สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนเร็วชนิดวันต่อวัน จำเป็นต้องระบุก่อนว่าการสัมภาษณ์ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกิดขึ้นในเย็นของวันที่ 27 มีนาคม 2563 หลังจากประชาชนในกรุงเทพฯ อพยพกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งความวิตกและสงสัยว่าจะเป็นการกระจายการแพร่เชื้อออกไปเป็นวงกว้างหรือไม่

คำตอบของ นพ.ธนรักษ์ จะช่วยไขความกระจ่างข้อนี้และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขตระเตรียมไว้รับมือ

ระยะ 3?

เบื้องต้น นพ.ธนรักษ์ อธิบายว่าขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือจังหวัดที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดเลย เฉพาะวันนี้ (27 มีนาคม 2563) มีอยู่ประมาณ 20 จังหวัด

กลุ่มที่ 2 เป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยประเภทนำเข้าล้วนๆ หมายถึงชาวต่างชาติหรือคนไทยที่ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ แล้วยังไม่มีหลักฐานการแพร่ระบาดในจังหวัดของตัวเอง เช่น คนที่ไปดูมวยมากลับมาแล้วป่วย พอสอบสวนโรคปรากฏว่ายังไม่มีผู้ใดติดเชื้อในจังหวัด

กลุ่มที่ 3 คือผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศหรือต่างจังหวัด แล้วปรากฏว่ามีการแพร่เชื้อขึ้นในจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 คือพื้นที่ที่เริ่มการแพร่ระบาดเริ่มมีการแพร่กระจายกว้างขวางออกไป ได้แก่ กรุงเทพมหานคร

ดังนั้น การถามว่าการระบาดในประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้วหรือยัง? จึงไม่สามารถตอบแบบรวมทั้งประเทศได้

“ในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยจะมีระยะการแพร่ระบาดที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราพิจารณา เราไม่พิจารณาทั้งประเทศ เราจะดูลักษณะการแพร่ระบาดเป็นรายพื้นที่ บางจังหวัดยังไม่เจอผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว ถ้าเราบอกโดยรวมๆ ว่าจังหวัดนี้เข้าสู่การแพร่ระบาดแบบทั่วไปในชุมชนทุกพื้นทีก็คงไม่จริง

“ในกรุงเทพฯ จะมีลักษณะค่อนข้างเฉพาะ จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกก็คือคนที่ไปดูมวยที่เวทีราชดำเนินกับลุมพินี เมื่อวันที่ 6 กับวันที่ 8 มีนาคมทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่พอ 2 กลุ่มนี้เริ่มทยอยป่วยกันหมด ซึ่งครบ 14 วันเมื่อประมาณวันที่ 22 และ 23 ตอนนี้เราก็คงเจอผู้ป่วยอีกไม่เยอะแล้ว ยอดจำนวนผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ดูเหมือนกับจะชะลอตัวลง ดังนั้น เวลาถามว่าในกรุงเทพฯ เข้าระยะ 3 หรือยัง ผมก็ยังลังเลที่จะตอบ เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดยังไม่ถึงกับกว้างขวางมาก ถ้ายังสามารถควบคุมโรคได้ดี หมายถึงว่าเจอผู้ป่วยได้เร็ว และเราสามารถลงไปสอบสวนโรคได้รวดเร็ว สามารถระบุผู้สัมผัสและสามารถติดตามผู้สัมผัสได้อย่างอย่างครบถ้วน ก็ยังน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง”

นพ.ธนรักษ์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จังหวัดที่จะต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดคือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะการแพร่ระบาดระยะแรกคล้ายกับบางจังหวัด คือเริ่มต้นจากการมีผู้ป่วยจากการไปประกอบศาสนกิจที่ประเทศมาเลเซียและกลับมาป่วยที่ประเทศไทยแล้วก็แพร่เชื้อไปให้คนอื่น ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นค่อนเร็วพอสมควร

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์

จัดมาตรการรับมือตามบริบทพื้นที่

ความวิตกกังวลว่าการเดินทางกลับต่างจังหวัดจะนำไวรัสไปแพร่ระบาดด้วย นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่จริงหรือหากจะจริง ก็ไม่ทั้งหมด เนื่องจากกลุ่มคนที่เดินทางออกไปเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำคาดว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ในทุกๆ หลายพันคน จะพบผู้ติดเชื้อสัก 1 คน เป็นไปได้ว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับรอบนี้อาจจะพบว่ามีผู้เดินทางออกจากกรุงเทพติดเชื้อ แต่ไม่น่าจะมากนัก

