New England Journal of Medicine เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2020

สรุปภาพรวมจากผู้ป่วยจำนวน 1,099 ราย อายุเฉลี่ยประมาณ 47 ปี แต่มีคนติดเชื้อทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนสูงอายุ เป็นเพศหญิงราว 40%

ที่น่าสนใจมากคือ มีผู้ป่วยถึง 1 ใน 4 (26%) ที่ไม่มีประวัติเสี่ยง ทั้งการเดินทางหรือติดต่อกับคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง

มีคนเพียง 2% ที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ป่า

ระยะฟักตัวของโรคเฉลี่ย 4 วัน

ไข้: ตรวจเจอแค่ 44% ในช่วงแรก แต่ระหว่างการดูแลรักษาจะเจอ 89%

ไอ: ผู้ป่วยจะมีอาการนี้ถึง 68%

มีอาการรุนแรง: 15% โดยคนที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว (เช่น ความดันโลหิตสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง) จะมีโอกาสที่จะติดเชื้อ COVID-19 แล้วเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนไม่มีโรคประจำตัว 2 เท่า

CT scan: ตรวจพบความผิดปกติในปอดของผู้ป่วยถึง 86%

ถ้าทำทั้งเอกซเรย์ปอดและ CT scan จะมีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพียง 3% ที่ไม่พบความผิดปกติ แต่ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงจะไม่พบความผิดปกติราว 15%

การตรวจเลือด: พบว่ามีผู้ป่วยถึง 83% จะมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ต่ำกว่าปกติ

การรักษา:

- กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณหนึ่งในสาม (32%)

- ยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐาน

- โดยเฉลี่ยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 12 วัน

สิ่งที่ไทยควรพิจารณา:

1. ทบทวนระบบการคัดกรองโรคในปัจจุบัน เพราะโอกาสที่คนติดเชื้อ COVID-19 จะไม่มีไข้ และไม่มีประวัติเสี่ยงนั้นมีพอสมควร

2. ทบทวนนโยบายการเดินทางเข้าออกประเทศโดยเสรีของกลุ่มคนจากประเทศที่มีการระบาดรุนแรง

3. พิจารณาสั่งการงดการจัดงานที่มีคนจำนวนมาก ไม่ควรเกรงกลัวต่ออิทธิพลทางการเมือง หรือเห็นแก่เม็ดเงินซึ่งหน้า เพราะผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคระบาดนั้นใหญ่หลวงนัก และพอเกิดขึ้นมาแล้ว เราคงพอคาดเดาได้ว่า พวกที่ได้หน้าได้เงินก็เปิดตูดหนีหายเข้ากลีบเมฆไปโดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ

ด้วยรักต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

Guan W et al. Clinical Characteristics of Coronavirus Disease 2019 in China. N Engl J Med, 28 February 2020.

ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวซินหัว