คำถามข้างต้นดูจะเป็นหนึ่งในคำถามสำคัญที่หลายต่อหลายคนพยายามศึกษาอยู่

ไวรัสนี้ระบาดอย่างน่ากลัวจากจีนไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ปัจจุบันทุกทวีปมีคนที่ติดเชื้อกันโดยถ้วนทั่วแล้ว ไม่รอดสักทวีป

ล่าสุดมีการรายงานว่า ตรวจพบเชื้อไวรัสในสุนัขในประเทศฮ่องกง แต่ผลออกมาเป็นบวกแบบอ่อน ๆ ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะฟันธงแน่นอนได้หรือไม่

ตอนนี้หากดูข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในมือเรา จะพบว่า เราพยายามทำความเข้าใจกลไกการติดเชื้อไวรัสได้มากขึ้นทีละน้อย ๆ

เรารู้ว่า ไวรัสนี้ติดเชื้อเข้าไปในปอดคน โดยอาศัยตัวรับที่เรียกว่า Angiotensin Converting Enzyme 2 receptor (ACE2)

มีรายงานก่อนหน้านี้แล้วว่า คนเอเชียมีตัวรับนี้มากกว่าคนตะวันตกผิวขาวและคนแอฟริกัน-อเมริกัน ถึง 5 เท่า และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งในการอธิบายว่าเหตุใดที่ผ่านมาคนเอเชียจึงติดเชื้อในจำนวนที่เยอะกว่าฝรั่งมากมายหลายเท่า นอกเหนือไปจากคำอธิบายว่าจุดเริ่มต้นการระบาดมาจากเอเชีย

สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ ว่ามีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้ด้วยหรือไม่?

Wan Y และคณะได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยใน Journal of Virology ในวันที่ 29 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา

เค้าทำการศึกษาเกี่ยวกับไวรัสนี้และตัวรับ ACE2 ในสัตว์ต่าง ๆ และพบว่า สัตว์ต่าง ๆ ที่อาจสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้ได้เช่นกันคือ หมู ตัวเฟอเร่ แมว อุรังอุตัง และลิง ทั้งนี้คาดว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ก็จะมีตัวรับ ACE2 ที่ไวรัสนี้น่าจะสามารถไปจับและทำให้ติดเชื้อได้

ในขณะที่หนูจะไม่ติดเชื้อไวรัสนี้ เพราะมีตัวรับ ACE2 ที่ผิดไปจากสัตว์ต่าง ๆ ข้างต้น โดยมี Histidine มาอยู่ที่ตำแหน่ง 353 ทำให้ไวรัสไม่สามารถมาจับกับตัวรับ ACE2 ของหนูได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟันธงได้ว่า ไวรัสโคโรนา 2019 นี้จะติดต่อและแพร่ระบาดได้จริง คงต้องช่วยกันศึกษาต่อไป

ตอนนี้เป็นช่วงที่ทุกคนต้องมีสติ ใช้ปัญญาในการคิดไตร่ตรองและตัดสินใจปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน

ลดการไปตะลอนข้างนอกโดยไม่จำเป็น...

กินอาหารร้อน ๆ...

ล้างมือบ่อย ๆ...

พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัว หากมี...

ดูแลตนเองและคนในครอบครัวให้ดี หากมีสัตว์เลี้ยงก็อย่าปล่อยไปเพ่นพ่านข้างนอกโดยไม่จำเป็นนะครับ เพราะเค้าก็เป็นสมาชิกในครอบครัวเช่นกัน

ด้วยรักต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

Wan Y et al. Receptor recognition by novel coronavirus from Wuhan: 3 An analysis based on decade-long structural studies of SARS. J Virol. 29 January 2020. doi:10.1128/JVI.00127-20