การทำงานในวิชาชีพพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย

พวกเขาต้องทำงานในชั่วโมงยาวนาน พบความกดดันจากนาทีชีวิตของคนไข้ และยังเจอความเสี่ยงจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดนผู้ป่วยทำร้าย หรือประสบอุบัติเหตุทางถนนระหว่างปฏิบัติการนำส่งคนไข้

แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก

ที่ผ่านมา เราจะได้ทราบข่าวการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลของ รพ.ขณะส่งต่อผู้ป่วยอยู่เสมอๆ ส่งผลให้พยาบาล คนไข้ ญาติคนไข้ พนักงานขับรถ เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือพิการ อยู่เนือง

กรณีรถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุถูกรายงานข่าวเป็นระยะ ในปี 2555 เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน เมื่อรถตู้ฉุกเฉินรพ.แม่สอด จ.ตาก ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำในพื้นที่ จ.ลำปาง ขณะรถวิ่งกลับหลังจากการนำส่งผู้ป่วยในจ.เชียงใหม่ เป็นเหตุให้พยาบาลหญิง พัชรี อุดมา ต้องกลายเป็นอัมพาต

การรวบรวมข้อมูลจากรายงานประจำปีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่าในระหว่างปี 2547-2559 มีผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขส่งคำขอค่าชดเชยความเสียหายระหว่างปฏิบัติงานเป็นจำนวน 5,491 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท

ความเสียหายที่พบบ่อยที่สุดคือการติดเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วย คิดเป็น 30% ของคำร้องทั้งหมด รองลงมาคือโดนผู้ป่วยทำร้าย คิดเป็น 26% ขณะที่กรณีประสบอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงานคิดเป็น 4%

นอกจากนี้ ความเสียหายเกิดกับพยาบาลมากที่สุด คิดเป็น 50% ของผู้ส่งคำร้องทั้งหมด

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นพยาบาลออกมาเรียกร้องสวัสดิการและสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นธรรมอยู่บ่อยครั้ง

ก่อนหน้านี้​ ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายระหว่างปฏิบัติงาน​ สามารถทำเรื่องขอค่าชดเชยจาก สปสช.

แต่ภายหลังปี 2559 เป็นต้นมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กลับมีคำสั่งระงับการจ่ายชดเชยค่าเสียหายดังกล่าว ด้วยเหตุว่าเป็นการใช้เงิน “ผิดวัตถุประสงค์”

คำสั่ง สตง.เป็นผลพวงมาจากกรณีความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสปสช. โดยผู้บริหารสธ.ในขณะนั้นได้ร้องเรียนไปยังรัฐบาล ขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สปสช. เพราะอาจเข้าข่ายทุจริต

สตง.จึงเป็นตัวกลางเข้ามาตรวจสอบและระงับการใช้จ่ายเงินในบางหมวด รวมถึงค่าชดเชยความเสียหายแก่บุคลากรทางการแพทย์

แม้ผลตรวจสอบสรุปแล้วว่าไม่พบพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริต แต่คำสั่งระงับยังอยู่

ร้อนถึงสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ต้องทำเรื่องขอให้กระทรวงการคลังเร่งออกระเบียบเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการให้บริการในเบื้องต้น

โดยยื่นเรื่องไปตั้งแต่ต้นปี 2558 จนกระทั่งออกระเบียบได้ในวันที่​ 29​ มี.ค.61 ด้วยความพยายามตามเรื่องอย่างต่อเนื่องของเหล่าพยาบาลผู้ไม่ย่อท้อ

เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความสูญเสียระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ พยาบาลหลายรายต้องพิการ ไม่มีสวัสดิการดูแลเหมือนทหารและตำรวจ แม้โรงพยาบาลต้นสังกัดจะมีเงิน แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจไม่สามารถสั่งจ่ายเงินช่วยเหลือได้เพราะไม่มีระเบียบรองรับ

เมื่อตอนนี้มีระเบียบแล้ว​ หวังว่าพยาบาลวิชาชีพและผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขจะได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม​ ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่ยังคาราคาซัง​ รวมทั้งเรื่องค่าตอบแทนพยาบาลที่ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ทั้งที่สภาพการทำงานต้องพบกับความเสี่ยงรอบด้าน

ได้แต่หวังว่า ผู้บริหารระดับสูงทั้งหลายจะเป็นความสำคัญของสวัสดิภาพพยาบาล​ และพัฒนาสวัสดิการให้ดียิ่งขึ้น​

เพราะหากขาดพยาบาล โรงพยาบาลก็เดินหน้าไม่ได้เช่นกัน