7 เมษายน 2562 เวลา 00.57 น.นับเป็นอีกวันที่วงการสาธารณสุขของไทยต้องสูญเสียบุคลากรที่ทรงคุณค่าไปอีกหนึ่งคน บุคคลผู้นั้นคือ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี สำหรับแวดวงเอ็นจีโอที่ทำงานด้านผู้บริโภค ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ และการเข้าถึงยา คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จักอาจารย์สำลีหรือย่านุ่น

สำหรับนักข่าวที่ติดตามประเด็นข้างต้น ก็คงคุ้นเคยกับภาพหญิงชราในชุดเสื้อแขนยาวและกระโปรงตามเวทีเสวนาต่างๆ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์การแต่งตัวของอาจารย์สำลี

และสำหรับคนในแวดวงสาธารณสุข อาจารย์สำลีอาจเป็นยิ่งกว่าอาจารย์ แต่เป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขเพื่อประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย

แม้อาจารย์สำลีจะจากไปในวัย 77 ปี แต่สิ่งที่อาจารย์ทำมาตลอดชีวิตการเป็นอาจารย์ได้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยอย่างหนักแน่น

ผศ.ภญ.สำลี ใจดี

จากสุพรรณฯ ถึงเภสัชฯ จุฬาฯ

อาจารย์สำลีเป็นลูกชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรี มีพี่น้อง 5 คน ภายหลังเรียนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนวัดใกล้บ้าน ก็เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ย่านฝั่งธน ต่อมาได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการบัญชี แต่ก็รู้ภายหลังว่าไม่ถูกจริตกับวิชานี้ จึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่งและครั้งนี้ อาจารย์สำลีสอบติดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยความที่ถูกเพาะบ่มด้านการอ่านตั้งแต่ที่บ้าน ทำให้อาจารย์สำลีรับรู้เรื่องราวรอบตัวมากกว่าเพียงเนื้อหาที่ร่ำเรียน นอกจากนี้ที่บ้านยังเลี้ยงดูลูกผู้หญิงด้วยความคิดว่าไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้ ความรอบรู้ในสถานการณ์บ้านเมืองและความมั่นใจทำให้อาจารย์ได้รับทุนจาก Rockefeller ไปเรียนต่อปริญญาโท

อาจารย์สำลีเริ่มรับราชการตั้งแต่ปี 2521 ในตำแหน่งอาจารย์คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาจึงย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ ภาควิชาสรีรวิทยา หลักสูตรเภสัชศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา 2 ครั้งในปี 2522-2524 และปี 2536-2540 จนเกษียณเมื่อดือนกันยายน 2545

ในระหว่างนี้อาจารย์สำลีได้บุกเบิกเส้นทางใหม่ๆ สำหรับวงการยาและสาธารณสุขไว้มากมาย อย่างการบุกเบิกงานวิจัยด้านเภสัชศาสตร์สังคมเป็นครั้งแรกในปี 2520 ในโครงการวิจัยการใช้ยาของชุมชน ซึ่งส่งผลต่อบทบาทของเภสัชกรในสังคมไทย ในปี 2535 อาจารย์สำลียังจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม โดยได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย ทั้งยังเป็นผู้ที่บุกเบิกวิชาการด้านเภสัชศาสตร์สังคม โดยจัดตั้งหน่วยวิชาการเภสัชศาสตร์สังคม เพื่อเตรียมการ จัดตั้งโครงการ ตั้งภาควิชาเภสัชสาธารณสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับสถาบันอุดมศึกษาอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

เภสัชเพื่อผู้คน

อาจารย์สำลีไม่ใช่นิสิตและครูที่ชอบอยู่แต่ในห้องเรียน อาจารย์เริ่มออกค่ายตั้งแต่ปี 2513 เรื่อยมา พอถึงปี 2516-2517 ก็เริ่มพูดคุยกับเพื่อนอาจารย์และลูกศิษย์ว่าหลักสูตรเภสัชศาสตร์ที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ไม่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพของคนไทย นำมาสู่การพัฒนาหลักสูตรและหนุนเสริมให้เภสัชกรออกไปทำงานในชนบทให้มากขึ้น ล่วงเลยถึงวันที่ 10 มีนาคม 2518 อาจารย์สำลี เพื่อนอาจารย์ และบรรดาลูกศิษย์ ก็ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) อาจารย์สำลีเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ waymagazine ว่า

“คือเห็นปัญหามานานแล้ว แต่ไม่ได้จังหวะ ต้องรู้ปัญหา ต้องแก้ที่ต้นเหตุ เพราะชาวบ้านเจ็บไข้ ต้องพึ่งตัวเองไปซื้อยามากิน กินแล้วเป็นโรคกระเพาะ คนไข้ไปโรงพยาบาลเกิดอาการกระเพาะทะลุเยอะมาก เลือดจาง เพราะยาที่ชาวบ้านซื้อมาเป็นยาไม่เหมาะสมทั้งสูตรตำรับ รูปแบบ คุณภาพ มาตรฐาน รวมทั้งวิธีใช้ไม่ถูกต้อง

