คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ มีมติเห็นชอบผลักดันการเข้าถึงระบบบริการเลิกบุหรี่แบบครบวงจรด้วยยาช่วยเลิกบุหรี่ในกลุ่มผู้ประกันตน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 1/2563 โดยในวันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ของขวัญปีใหม่คนไทยสุขภาพดี “สนับสนุนการเข้าถึงระบบบริการเลิกบุหรี่แบบครบวงจรสำหรับผู้ประกันตน” โดยให้กรมควบคุมโรค ประสานกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดำเนินการส่งเสริมการเข้าถึงระบบบริการเลิกบุหรี่แบบครบวงจรสำหรับผู้ประกันตน ด้วยยา Varenicline ช่วยเลิกบุหรี่ มีประสิทธิภาพสูงสุด มีผลข้างเคียงน้อยมาก เพื่อเพิ่มโอกาสการเลิกบุหรี่สำเร็จได้มากขึ้น และมอบให้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการพัฒนาให้สถานพยาบาลในสังกัดที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานประกันสังคมจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แบบครบวงจร
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เป็นผู้สูบบุหรี่มีจำนวนมากกว่า 2.9 ล้านราย โดยผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิก หรือเคยพยายามเลิกสูบแล้วมีมากถึงประมาณ 1.8 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดในประเทศ ซึ่งกลุ่มวัยแรงงาน วัยทำงานในระบบประกันสังคมถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่โอกาสในเข้าถึงระบบบริการเลิกบุหรี่ยังน้อย มีการพัฒนาระบบบริการเลิกบุหรี่แบบครบวงจร จะทำให้ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทย ลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ของวัยแรงงาน
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า รูปแบบการสนับสนุนการเข้าถึงบริการการเลิกบุหรี่แบบครบวงจรสำหรับผู้ประกันตนที่เข้าร่วมโครงการ มีเกณฑ์ดังนี้ 1.เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวานระยะที่ต้องพึ่งยา โรคความดันโลหิตสูง 2.มีความตั้งใจที่จะเลิกยาสูบ 3.ได้รับการประเมินว่าติดหนัก คือสูบบุหรี่อย่างน้อย 20 มวน/วัน หรือสูบมวนแรกภายใน 30 นาทีหลังตื่นนอน โดยจะคัดกรองผู้ประกันตนที่มาใช้บริการในคลินิกเลิกบุหรี่ หากเข้าเกณฑ์จะได้รับยาช่วยเลิกบุหรี่ Varenicline โดยจะมีการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2560 คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 72,656 ราย ทำให้เกิดค่าสูญเสียจากเศรษฐกิจ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล 77,626 ล้านบาท ค่าขาดรายได้จากการเจ็บป่วย 11,762 ล้านบาท ค่าความสูญเสียจากการตายก่อนวัยฯ 131,073 ล้าน รวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 20,565 บาท ต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คนต่อปี
- 352 views