ภาคประชาชนด้านสุขภาพ และ FTA WATCH บุก กระทรวงต่างประเทศ คัดค้าน รมว.ดอน เตรียมชง CPTPP เข้า ครม. หวั่นเป็นการทำลายนโยบายด้านสุขภาพ
เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วย เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารชุมชนเมือง และ FTA watch ได้มายื่นจดหมายถึงท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่กำลังผลักดันอย่างหนักเพื่อให้ไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบในสัปดาห์หน้านั้น
นายคำรณ ชูเดชา กล่าวว่า ท่านรองนายกฯ ไม่สนใจข้อท้วงติงของหน่วยราชการ ภาควิชาการ สภาองค์กรของผู้บริโภคและภาคประชาสังคมอื่น รวมถึงข้อเสนอแนะหลักของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ว่า การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง ซ้ำยังกดดันหน่วยราชการอื่นๆให้ปรับลดประเด็นสีแดงงเป็นสีเหลือง สีเหลืองเป็นสีเขียว โดยไม่คำนึกถึงผลกระทบอย่างแท้จริง
นายคำรณ กล่าวว่า ในอดีตกระทรวงต่างประเทศ เคยทำการเจรจาความตกลง JTEPA ไทย- ญี่ปุ่น จากของเสียอันตรายที่อยู่ในพิกัดภาษีศุลกากรของ JTEPA เช่น ขี้แร่, ขี้ตะกอน, เศษอื่นๆ ที่ได้จากการผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า, ตะกอนของน้ำมันเบนซินชนิดเติมสารตะกั่ว, ตะกอนของสารกันเครื่องยนต์เคาะที่มีตะกั่ว, เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล, ของเสียทางเภสัชกรรม, ของเสียจากสถานพยาบาล, ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน, ขยะเทศบาล, ตะกอนจากน้ำเสียและของเสียอื่นๆ, ของเสียที่เป็นของเหลวกัดล้างโลหะ, น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเบรคและของเหลวกันการเยือกแข็ง, ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่ปี 2551 ที่ประเทศไทยลงนามทำความตกลง JTEPA ถือเป็นความตกลงฯ ฉบับแรกที่แสดงอย่างชัดเจนถึงการเปิดเสรีให้มีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนสำหรับของเสียอันตรายทุกประเภท ที่นิยามของเสียหมายรวมถึงของเสียที่รีไซเคิลได้และที่รีไซเคิลไม่ได้ (นำเข้ามาทิ้ง) โดยกำหนดเป็นพิกัดศุลกากรอย่างเป็นทางการซึ่งมีผลให้ต้องเปิดเสรีต่อมาในความตกลงฉบับต่างๆ จนประเทศไทยมีสภาพใกล้เคียงกับถังขยะโลก
นายคำรณ กล่าวอีกว่า ทั้งๆที่ช่วงก่อนการลงนาม JTEPA กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเคยปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าของเสียอันตราย แต่เมื่อภาคประชาสังคมตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จึงมีการยอมรับถึงข้อผิดพลาดในการเจรจาความตกลง JTEPA เนื่องจากความตกลงที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศอื่นๆในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ในช่วงเวลาใกล้ๆกันนั้น ไม่มีเนื้อหาที่ยอมรับขยะเป็นสินค้าเช่นไทย และยังพบว่า ในขณะนั้น การแต่งตั้งคณะบุคคลจากหน่วยงานราชการไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้แทนจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ให้น้ำหนักกับผู้นำจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้นในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่ผ่านมา จึงไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
“ดังนั้น สังคมไทยสมควรได้รับคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการต่างประเทศที่ทำหน้าที่เจรจา JTEPA และนี่ควรเป็นบทเรียนที่สำคัญของกระทรวงการประเทศเพื่อไม่ให้เดินผิดพลาดเช่นที่ผ่านมาอีก เราห่วงใยประเด็นนโยบายด้านสาธารณะสุขและสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจาก CPTPP โดยเฉพาะ การเปิดตลาดเครื่องมือแพทย์มือสอง / ระบบสิทธิบัตรและระบบขึ้นทะเบียนยา / ผลกระทบต่อการออกมาตรการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ CPTPP) / ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสมุนไพร ความหลากหลายทางชีวภาพ การแบ่งปันผลประโยชน์ผลกระทบจาก การบังคับเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) / การขอยกเว้นกำหนดเป็นข้อสงวนการใช้กลไกเอกชนฟ้องรัฐในการออกมาตรการด้านสาธารณสุข (ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ CL) ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย ทำนอง เหล้าจะถูก ยาจะแพง พืชเมล็ดพันธ์จะถูกผูกขาด” นายคำรณ กล่าว
- 8 views