“งาน 10 ปีแรกของกลุ่มศึกษาปัญหายา เน้นในเรื่องใช้ยาให้ถูกต้อง มีอะไรที่ทำกินเองใช้ได้เอง ไม่ต้องซื้อ เน้นพึ่งตัวเอง สู้ในเชิงจากปัจเจกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสู้ในเชิงระบบและหาเพื่อนให้มากขึ้น การทำวิจัยทำให้คนที่เข้ามาช่วยทำงานมีประสบการณ์ โดยเฉพาะพวกนิสิตเภสัชฯ จุฬาฯ จะกระตือรือร้นมาก ช่วยกันทำให้เป็น student center ถือเป็นขบวนการเรียนรู้ภาคสังคม วิชาชีพต้องทำอะไรเพื่อช่วยกันพัฒนาคนและช่วยกันแก้ไขปัญหาสาธารณสุข

“งานในช่วงทศวรรษที่ 2 ของกลุ่มศึกษาปัญหายาเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เน้นทำงานเชิงระบบมากขึ้น ลงพื้นที่ไปเจาะปัญหา พร้อมๆ กับที่รัฐบาลสหรัฐมากดดันเรื่องแก้ พ.ร.บ.สิทธิบัตร เพราะฉะนั้นจึงร่วมกันลุยงานทุกระดับ... ลุยปัญหาในพื้นที่แล้วนำเสนอการแก้ปัญหาเชิงระบบ ทำกันแบบองค์รวม เพราะทำเรื่องสุขภาพอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ ระบบและขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องยาเหล่านี้ ถือเป็นต้นแบบของขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมไทย

อาจารย์สำลีชอบที่จะพาลูกศิษย์ไปทำค่ายอาสาในชนบทเพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้เรื่องราวนอกห้องเรียน รับรู้ความเป็นไปของสังคมไทย การใช้ยาแบบผิดๆ จากความยากจน ความไม่รู้ และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ผลิตและขายยา ค่อยๆ ขยับขับเคลื่อนอย่างอดทนกระทั่งส่งผลต่อระดับนโยบายในที่สุด

เปิดโปงทุจริตยา 14,000 ล้าน

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวถึงอาจารย์สำลีว่า

“ต้องบอกว่าอาจารย์สำลีมีบทบาทในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในยุคต้นๆ สิ่งที่เรียกว่าเป็นความสำเร็จก็คือการผลักดันการใช้ยาที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่ขึ้นทะเบียนยาที่เป็นอันตรายต่อประชาชน แล้วก็นำมาสู่การใช้ที่เหมาะสม การเข้าถึงยาราคาแพง สิทธิบัตรยา จนกระทั่งว่าด้วยเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ดิฉันคิดว่าอาจารย์สำลีทำเรื่องพวกนี้กับองค์กรเอกชนทั้งด้านสุขภาพและผู้บริโภคเยอะมาก

“ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ตั้งแต่เรื่องยาทัมใจ ยาแก้ปวดหาย สุดท้ายยาทัมใจเปลี่ยนจาก 3 สูตรจนเหลือ 1 สูตร อาจารย์สำลีอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง แล้วก็มาถึงเรื่องชื่อสามัญทางยา การเข้าถึงยาที่จำเป็น เป็นส่วนที่อาจารย์สำลีทำงานกับพวกเราในเชิงการคุ้มครองผู้บริโภคมาก”

นอกจากบทบาทการทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายแล้ว อาจารย์สำลียังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดโปงทุจริตยา 14,000 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้นักการเมืองที่เกี่ยวข้องต้องถูกจำคุก ตรงนี้สารีเล่าว่า

“เรื่องทุจริตยา อาจารย์สำลีอยู่ในกระบวนการอย่างชัดเจน อาจารย์นำลูกศิษย์อาจารย์ที่มีโอกาสรับรู้การสั่งการให้ซื้อ แล้วก็พาลูกศิษย์ที่มีฝีมือด้านการสืบสวนมาช่วย เรียกว่าคนหนึ่งนำข้อมูลมาเปิดเผยเป็นแกนหลักของเภสัชชนบท อีกคนหนึ่งก็มีบทบาทสืบสวน ไล่ข้อเท็จจริง จนกระทั่งมีผลในทางปฏิบัติ โดยที่อาจารย์สำลีเป็นตัวเชื่อมประสานทุกส่วนให้ร่วมพูดคุย และคอยประสานงานกับพื้นที่ต่างๆ เรียกว่าทั้งคอยดัน คอยส่งให้พวกเราเคลื่อนไหว”

อาจารย์สำลี ผู้มาก่อนกาล

นอกจากเรื่องยาแล้ว อาจกล่าวได้ว่าอาจารย์สำลีเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มมองเห็นพิษภัยของการค้าเสรีที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทย และชักชวนคนทำงาน เครือข่ายยา มาร่วมแลกเปลี่ยนและศึกษาผลกระทบในมิติต่างๆ จนอาจารย์สำลีได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานถาวรกลุ่ม FTA Watch'

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนหรือ FTA Watch เล่าว่า

“กลุ่ม FTA Watch ไม่ใช่องค์กร พวกเราเป็นแค่เครือข่ายขององค์กรคนทำงานภาคประชาสังคมที่ติดตามการเจรจาการค้าเสรีที่มีผลกระทบในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงยา กระทบต่อสถานทรัพยากรธรรมชาติความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบต่อผู้บริโภคสิ่งแวดล้อม และการกำหนดนโยบายสาธารณะ พวกเรามารวมตัวกันได้ด้วยปัจจัยหลัก เพราะมีแกนนำหญิงแกร่งอย่างอาจารย์สำลี ใจดี

“อาจารย์ชักชวนทุกคน ทุกองค์กร ทุกเครือข่ายมาตั้งวงคุยกันถึงการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนรูปแบบจากพหุภาคี แบบการเจรจาในองค์การการค้าโลกหรือ WTO แปลงรูปเป็นแบบทวิภาคีหรือ FTA ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาแทบไม่มีอำนาจต่อรอง”

กรรณิการ์ กล่าวว่า ณ เวลานั้นหลายคนยังไม่แน่ใจ ยังสงสัย ยังมองว่าอาจารย์สำลีวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ แต่...

“แต่อาจารย์ในฐานะที่เคยฟาดฟันกับรัฐบาลสหรัฐฯและอุตสาหกรรมยาข้ามชาติอย่างโชกโชนไม่ได้วิตกจริตเกินจริง ซึ่งนั่นทำให้ข้อมูลและบทวิเคราะห์ของ FTA Watch มีน้ำหนักและตรงประเด็น จนนำไปสู่การผลักดันภาครัฐให้ต้องตระเตรียมการเจรจาที่ดีขึ้น รวมถึงการสร้างกระบวนการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่พอจะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้จริง ไม่ใช่ผลได้กระจุก ผลเสียกระจาย คนฉิบหายคือคนเล็กคนน้อย ดังที่เคยเป็นมา”

การทำงานของอาจารย์สำลีเป็นงานขับเคลื่อนความรู้โดยมีหลักการว่า

1.วิเคราะห์ข้อมูลความรู้ รู้จริง รู้เท่าทัน รู้ทั่วกัน

2.หาพันธมิตร ภาคีร่วมสู้

3.เชื่อมสื่อมวลชน

4.ใจสู้ ยืนหยัด สู้ไม่ถอย ทำงานแบบกัดไม่ปล่อย

“อุปสรรคและความล้มเหลวที่พวกเราเผชิญมีอยู่เป็นระยะ แต่ทุกครั้ง อ.สำลีจะบอกพวกเราด้วยดวงตาที่มุ่งมั่นและน้ำเสียงที่เข้มแข็งว่า เราแพ้ตรงไหน เราไม่เคยแพ้ มันคือชัยชนะสะสม มันขยับดีขึ้นๆ ตลอด” กรรณิการ์ กล่าว

ต้องบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของการทำงานตลอด 40 กว่าปีของอาจารย์สำลีเท่านั้น มีอีกหลายต่อหลายสิ่งที่เราไม่สามารถจารึกได้หมดในที่นี้

.....

สารีกล่าวทิ้งท้ายว่า

“อาจารย์สำลีอาจเรียกว่าเป็นต้นแบบของคนทำงานในวงการสาธารณสุขที่สำคัญ อาจารย์เป็นพวกที่ทำจริงจัง ทำต่อเนื่อง อาจารย์สำลีทำให้เกิดแรงบันดาลใจของคนที่ทำงานทางสังคม มันมีผลต่อตัวดิฉันมากในเชิงการต่อสู้ ไม่หวั่นต่อสิ่งที่มาคุกคามต่างๆ แล้วเวลาเราเห็นอาจารย์สำลีทำงาน เรารู้สึกว่ามันทำให้เราหยุดไม่ได้ เพราะอาจารย์ทำมากกว่าเราอยู่ตลอดเวลา เราทำน้อยกว่าอาจารย์สำลีไม่ได้ มันก็เป็นแรงบันดาลใจ ทำให้คนรุ่นหนึ่งต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ เพราะอาจารย์สำลียังเข้มแข็งขนาดนี้เลย เป็นต้นแบบสำหรับดิฉันและผลักดันให้ทำงานทางสังคม บางคนอาจจะรู้สึกว่าอาจารย์ดุ แต่ดิฉันไม่เคยคิดว่าอาจารย์ดุเลย อาจารย์สำลียังเป็นนักยุทธศาสตร์ อาจารย์มีทั้งบู๊และบุ๋นอยู่ในตัว ที่สำคัญอาจารย์จะทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานด้านสุขภาพมีแรงบันดาลใจ”

ผู้เขียน: กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล