลดนักสูบเหลือ19% ขอทุกฝ่ายเดินหน้าปิดเกม ลดให้ต่ำกว่า 5%
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวที “Virtual Talk แรงบันดาลใจจากเครือข่ายงานรณรงค์เหล้าบุหรี่” เพื่อถอดบทเรียนคนทำงานรณรงค์เหล้า-บุหรี่ เปิดมุมมองแง่คิดสู่การสร้างแรงบันดาลใจ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสู่ความสำเร็จ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ 34 ปีที่ผ่านมา ต้องทำงานกันหนักมากเพราะเป็นการต่อสู้กับสิ่งเสพติด และธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล โดยมีอุปสรรค 4 ข้อ คือ1.บริษัทบุหรี่จะขัดขวางนโยบาย ขัดขวางการขึ้นภาษี กฎหมายต่างๆ ที่จะมาควบคุมการบริโภคยาสูบ มีการวิ่งเต้นกับฝ่ายการเมืองทำให้สิ่งที่เราเสนอไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ยาก จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาหมายเลขหนึ่งอยู่ เช่น ตั้งแต่ปี 2535 เราผลักดันกฎหมายห้ามไม่ให้เติมสารใดๆ อย่างเช่น เมนทอล เพราะทำให้เด็กติดและเลิกยากจนป่านนี้ก็ยังออกกฎนี้ไม่ได้
2. ความไม่แน่นอนของการเมืองบางรัฐบาลก็เอาจริงแต่หลายรัฐบาลก็ไม่สนใจเรื่องการควบคุมยาสูบ เช่น มีกฎหมายแต่ก็ไม่สนับสนุนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย 3. ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ เช่น การส่งเสริมให้หน่วยงานปลอดบุหรี่ ยิ่งกระทรวงการคลังไม่ได้ขึ้นภาษีบุหรี่ ยาเส้น อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ในภาคองค์กรเอกชน ภาคประชาชนก็เข้ามามีส่วนร่วมน้อย โดยเฉพาะ 17 ปีแรกที่ยังไม่มีงบประมาณจาก สสส. ภาคีภาคประชาชนที่ทำงานอย่างต่อเนื่องยังมีน้อยมาก แม้ว่าทุกคนจะบอกว่า การควบคุมยาสูบเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นด้วยที่จะมีการรณรงค์ แต่เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุน จึงยังไม่มีใครมาร่วมทำงานด้วย และ 4. งบประมาณไม่เพียงพอ ในส่วนที่ สสส.ให้มา 300 กว่าล้านบาทต่อปี รวมกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี ถือว่าน้อยมากในการทำงานควบคุมยาสูบทั่วประเทศ ถ้าเทียบกับอังกฤษใช้ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี
“นับเป็นอุปสรรค 4 ข้อ ที่ทำให้การลดละเลิกการสูบบุหรี่เป็นไปได้อย่างช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นกันแบบนี้ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การทำงานอย่างหนักตลอด 34 ปีของเราก็ให้ผลที่ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศในระดับการพัฒนาเท่ากัน ถือว่าเราค่อนข้างดี คือลดเปอร์เซ็นต์การสูบบุหรี่ในประชากรอายุ15 ปีขึ้นไป ลงจาก32% ในปี 2534 เหลือ 19% ในปี 2560 หรือลดลงไป 40% แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย 30 กว่าปีที่ผ่านมาด้วยประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น18 ล้านคน จะทำให้เรามีคนสูบบุหรี่ มากกว่านี้อีก 7.1 ล้านคน นี่จึงทำให้องค์การอนามัยโลกชมว่าประเทศไทยทำได้ดีพอสมควร แต่ควรจะดีกว่านี้ เพราะขณะนี้ไทยถือว่าดีเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และบรูไน จริงๆ เรามีกฎหมายที่ค่อนข้างดี แต่สอบตกเรื่องการบังคับใช้ และปัญหาคือรัฐบาลยังไม่ได้ให้สิทธิการรักษาเลิกบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ประกันสังคมและบัตรทองนี่คือจุดอ่อนหลักๆ" นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ และช่วยกันสนับสนุนกฎระเบียบเกี่ยวกับการไม่สูบในที่สาธารณะ และช่วยกันป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปติด เรื่องนี้ในที่สุดแล้วบุหรี่จะมี End Game คือประเทศต่างๆ ตั้งเป้าลดอัตราการสูบให้ต่ำกว่า 5% ให้ได้เร็วๆนี้ ซึ่งวันนี้ของไทยอัตราการสูบอยู่ที่19% การจะเดินทางไปถึง5% อาจจะต้องใช้เวลานานกว่า30ปี เพราะทุกวันนี้เราลดลงเพียงปีละ0.4% หลังๆมานี้แทบจะไม่ลดลงเลย เพราะบริษัทบุหรี่แข่งขันกันและลดราคา ทางฝ่ายรัฐเราเองก็ไม่ได้ลงแรงมากนัก ดังนั้นเราต้องช่วยกัน
ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า เครือข่ายงดเหล้าก่อตั้งมาเข้าสู่ปีที่17แล้ว การทำงานช่วงแรกจะเน้นการสร้างกระแสสังคมโดยใช้การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. และความร่วมมือกับองค์กรทางศาสนา ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราคนที่งดเหล้าเข้าพรรษาได้ถึง40% จากเดิมที่มีประชาชนสมัครใจงดเหล้าเข้าพรรษาเองประมาณ 17% จากนั้น สคล.จึงเริ่มเข้าร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และเครือข่ายภาคประชาชน ควบคู่กับการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งจะเป็นตัวสำคัญที่จะมาช่วยปรับสภาพแวดล้อมของสังคมได้ โดยเฉพาะการควบคุมห้ามโฆษณาส่งเสริมการขาย ควบคุมสถานที่ดื่ม และจำหน่าย การจำกัดอายุผู้ดื่ม เป็นต้น
นายธีระ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อผลักดันกฎหมายได้สำเร็จจึงเดินหน้ารณรงค์ปรับพฤติกรรมประชาชนเชิงลึกมากขึ้น โดยยังใช้การงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นตัวขับเคลื่อนต่อไป มีการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเข้มแข็ง เป็นชมชนคนสู้เหล้า การเริ่มต้นของดเหล้าเข้าพรรษาปี 2563 มีอยู่ประมาณ 1,200 แห่ง โดยแต่ละชุมชนจะตั้งชมรมคนหัวใจเพชรเลิกเหล้าตลอดชีวิต 142 ชมรม ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนที่สามารถเลิกเหล้าได้แล้วมาช่วยเชิญชวนคนที่ยังดื่มให้ลด ละ เลิกดื่มต่อเนื่อง ไม่เฉพาะช่วงเข้าพรรษาอย่างเดียว ทั้งนี้ จำนวนผู้ปฏิญาณตนงดเหล้า เข้าพรรษาในปี 2562 มีจำนวน 21,400 คน ส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดอบายมุข มีการเรียนการสอนที่สร้างจิตสำนึกให้เด็กนักเรียน และปรับแนวคิดการเรียนการสอนเน้นการค้นหาศักยภาพของนักเรียน แล้วส่งเสริมศักยภาพนั้น เพราะที่ผ่านมาจะมีปัญหาว่าเด็กเรียนเก่งได้รับการดูแล ส่งเสริม แต่เด็กที่เรียนไม่เก่งกลับไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรทำให้บางส่วนหลุดเข้าสู่วงจรอบายมุข
“ยอมรับว่าการทำงานมีอุปสรรคมากเหมือนกัน ปัจจัยสำคัญคือการทำการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ การเข้าไปเป็นสปอนเซอร์งานประเพณี กีฬาต่างๆ ทำให้คนมีความรู้สึกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าปกติ และชื่นชมสินค้าเหล่านั้น ทำให้รู้สึกว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นเรื่องธรรมดา หากเราลดสิ่งเหล่านี้ได้การณรงค์ลด ละ เลิกเหล้าจะทำได้ง่ายขึ้น และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ได้ และเพิ่มเรื่องการเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะสุราพื้นบ้าน” นายธีระ กล่าว
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส.พยายามอย่างยิ่งในการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติดต่างๆ เพราะปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อมกับบุคคลอื่นๆ ด้วย เช่นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะมีผลกระทบต่อการทำงานของตับ ภูมิต้านทานลดเสี่ยงติดโรคได้ง่ายกว่าคนไม่ดื่มแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทำให้คนอื่นต้องบาดเจ็บ เสียชีวิตไปด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงในสังคม เช่นเดียวกับบุหรี่ที่จะเข้าไปทำลายสมรรถนะการทำงานของปอด เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่ายังมีควันบุหรี่มือสอง มือสาม ที่ทำลายสุขภาพคนใกล้ชิดอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันรณรงค์ลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพเหล่านี้ลงให้ได้
- 100 views