“เวลานี้พื้นที่การแพร่ระบาดในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน แต่ละจังหวัดจึงมียุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการไม่เหมือนกัน ผมยกตัวอย่างจังหวัดที่ยังไม่มีผู้ป่วย สิ่งที่เขาต้องเน้น คือการเฝ้าระวังในกลุ่มคนที่เดินทางเข้าพื้นที่ ต้องมีการกักกัน 14 วันทั้งหมด ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ ก็จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในระยะต่อไปได้

“ส่วนในจังหวัดที่ยังมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่า 5 คน มาตรการหลักคือจะต้องค้นพบผู้ป่วยให้เร็วที่สุด แล้วทำการสอบสวนโรคให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต้องติดตามว่าคนไข้คนนี้ตั้งแต่วันที่เริ่มป่วยไปไหนมาบ้าง มีใครเป็นผู้สัมผัสบ้าง และกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคน พอเราระบุผู้สัมผัสได้หมด และกักกันได้หมด แม้ผู้สัมผัสจะป่วย เขาก็ไม่ไปแพร่ให้คนอื่นต่อ จุดนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่กรมควบคุมโรคได้นำเสนอกับทุกจังหวัดไปแล้ว ในจังหวัดที่ยังมีจำนวนผู้ป่วยไม่มากเรื่องนี้จะต้องเข้มข้นและไม่ควรพลาด ถือเป็นจุดสำคัญสูงสุดของจังหวัดกลุ่มนี้”

นพ.ธนรักษ์ กล่าวสรุปว่า ยุทธศาสตร์คือต้องการให้ทุกจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยน้อยจัดการสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วภายใน 14 หรือ 28 วัน ทันทีที่เจอผู้ป่วยรายแรกและทำให้ผู้ป่วยรายใหม่กลับมาเป็น 0 ให้ได้โดยเร็ว

ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นอีกระดับหนึ่งคือ 5 - 20 คน ลักษณะการทำงานยังไม่ได้แตกต่างออกไป คือจะต้องทำมาตรการและสอบสวนควบคุมโรคโดยเร็ว มาตรการเสริมอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะต้องเริ่มพิจารณาคือการพยายามให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการมาพบปะสังสรรค์หรือการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล (social distancing) ยิ่งจังหวัดที่มีการเคลื่อนย้ายภายในสูง มาตรการการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลยิ่งต้องเข้มข้น ผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องออกจากบ้านก็ไม่ต้องออกจากบ้าน

มาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ก็เพื่อลดโอกาสที่คนจะมาพบปะสังสรรค์กัน ไม่ต้องการให้มีการรวมตัวของคนหากไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นต้องจัดก็ควรจัดด้วยความระมัดระวัง กรณีผู้ที่มีอาการไอ เจ็บคอ ควรจะอยู่กับบ้านทั้งหมด มีมาตรการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลที่มาร่วมงาน

นอกจากนี้ ร้อยละ 80 ของคนที่ติดเชื้ออาจจะมีอาการน้อยและไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล และยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่อาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย แม้จะไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ว่า จะมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งมีคนให้ตัวเลขไว้ตั้งแต่ร้อยละ 2 จนถึงประมาณร้อยละ 30 สำหรับในประเทศไทย เราก็มีแนวคิดที่จะสำรวจดูว่า ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการพบได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบวิธีการตรวจหา ซึ่ง นพ.ธนรักษ์ คาดว่าไม่เกิน 3 เดือนนี้น่าจะได้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ

“สำหรับคนที่ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ การที่จะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นเป็นไปได้น้อยมาก เพราะเชื้อออกมากับน้ำลาย เวลาไอ จาม หรือพูดเสียงดังจนน้ำลายกระเด็นมาก ถ้าเป็นเพียงการพูดคุยกันธรรมดาๆ ก็ไม่ใช่ปัญหา”

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดและในกรณีที่ดีที่สุด

เวลานี้หลายคนคงอยู่รู้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า แบ่งเป็น 3 ฉากทัศน์ (scenario) ในกรณีเลวร้ายที่สุดตัวเลขไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีการคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณร้อยละ 50 ถึง 70 ในส่วนของประเทศไทยคาดการณ์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 50 นี่คือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่ไม่มีใครทำอะไรเลยและปล่อยให้การแพร่ระบาดเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อดูในรายละเอียด ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดของประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อ 37 ล้านคนภายในปีเดียว

กรณีระดับกลางจะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 21 ล้านคน โดยปีแรกมี 7 ล้านคน และปีที่ 2 อีก 14 ล้านคน

และในกรณีที่ดีที่สุด 2 ปีรวมกันจะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 9 แสนคน โดยปีแรกอาจมีผู้ติดเชื้อประมาณ 20,000 คน ปีหน้าอีกประมาณ 880,000 คน

ซึ่งจากตัวเลขขณะนี้ นพ.ธนรักษ์ เห็นว่าในกรณีที่ดีที่สุดดังกล่าวน่าจะมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย ขณะที่ตัวเลขของผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลและมีการรายงานเข้าสู่ระบบอาจจะต่ำกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างมาก (เนื่องจากผู้ติดเชื้อบางคนอาจจะไม่มีอาการและอาจไม่มาโรงพยาบาล) กรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจมีผู้ป่วยที่รายงานเข้ามาที่กรมควบคุมโรคประมาณ 1.6 ล้านคน ในกรณีระดับกลางประมาณ 1 ล้านคน และในกรณีที่ดีที่สุดน่าจะมีประมาณ 200,000 คน

“ส่วนตัวเลขคาดการณ์ในระยะสั้นถึง 15 เมษายนนี้ เลวร้ายที่สุดน่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 25,000 คน ในกรณีที่ดีที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 คน โดยคิดจากฐานว่าสามารถสร้างระยะห่างทางสังคมได้มากน้อยแค่ไหน”

นพ.ธนรักษ์ เสริมว่า สำหรับการต่อสู้กับโควิด-19 ทุกประเทศในโลกมียุทธศาสตร์เดียวกันคือชะลอการระบาดของโรคออกไปให้ยาวนานที่สุดและถ้ายุติได้ก็จะพยายามยุติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ระบบสุขภาพสามารถรับมือกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วนี้ได้

เมื่อไหร่จะจบ?

จากตัวเลขข้างต้นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทรัพยากรด้านสาธารณสุขของไทยที่มีอยู่จะเพียงพอรับมือหรือไม่? นพ.ธนรักษ์ ตอบว่า

“ที่น่ากังวลที่สุดน่าจะเป็นจำนวนเตียงของผู้ป่วยอาการรุนแรง ถามว่าพอไหม ถ้าเป็นกรณีระดับกลาง ผมคิดว่าก็ไม่น่าจะไหว เพราะฉะนั้นจะต้องวิ่งอยู่ระหว่างกรณีกลางๆ กับกรณีที่ดีที่สุด ถ้าเป็นกรณีที่ดีที่สุดนี่ไหวแน่นอน แต่ถ้าเป็นกรณีระดับกลาง ผมคิดว่าจะต้องเพิ่มอีกหลายอย่าง ซึ่งตอนนี้ผมเข้าใจว่าทางกระทรวงสาธารณสุขก็กำลังเพิ่มทรัพยากรเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ส่วนกรณีเลวร้ายที่สุดจะต้องไม่เกิดขึ้น นาทีนี้ทุกประเทศจะไม่ปล่อยให้เกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุดขึ้น แน่นอน ประเทศไทยก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นทันทีที่เราเริ่มเห็นว่าสถานการณ์เริ่มดูไม่ดี ผมคิดว่าทุกฝ่ายก็พร้อมจะใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นคือบังคับให้ทุกคนอยู่บ้าน หรือบังคับผู้คนส่วนหนึ่งอยู่กับบ้าน”

แล้วมันจะจบลงเมื่อไหร่?

สถานการณ์การแพร่ระบาดจะจบลงด้วย 2 ปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือสามารถผลิตวัคซีนได้ ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายมองว่าในกรณีที่ดีที่สุดจะได้วัคซีนตัวแรกประมาณกลางปีหน้า ถ้าการวิจัยทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่มีอุปสรรค และเป็นวัคซีนที่นำไปใช้ได้เลย

“แต่พอได้วัคซีนออกมาในตลาดแล้ว ไม่ได้แปลว่าเราจะได้วัคซีนเลย จะต้องไปต่อคิว ไม่รู้ว่าประเทศไหนจะได้วัคซีนเป็นประเทศแรก อีกอย่างหนึ่งก็ขึ้นกับว่า 3 บริษัทที่ประกาศว่าเริ่มทดลองวัคซีนระยะที่ 1 แล้ว ผลการทดลองวัคซีน จะได้ผลแล้วสามารถนำมาใช้ได้จริงหรือไม่”

ส่วนปัจจัยที่ 2 คือมีการติดเชื้อจนเกิดภูมิคุ้มกัน แต่การจบในลักษณะนี้อาจได้ผลลัพธ์ที่เลวร้าย เวลานี้ไม่มีประเทศไหนที่ทนให้โรคนี้ระบาดอย่างอิสระได้ เพราะหากเริ่มระบาดจนระบบสุขภาพเอาไม่อยู่ จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากได้

สัมภาษณ์/เขียน : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล