ทีมวิจัยจุฬาฯ พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทดลองในลิงได้ผลดี เตรียมส่งโรงงานผลิตทดลองในคนเฟสแรกปลายปีนี้ แต่ต้องรอ อย.รับรอง พร้อมเปิดรับอาสาสมัคร ก.ย. แบ่งตามกลุ่มอายุ
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด- 19 ชนิด mRNA ชื่อ "CHULA-Covid19"เข็มที่ 2
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีโควิด 19 มา รพ.จุฬาฯ ให้การรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก แต่นั่นเป็นการรักษาปลายเหตุ แต่การจะกำจัดโรคนี้ได้หมด คือ การป้องกัน ดังนั้นจึงมีทีมการทำวิจัยวัคซีนดังกล่าว ซึ่งได้ผลดี ทั้งนี้การมาของโควิดสอนให้เราต้องเตรียมบางสิ่งบางอย่างตลอดเวลา ในการป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งที่จริงเราเตรียมตัวมา 5 ปี โดยตั้งศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่ แต่โควิดทำให้เห็นว่ายังไม่พอ เราต้องพัฒนาศูนย์วัคซีนเพิ่มเติมเพิ่มศักยภาพทั้งทีมวิจัยที่เข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพอุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า วัคซีน CHULA-Covid19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้ ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด ผลการตรวจเลือดลิงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน CHULA-Covid19 กระตุ้นเข็ม ที่สอง ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลาสองสัปดาห์ พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น โดยมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมากเฉลี่ยระดับ 5,000 ไตเติ้ล ถือว่าเกินคาดมาก อย่างไรก็ตาม การนำมาฉีดในคน เนื่องจากคนจะมีสภาพร่างกายที่สะอาดกว่าลิง ดังนั้นเมื่อรับวัคซีนแล้วอาจจะทำให้กระตุ้นภูมิได้ต่ำกว่าลิงประมาณ 70 เท่า
"ภายในสัปดาห์หน้าเราจะเลือกวัคซีน 2 ตัว ซึ่งมีความแตกต่างในชิ้นส่วนพันธุกรรมเล็กน้อย ส่งไปให้โรงงานผลิตใน 2 โรงงานในต่างประเทศ ซึ่งติดต่อกันเอาไว้แล้วเพื่อเดินหน้าผลิต โดยโรงงานแรกจะผลิตชิ้นเนื้อวัคซีนคาดว่าจะเสร็จต้นต.ค. จากนั้นจะส่งโรงงานที่ 2 ผลิตตัวชิ้นส่วนไขมันเคลือบวัคซีนต่อราวๆ พ.ย.63 จากนั้นจะเดินหน้าฉีดในคนเฟส 1 และเฟสต่อๆ ไป ซึ่งเราสั่งเตรียมไว้ประมาณ 1 หมื่นโดส สำหรับอาสาสมัครทั้งหมด 5 พันคน ถ้าสำเร็จคาดมีวัคซีนใช้ในคนประมาณ ไตรมาส 3-4 " ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับการทดลองในคนจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกไม่เกินปลายปี 2563 แบ่งออกกลุ่มฯ กลุ่มแรกอายุ 18-60 ปี จำนวน 75 คน แบ่งการให้วัคซีนที่โดส ต่ำ 10 , 30 และ 100 ไมโครกรัม กลุ่มละ 15 คน โดยเริ่มที่โดส 10 ไมโครกรัมก่อนจำนวน 15 คน หากมี 6 คนได้ผลดีและปลอดภัยก็จะให้ อาสาสมัครอีก 15 คน รับวัคซีน 30 ไมโครกรัม และอีก 15 คนรับวัคซีน 100 ไมโครกรัมต่อไป ถ้าได้ผลดี ปลอดภัย ก็ให้วัคซีนกระตุ้นเข็ม 2 ในปริมาณเท่าเข็มแรก นอกจากนี้ยังมีอีก 2 กลุ่มที่ให้วัคซีนเข็มแรก 30 ไมโครกรัม เข็มสองลดลงเหลือ 10 ไมโครกรัม และอีก 15 คนให้เข็มแรก 100 ไมโครกรัม และเข็มสอง 10 ไมโครกรัม ถ้าทั้งหมดนี้มีความปลอดภัย ก็จะให้วัคซีนในอาสาสมัครอายุ 61-80 ปี จำนวน 75 คน ต่อไป
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
ทั้งนี้ ถ้าการทดลองเฟสแรกผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน ถึงจะให้วัคซีนในเฟสที่ 2 ต่อไป โดยใช้อาสาสมัครประมาณ 500-1,000 คน คาดรู้ผลในกลางปี 2564 สำหรับการทดลองระยะที่ 3 ซึ่งต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ ดังนั้นอาจจะทดลองในประเทศไทยไม่ได้ เพราะไม่มีคนติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้นจึงต้องมีการคุยกับทางประเทศที่มีการระบาดอยู่ ขณะนี้ยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันมีผู้พัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ประมาณ 18 ตัว แต่มี 4 ตัวที่ก้าวหน้ากว่าไทยอยู่ 6 เดือน ดังนั้นมีการคาดว่าถ้ามี 1 ตัวสำเร็จในต้นปีหน้า และได้รับการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อเมริกา และยุโรป แล้ว ทาง อย.ไทยคงสบายใจและให้ผ่านการทดลองในคนในระยะที่ 3 ไปเลยก็ได้ จะทำให้เราลดระยะเวลาที่ต้องเฟสนี้ได้ถึง 9-12 เดือน ก็จะทำให้มีวัคซีนใช้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่ารัฐบาลต้องเตรียมในการจัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศร่วมด้วย
"ย้ำว่าขณะนี้เรายังไม่ได้ประกาศรับอาสาสมัครเข้าโครงการทดลองวัคซีนโควิด 19 เพราะต้องรอให้อย.รับรองความปลอดภัยก่อน รวมถึงต้องรอให้คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ อนุญาตก่อน ถึงจะประกาศรับอาสาสมัครได้ เบื้องต้นคาดน่าจะประกาศรับอาสาสมัครอย่างเป็นทางการได้ราวๆ เดือนก.ย.นี้ ยืนยันต่อให้เราเร่งรีบแค่ไหน ก็ต้องเอาความปลอดภัยไว้ก่อน ไม่ยอมให้คนไทยต้องมาเสี่ยง" ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
- 113 views