กรรมการหลักประกันสุขภาพฯ เผยหากไทยเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP กระทบวงกว้าง กระทบกลไกยาราคาถูก ให้การเข้าถึงยาเป็นปัญหา สุดท้ายจัดซื้อยาแก่ผู้ป่วยจำนวนน้อยลง
วันที่ 30 มิ.ย.63 นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน หากรัฐบาลไทยตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership : CPTPP) ว่า ในอนาคตหากประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ยาตัวใดตัวหนึ่ง เงื่อนไขใน CPTPP จะส่งผลให้การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing: CL) ทำได้ยากขึ้นจนกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน เพราะมีช่องให้ประเทศสมาชิก CPTPP และ นักลงทุนข้ามชาติฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มการทำ CL ได้
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ในงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้นได้รวมค่ายาอยู่ด้วยทั้งในส่วนของผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และยังมีค่ายาที่เป็นยาสำหรับโรคเฉพาะอีกปีละประมาณ 1 หมื่นล้าน ในจำนวนนี้มียาต้นแบบหรือยาที่ติดสิทธิบัตรอยู่ ซึ่งหากเป็นยาที่มีความจำเป็นก็จะถูกบรรจุเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วยและต้องจัดซื้อในราคาของยาต้นตำรับ ขณะเดียวกัน ด้วยกลไกเดิม การจะขยับทำ CL ยาก็ยากอยู่แล้ว ซึ่งถ้ามี CPTPP เข้ามาอีกก็มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกฟ้อง ทำให้ความที่ยากอยู่แล้วยากขึ้นไปอีก เนื่องจากสิ่งที่ CPTPP เพิ่มขึ้นมาคือเปิดช่องให้เจ้าของสิทธิที่เห็นต่างยื่นฟ้องระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนผ่านอนุญาโตตุลาการโดยแย้งว่า เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก (in rare circumstances) ตรงนี้จะทำให้การทำ CL ยายากขึ้นไปอีก
"บางคนบอกว่ายังทำ CL ได้เหมือนเดิม เราก็เข้าใจว่ายังทำได้เหมือนเดิม แต่มันมีเงื่อนไขเหล่านี้อยู่ แล้วในอนาคตถ้าเราจำเป็นต้องใช้ยาที่ติดสิทธิบัตร โอกาสที่รัฐจะทำ CL ได้ก็คือเป็นศูนย์ เพราะมันจะทำให้รัฐไทยหรือหน่วยงานที่มีสิทธิประกาศ CL ไม่กล้าทำ ไม่พร้อมจะทำเพราะถ้าถูกทักท้วงจากเจ้าของสิทธิหรือประเทศสมาชิกใน CPTPP เมื่อไหร่ เราถูกฟ้องทันที แต่ถ้าไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ตามกฎหมายและความตกลงที่ไทยผูกพันอยู่เดิม เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นเพียงพอประเทศไทยสามารถทำ CL ได้เลย" นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวสรุปว่า จากข้อมูลของ สปสช.พบว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันไทยสามารถประหยัดค่ายาจากการทำ CL ยาได้ 71,265 ล้านบาท แต่ด้วยเงื่อนไขของ CPTPP แบบนี้ทำให้เครื่องมือที่ช่วยให้ไทยสามารถเข้าถึงยาราคาถูกมีความยากยิ่งขึ้น ทำให้การเข้าถึงยาเป็นปัญหาและสะท้อนไปโดยตรงกับงบประมาณค่ายา แต่ละปีงบประมาณค่ายาเฉพาะเหล่านี้จะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หากไม่สามารถเข้าถึงยาราคาถูกได้ก็จะทำให้จัดซื้อยาแก่ผู้ป่วยได้ในจำนวนที่น้อยลง
ทั้งนี้ สปสช.รายงานมูลค่าประหยัดจากการทำ CL ยา ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันปี 2563 พบว่า หากไม่มีการทำ CL ยา ไทยจะต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อยาในราคาที่สูงมาก เช่นในปี 2563 หากไม่ทำ CL ยา ต้องใช้งบประมาณซื้อยากลุ่มนี้เป็นเงิน 5,992.20 ล้านบาท แต่เนื่องจากไทยทำ CL ยา จึงใช้งบประมาณได้ถูกลง เหลือเพียง 578.90 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ในปี 2563 สปสช.สามารถประหยัดงบประมาณไปได้ 6,571.10 ล้านบาท
- 8 views