ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยอ้างว่า เราตกขบวนไม่ได้และต้องเจรจาโดยมีข้อสงวน หลังจากที่คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกและการลงทุนของไทยให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ซึ่งประกอบด้วยภาควิชาการและภาคประชาสังคมซึ่งได้ติดตามนโยบายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศและผลกระทบที่เกิดขึ้นมาตลอดสองทศวรรษ เห็นว่าประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วม CPTPP ด้วยเหตุผล 4 ประการดังนี้
1. การเข้าร่วม CPTPP อาจส่งผลดีทางเศรษฐกิจบ้างต่อบางกลุ่มธุรกิจ แต่ขัดแย้งและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างน้อย 6 เป้าหมายหลักได้แก่ SDG1 การขจัดความยากจน SDG2 ยุติความหิวโหย SDG3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนในทุกวัย SDG10 ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ SDG12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และ SDG15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
2. นายดอน ปรมัตถวินัย รองนายกฯที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการพิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเข้าร่วมความตกลง CPTPP สภาผู้แทนราษฎร มิได้ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมาธิการฯเกี่ยวกับจุดยืน ท่าที และการเตรียมความพร้อมในการเจรจาแต่ประการใด โดยเฉพาะในเรื่องการผูกขาดพันธุ์พืช การเข้าถึงยา การคุ้มครองผู้บริโภค ผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศกรณีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และข้อบทการคุ้มครองนักลงทุน อาทิเช่น
- ไม่มีการยืนยันในหลักการที่ประเทศไทยจะต้องไม่รับข้อเจรจาที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญา UPOV1991 โดยกำหนดท่าทีเจรจาเพียงจัดให้มีกฎหมายที่ใกล้เคียง โดยมีข้อบทที่เหมาะสมกับบริบทวิถีชีวิตและสังคมเกษตรกรรมไทย ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯเสนอ
- พยายามกดดันหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้ละทิ้งข้อสงวนที่คณะกรรมาธิการเสนอแนะไว้เกี่ยวกับสิทธิในการกำกับดูแลของรัฐ (Right to regulate) สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุขออกจากการฟ้องรัฐด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) โดยเฉพาะ กรณีการใช้สิทธิบัตรเหนือสิทธิบัตรยาเพื่อสาธารณประโยชน์ (CL for public use)
- กดดันให้หน่วยงานต่างๆปรับลดประเด็น “สีแดง” กรณีผลกระทบที่คณะกรรมาธิการฯศึกษาว่าจะมีผลกระทบรุนแรงให้เปลี่ยนเป็น “สีเหลือง” (กรณีที่ถ้ามีเวลาปรับตัว มีงบประมาณจะไม่เป็นปัญหา) เพื่อลดประเด็นอ่อนไหวให้น้อยลง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความตกลงฯอย่างแท้จริง ซึ่งมีกรณีที่เข้าข่ายนี้อีก 16 ประเด็น (นอกเหนือจาก ผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง UPOV1991, กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ) เช่น ประเด็น ฉลากและควบคุมแอลกอฮอล์ , Digital tax, ยกเลิก Special Agricultural Safeguard, ผลกระทบที่จะเกิดแก่องค์การเภสัชกรรม, โครงสร้างภาษีอากรวัตถุดิบกับสินค้าสำเร็จรูป
กรณี นายดอน ปรมัตถวินัย รองนายกฯ ใน ครม.ที่ชี้แจงว่า สามารถจัดการทุกอย่างได้-ตอบคำถามได้นั้น เป็นเพียงการใช้วิธีทางการฑูตเพื่อให้ได้ข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมเพื่อเข้าร่วม แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความพร้อมในการเจรจาได้อย่างแท้จริง
3. ข้อเสนอแนะสำคัญของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯที่ว่า ไทยยังไม่สมควรที่จะเข้าร่วมในความตกลง CPTPP เนื่องจากไทยยังไม่มีความพร้อมในหลากหลายด้าน หากจะมีการเจรจา ควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง แต่พบว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแม้แต่ร่างกรอบเจรจาฯที่ว่า นี่เรียกว่าพร้อมได้อย่างไร เพราะถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะกล่าวว่า เข้าร่วมแบบมีข้อสงวน แต่เป็นการพูดปากเปล่า ไม่มีแม้แต่สัญญาประชาคมว่า อะไรคือ ข้อสงวนที่ผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องถือเป็นบรรทัดฐานในการเจรจา
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ตัดกลไกการมีส่วนร่วมการตรวจสอบก่อนหน้าการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติกรอบเจรจาจากรัฐสภาก่อนไปเจรจา ต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่มีกลไกและขั้นตอนเหล่านี้ชัดเจน ดังนั้น การที่รัฐบาลอ้างว่าจะทำให้การเจรจาได้ประโยน์นั้น ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อรัฐสภาด้วยกรอบเจรจาถึงประเด็นที่ต้องเจรจาให้ได้และประเด็นที่ต้องปกป้อง จึงไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน หรือการแสดง accountability ดังที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้
4. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2564 สภาองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งตามกฎหมายตามมาตรา 46 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ทำข้อเสนอแนะให้รัฐบาลชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ไว้ก่อน เนื่องจากยังมีความเห็นต่างในเรื่องผลได้ทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งอาจทำลายความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน #SDGs หากมีการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ด้วยความไม่รอบคอบและไม่ได้มองถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับนำผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศมาพิจารณาเพื่อเข้าร่วมแทน โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึงสภาองค์การของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ความว่า นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชารับทราบข้อห่วงกังวลดังกล่าว และบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศพิจารณาและประสานกับสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อไป ซึ่งจนถึงขณะนี้ 'บัญชาของนายกรัฐมนตรี' นี้ยังไม่มีหน่วยราชการใดนำไปปฏิบัติ
แม้มีข้ออ้างว่า ประเทศจีนแสดงความสนใจในการเข้าร่วม CPTPP แต่ยังห่างไกลกว่าที่จะเป็นจริงได้เนื่องจากเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการขอเข้าร่วมของไต้หวัน และท่าทีของญี่ปุ่น แคนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้าและความมั่นคงที่ใกล้ชิดกับสหรัฐที่แสดงออกว่าไม่ต้องการให้จีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงนี้
การเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ดังที่ได้กล่าวแล้วยังอาจเป็นการนำประเทศไทยเข้าไปสู่ความยุ่งยากทางภูมิรัฐศาสตร์ยิ่งกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศในเวทีสหประชาชาติว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่การตัดสินใจโดยรับฟังจากข้อเสนอแนะของ กกร. และไม่สนใจข้อท้วงติงของภาคส่วนอื่นๆ ชี้ชัดว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และทุนผูกขาดเท่านั้น โดยไม่ได้แสดงความเคารพต่อความคิดเห็นของประชาชนและข้อเสนอแนะของสภาฯ
ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดของโควิด-19 ประเทศที่จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตคือประเทศที่ต้องให้ความสำคัญกับฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร ยา และระบบสุขภาพ และการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้แสดงออกให้เห็นสิ่งนี้ รวมทั้งความพยายามในการนำประเทศเข้าร่วม CPTPP โดยปราศจากการเตรียมความพร้อม ซึ่งจะขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้ถ่างกว้างมากยิ่งขึ้นต่อไป
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
13 ตุลาคม 2564
- 12 views