มีการทบทวนองค์ความรู้จากการศึกษาติดตามมาตรการในการจัดการปัญหาคุณภาพอากาศในกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ตั้งแต่ปี 1995-2015

จากการสืบค้นงานวิจัยกว่า 1,600 เรื่องจากฐานข้อมูลวิชาการทั่วโลก เพื่อหาคำตอบว่า มาตรการใดจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศได้บ้าง

พบว่าหลักฐานวิชาการที่มีอยู่ในปัจจุบัน กว่าร้อยละ 80 จะศึกษาในเขตเมือง ในขณะที่ีเขตชนบทยังมีการศึกษาค่อนข้างน้อย ดังนั้นการจะนำข้อมูลต่อไปนี้ไปใช้ จึงควรพิจารณาประยุกต์ใช้กับเขตเมืองเป็นหลัก

มีข้อสรุปดังนี้

หนึ่ง "ระเบียบวินัยนั้นสำคัญยิ่ง" พื้นที่หรือประเทศที่มีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ ก็จะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา

ดังนั้นหากมีแนวทาง มีกฎ มีระเบียบ มีนโยบายอะไรออกมา ถ้าคนเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ก็ย่อมเกิดผลดี แต่หากมีอะไรแนะนำออกมามากมายแต่บังคับใช้ไม่ได้ ก็ย่อมไม่เกิดผล

สอง "มาตรการด้านพลังงานนั้นได้ผลต่อทั้งเรื่องปัญหาคุณภาพอากาศ (Air quality) และปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change)"

มีอย่างน้อย 3 การศึกษา ที่ชี้ให้เห็นว่า นโยบายการจัดการควบคุมการปล่อยคาร์บอนของยานพาหนะนั้นได้ผล ทั้งในแง่ลดแก๊สพิษในอากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ควันดำ และฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ

ในขณะที่การจำกัดหรือห้ามขายถ่านหินนั้นจะช่วยให้พื้นที่นั้นๆ ลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลงถึงร้อยละ 33.8

สาม "มาตรการเกี่ยวกับการจราจรช่วยเรื่องคุณภาพอากาศได้จริง"

มีอย่างน้อย 3 มาตรการหลัก ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล ได้แก่

1) การเก็บภาษีหรือค่าเข้าพื้นที่แออัด (Congestion tax system or Congestion charging)

มาตรการนี้เริ่มทำตั้งแต่ปี 1975 ในประเทศสิงคโปร์ และต่อมามีการทำในประเทศอื่นๆ เช่น ในกรุงสต็อกโฮมส์ ประเทศสวีเดน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถลดทั้งไนโตรเจนออกไซด์ได้ร้อยละ 12 และลดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ร้อยละ 7 ภายในระยะเวลาที่ดำเนินมาตรการตั้งแต่ 2003-2007 ในขณะที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษก็นำมาตรการนี้ไปดำเนินการในเวลาต่อมา และได้ผลดีในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน

2) การจัดพื้นที่ในลักษณะ Low Emission Zone หรือการกำหนดให้ยานพาหนะที่จะเข้าพื้นที่นั้นจะต้องมีไอเสียที่ปล่อยออกมาอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด หากเกินกำหนดจะถูกปรับ

มาตรการนี้มีการดำเนินการไปแล้วมากกว่า 200 พื้นที่ในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป เช่น เบอร์ลิน ลอนดอน ลิสบอน และโรม เป็นต้น

มีการประเมินในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันแล้วพบว่า สามารถลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ได้ร้อยละ 10 และลดอนุภาคจากการเผาไหม้ของน้ำมันดีเซลลงไปได้ถึงร้อยละ 58

ส่วนที่โรม ประเทศอิตาลี ประเมินพบว่าสามารถลดไนโตรเจนออกไซด์ลงได้ร้อยละ 23 และลด PM10 ลงได้ร้อยละ 10

3) การกำหนดให้รถยนต์ต้องติดตั้งอุปกรณ์ลดไอเสีย ที่เรียกว่า Vehicle Exhaust Catalyst (VEC)

มาตรการนี้ได้รับการนำไปใช้มากในยุโรป โดยมีการประเมินผลในสหราชอาณาจักร พบว่าสามารถช่วยลดไนโตรเจนออกไซด์ลงได้ร้อยละ 20, ลดฝุ่นละออง PM10 ลงได้ร้อยละ 10, ลดสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC: Volatile Organic Compounds) ลงได้ร้อยละ 30 และลดคาร์บอนมอน็อกไซด์ลงได้ถึงร้อยละ 70

นอกเหนือจากมาตรการต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ประเทศในยุโรปยังมีการดำเนินมาตรการอื่น ๆ แต่ยังได้ผลที่ไม่ชัดเจนมากนัก หรือดำเนินการเพียงในช่วงเวลาสั้นๆ อาทิ การจำกัดการจราจรในบางพื้นที่ หรือจำกัดการเดินทางในบางวันบางเวลา

ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เคยมีการทดลองทำในช่วงเวลาสั้นๆ ราว 3 วัน และพบว่าสามารถลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้ง PM10 และ PM2.5 ได้ไม่มากนัก

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอให้ดำเนินมาตรการสร้างถนนบายพาสพื้นที่แออัด แต่ยังขาดการประเมินผลเกี่ยวกับมาตรการนี้

แม้งานวิชาการจะชี้ให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ น่าจะช่วยเรื่องปัญหาคุณภาพอากาศได้ แต่เหนืออื่นใด เราแต่ละคนในสังคมก็สามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้เช่นกัน

ลด ละ เลิก การจุดไฟเผาสิ่งต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดมลพิษ

ใช้ยานพาหนะส่วนตัวเท่าที่จำเป็น หากวันใดเวลาใดสามารถใช้ขนส่งสาธารณะได้ก็น่าจะดี

ดูแลตนเอง ลูกหลาน และคนใกล้ชิด ด้วยการหลีกเลี่ยงเดินทางไปในที่ที่มีปัญหาฝุ่นละอองมาก ถ้าต้องเข้าไป ก็ควรหาอุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น ใส่หน้ากาก

บริษัทห้างร้าน โรงเรียน หรือหน่วยงานต่าง ๆ อาจลองวิเคราะห์เนื้องานที่จำเป็น และลองดูว่า ฤดูหนาวในปีถัดไป เราจะมอบหมายให้ลูกจ้าง บุคลากร นักเรียนนิสิตนักศึกษา สามารถเรียนและทำงาน โดยไม่ต้องเดินทางฝ่าฝุ่นได้บ้างไหม อย่างไร

ผู้ประกอบกิจการค้าขายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น ควรเลือกจำหน่ายแต่อุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ไม่โฆษณาโอ้อวดเกินจริง ไม่หลอกลวงประชาชน เพราะแค่สภาวะปัจจุบันคนในสังคมก็เผชิญปัญหามากอยู่แล้ว อย่าทำบาปจากการหลอกลวงกันอีกเลย

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

Wang L et al. Air Quality Strategies on Public Health and Health Equity in Europe: A Systematic Review. Int J Environ Res Public Health, 2016;13:1196. Doi:10.3390/ijerph13121196.

ขอบคุณภาพจาก Greenpeace Thailand