17 เมษายน 2563

สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอื่นๆ คือกลุ่มประเทศที่เคยมีประวัติคุมโรคระบาด COVID-19 ได้ดี แต่สุดท้ายพอเปิดเมือง โดยคุมพฤติกรรมของประชาชนไม่ได้ จำนวนเคสติดเชื้อก็พุ่งพรวดพราดอย่างรวดเร็ว จนคุมยังไม่ได้อีก

เมืองไทยต้องระวังให้ดี

เห็นความกระดี๊กระด๊าของหลายจังหวัด ตั้งท่าจะเปิดเมือง หลังเห็นตัวเลขลดลงจากหลักร้อยมาหลักสิบ แล้วรีบออกคำสั่งกันใหญ่

ออกคำสั่งมาแล้วมาแก้กันตอนหลัง บ่งถึงการไม่ได้ใคร่ครวญให้รอบคอบรอบด้านถึงผลที่จะเกิดขึ้น

และ...ไม่ได้นำความรู้มาชี้นำนโยบาย...

เราทราบกันดีว่า การทำให้คนหยุดนิ่ง ย่อมกระทบต่อการทำมาค้าขาย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม มีคนเดือดร้อน

แต่สุดท้ายถ้าทำมาค้าขาย จนติดเชื้อกันถ้วนหน้า จะกลายเป็น...เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย...เพราะค่ารักษานั้นสูงกว่าเงินที่ได้จากการค้าขายอย่างมาก

...โรคระบาด COVID-19 นี้เป็นโรคของโลกทุนนิยม เกิดจากการใกล้ชิด สุงสิงกัน และเกิดจากความประมาท เอาง่ายเอาสบาย เมามายเถลไถล ไร้ระเบียบวินัยครับ...

นี่ไม่ใช่การปรักปรำโรคนี้ แต่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ครับ

โมเดลที่ดีและน่าปฏิบัติตามคือ ไต้หวัน ที่มีความเคร่งครัดและมีระเบียบวินัย จนทำให้เค้ามีคนติดเชื้อแค่หลักร้อย และตายเพียง 6 คน

สำหรับเมืองไทยของเรา วันนี้ติดเชื้อใหม่ 28 คน...รวมแล้วมีคนติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 2,700 คน

น่าดีใจครับเพราะแนวโน้มค่อยๆ ลด แต่ต้องไม่เหลิง ไม่ประมาท

บอกตรงๆ ว่า จะเริ่มลองผ่อนคลายมาตรการ ถ้าเอาแบบเซฟหน่อยตามความเห็นส่วนตัวคือ การพยายามกดกราฟการระบาดให้แตะเส้น 5% ซึ่งน่าจะประมาณ 15 พฤษภาคม โดยจะมีจำนวนเคสสะสมราว 3,000 กว่าคน

ทั้งนี้ในช่วงเวลา 3-4 สัปดาห์ถัดจากนี้คือ ช่วงที่รัฐบาลและทุกคนในประเทศควรจะต้องเตรียมตัว เตรียมงาน เตรียมสังคม ให้พร้อมกับการผ่อนมาตรการเข้มให้อ่อนลงได้

หนึ่ง...เตรียมระบบการตรวจคัดกรองโรคให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีประสิทธิภาพ ในทุกพื้นที่ หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ในพื้นที่ที่จะทดลองผ่อนคลายมาตรการ ต้องมีระบบนี้เข้มแข็งจริงๆ

สอง...เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากาก เจล ให้ทุกคนมีเพียงพอ

สาม...ทำให้เกิดกระแสพฤติกรรมที่ทุกคนทำกันเป็นกิจวัตร อยู่ห่างๆ กัน ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากเสมอ

สี่...บังคับใช้กฎหมายจัดการคนที่ทำพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ใช่ว่าจะจับก็ไม่แน่ใจ จับแล้วก็ถูกยกฟ้อง ฯลฯ

ห้า...กำหนดรูปแบบการทำงานอาชีพต่างๆ กิจการต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยง และมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

เตรียมแค่นั้นไม่พอ ต้องตั้งเป้า ประเมินด้วยว่า ผ่อนไปแล้ว ผลเป็นอย่างไร ถ้ามีแนวโน้มเริ่มไม่ดี ก็ต้องรีบจัดการก่อนเหตุการณ์จะบานปลายแบบที่เราเห็นในประเทศอื่นๆ

ไทยแลนด์โมเดล...ที่เราทำมาตั้งแต่ 19 มีนาคม 2563 นั้น ประสบความสำเร็จได้ถึงตอนนี้ เพราะเราทำมาตรการต่างๆ เร็วกว่าประเทศอื่น เราจึงไม่ประสบหายนะอย่างที่ที่อื่นเค้าเจอกัน

ดังนั้น การรับรู้ถึงความเสี่ยง และตัดสินใจทำนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในชีวิตคนเป็นอันดับแรก จึงเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติ

ขืนไปเฮโลตามประเทศอื่นๆ ที่ระบาดหนัก แถมจะเปิดเมืองตามเค้า ก็อาจตกกับดักแบบเดียวกับเค้าได้

เรื่องอดอยาก ตอนนี้หลายฝ่ายก็ร่วมด้วยช่วยกันบรรเทา

ตอนนี้รัฐควรทุ่มสรรพกำลังวางแผนทั้ง 5 นั้นให้ละเอียดในช่วงเวลา 3-4 สัปดาห์ที่มี

ถึงตอนนั้น เราจะมีทางเลือกสำหรับลองปฏิบัติผ่อนคลายมาตรการ ภายใต้ความมั่นใจระดับหนึ่งครับ...

จงมั่นใจในสิ่งที่เราทำมา...

จงใจแข็งที่จะใช้หลักวิชาการมาดูแลประชาชน...

จงจัดการปัญหาที่เกิดจากกิเลสและอารมณ์...

เราจะรอดได้ ถ้าเรามีหลักการ และมีน้ำใจช่วยเหลือแบ่งปันแก่กันและกัน

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ

#StayHome #อยู่บ้านกันนะครับ

#โรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกัน

#อดทนกันอีกหน่อยจะดีขึ้นกว่านี้

#แบ่งปันช่วยเหลือกันและกัน

เป็นกำลังใจให้กับทุกคน...

โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล