จับตาการประชุมคณะวิสามัญฯ ศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP 15 มิ.ย.นี้ ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ฯลฯ ตั้งกรอบเวลา 30 วัน
ประเด็น CPTPP กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา หลายคนอาจยังไม่รู้จัก CPTPP คืออะไร และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหากเข้าร่วมอย่างไร...
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 63 น.ส. กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) อธิบายเรื่องนี้ ว่า CPTPP เป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งที่ผ่านมามีคนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก และประกาศว่า ไทยจะได้ประโยชน์มากมาย ทั้งการส่งออก ทั้งการลงทุน แต่ไม่มีการคำนวณว่า ผลเสียจากการเข้าร่วมกับประโยชน์ที่ได้รับเป็นอย่างไร ความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ผลเสียเทียบไม่ได้กับประโยชน์ที่ได้จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วม UPOV 1991 จะทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืช ผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากผลผลิตโดยบรรษัทเมล็ดพันธุ์ ผลกระทบต่อระบบยาและสาธารณสุข การคุ้มครองการลงุทนจะส่งผลกระทบต่อนโยบายสาธารณะ และซ้ำร้ายจะกระทบระบบการจัดซื้อจัดจ้างยา โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ อย่างองค์การเภสัชกรรม(อภ.) อย่างการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้กับอุตสาหกรรมยาจากต่างประเทศ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ รัฐจึงไม่สามารถใช้นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย หรือระเบียบพัสดุ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศได้ ผู้ผลิตยาอาจต้องปรับเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ผลิต” เป็น “ผู้นำเข้ายาจากต่างประเทศ” ไทยก็พึ่งพาตนเองไม่ได้
“จากผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการประชุมคณะวิสามัญ (ครั้งที่ 2) พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ โดยมีคณะอนุกรรมาธิการศึกษาด้านต่างๆ ทั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยสภาฯ ให้เวลาพิจารณา 30 วัน แม้เวลาจะน้อย แต่เราก็จะทำงานเต็มที่ เพื่อให้ข้อมูลเป็นตัวสะท้อนว่า สมควรเข้าหรือไม่สมควรเข้า แต่ก็อยากให้ประชาชนติดตามเรื่องนี้ขอให้ติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้นให้มากกว่าเดิม เพราะเสียงข้างนอกจะช่วยให้ข้างในทำงานอย่างรอบด้าน” น.ส.กรรณิการ์กล่าว
น.ส. กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดไทม์ไลน์ CPTPP ไทยอยู่ ณ จุดไหน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ CPTPP คืออะไรนั้น.... ข้อมูลจาก SCB Economic Intelligence Center ระบุว่า CPTPP ชื่อเต็มๆ คือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
ความจริงแล้ว ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2006 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
โดย 11 ประเทศสมาชิกได้ลงนามความตกลง CPTPP ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2018 ที่ประเทศชิลี ระหว่างนี้ แต่ละประเทศกำลังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายเพื่อรับรองข้อตกลง (ratification) ก่อนจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้ แต่ที่เป็นกระแสมากในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีหลายประเทศให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นไทย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ไต้หวัน ไปจนถึงสหราชอาณาจักร เพราะ CPTPP จะเริ่มเปิดรับประเทศสมาชิกใหม่หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว
คำถามว่า หากเข้าร่วม CPTPP เราจะได้ประโยชน์อะไร
1.เพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย ในปี 2017 มูลค่าส่งออกไทยไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP มีสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย และมีอัตราการเติบโต 9% เทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับแคนาดากับเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 2% สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแคนาดา ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าหลักที่ส่งออกไปเม็กซิโกคือ รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในหมวดดังกล่าวมีโอกาสไปได้ดีถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP ได้สำเร็จ
2. โอกาสการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วม เราอาจจะเสียโอกาสตรงนี้ให้มาเลเซียกับเวียดนามไป
3. เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP
ส่วนข้อเสียหากเข้าร่วม CPTPP คือ
1. ธุรกิจบริการ สำหรับภาคบริการ CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนที่หมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติไป
2. อุตสาหกรรมเกษตร ที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น
นอกจากนี้ ธุรกิจอื่นๆ ในไทยเองก็ต้องเตรียมรับมือกับการรุกตลาดของต่างชาติ เนื่องจาก CPTPP จะเปิดโอกาสทางการแข่งขันให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ทั้งจากการลดภาษีสินค้านำเข้า การเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล รวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อกิจการท้องถิ่นได้
ขอบคุณข้อมูล CPTPP คืออะไร จาก SCB Economic Intelligence Center
- 33 views