"กูติดรึยังวะ" เป็นคำถามยอดฮิตที่พบเจอได้ตามโซเชียลมีเดียและบทสนทนาในชีวิตประจำวันในช่วงนี้ เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างกระแสความหวาดกลัวแก่ผู้คนในสังคมอย่างมาก คนที่ไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ ก็พาลระแวงไปหมดว่าตัวเองติดเชื้อแล้วหรือยัง ครั้นจะไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลของรัฐก็ยากถ้าไม่เข้าเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือจะไปตรวจกับโรงพยาบาลเอกชนก็มีค่าบริการแพง ทำให้คนที่รู้สึกไม่สบายใจต้องขนขวายหาวิธีเอาเองด้วยการซื้อชุดตรวจที่ขายกันทางออนไลน์มาตรวจด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่าประชาชนไม่ควรหาซื้อชุดตรวจเชื้อมาตรวจเองเพราะอาจเกิดความผิดพลาดในการแปลผล พร้อมย้ำว่าการแปลผลตรวจเชื้อต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการตรวจสอบหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่าขอแนะนำประชาชนไม่ควรซื้อชุดตรวจมาตรวจเองเพราะอาจเกิดความสับสนในการแปลผล และแม้ว่าผลตรวจเป็นลบก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดเชื้อ
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงวิธีตรวจวินิจฉัยโรคว่าหลักๆ มี 2 แบบคือ 1.ตรวจหาเชื้อหรือแอนติเจน และ 2.ตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้ ซึ่งไม่ว่าการตรวจชนิดใดก็ตาม ต้องตรวจในเวลาที่เหมาะสม เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีช่วง window period หรือช่วงที่ตรวจหาไม่เจอ ประมาณ 3-5 วันหลังได้รับเชื้อ ยิ่งถ้าเป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน จะมีช่วง window period นานกว่าตรวจหาเชื้อโดยตรงเสียอีก ต่อให้ชุดตรวจที่ดีมากๆ ก็ยังต้องนานกว่า 5 วัน บางชุดตรวจใช้เวลา 2 สัปดาห์ ดังนั้นการตรวจแล้วผลเป็นลบ ไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้อ
"ณ วันนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตรวจหาเชื้อ ซึ่งใช้เวลา 3-5 วันหลังติดเชื้อจึงจะหาเจอ ส่วนชุดตรวจแอนตี้บอดีที่อาจจะออกมาในอนาคต เป็นสิ่งที่บอกว่าท่านเคยได้รับเชื้อ เชื้ออาจหมดไปแล้วแต่ภูมิคุ้มกันยังอยู่ได้นาน ดังนั้น หากตรวจด้วยชุดตรวจหาภูมิคุ้มกันแล้วผลเป็นบวก อาจต้องไปตรวจเพิ่มเติมอีก" นพ.ศุภกิจ กล่าว
รองปลัด สธ. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีชุดตรวจหาเชื้อที่มาขอขึ้นการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้รับรองเบื้องต้นไป 2+2 ราย กล่าวคือรับรอง 2 รายและอีก 2 รายเป็นการรับรองแบบมีเงื่อนไข ขณะที่ชุดตรวจหาภูมิคุ้มกัน มีขอการรับรองมา 17 ผลิตภัณฑ์ รับรองไปแค่ 2 ผลิตภัณฑ์ และทั้งหมดนี้ยังต้องไปผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกครั้ง
"สิ่งที่อยากสื่อกับประชาชนคือถ้าตรวจโดยไม่มีความเข้าใจ อันนี้เป็นอันตราย ถ้าตรวจไม่พบไม่ได้แปลว่าไม่ได้ติดเชื้อ เพราะอาจอยู่ในช่วง window period ที่หาไม่เจอ หรือถ้าตรวจพบก็ไม่ได้แปลว่าเป็นโรค แต่อาจเป็นเพราะเคยติดเชื้อและหายไปแล้ว" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาขายชุดตรวจหาเชื้อว่าเป็นแบบ Rapid Test ความหมายของ Rapid Test คือบอกว่าขั้นตอนการตรวจตั้งแต่ต้นจนจบนั้นเร็ว แต่ไม่ได้แปลว่าจะรู้ว่าจะติดเชื้อได้เร็ว และแม้จะเป็นชุดตรวจที่ผ่านการรับรองแล้วก็ไม่แนะนำให้ซื้อมาตรวจเอง เพราะการตรวจโดยไม่มีความเข้าใจจะทำให้เกิดความวุ่นวายสับสน
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้อัพโหลดคลิปอธิบายขั้นตอนวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้ง 2 วิธี โดย ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 เป็นคนแรก อธิบายว่า ในส่วนของการตรวจหาเชื้อโดยตรงนั้น เมื่อเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจที่ได้มาจากจมูก คอ หรือเสมหะ ส่งมาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว อย่างแรกเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องว่าตัวอย่างที่ส่งมาถูกต้องตามใบนำส่งหรือไม่ จากนั้นจะส่งตัวอย่างเข้าห้องปฏิบัติการชีวะนิรภัยระดับ 2 โดยมีการใส่ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ใส่หน้ากาก N95
ดร.พิไลลักษณ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะสกัดสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธี PCR หลังจากนั้นจะติดตามตัวเชื้อได้โดยการเพิ่มปริมาณของเชื้อเพื่อให้เห็นได้ชัดๆ โดยมีตัวตั้งต้นและตัวติดตามเพื่อดูปริมาณที่เพิ่มขึ้นของเชื้อ ถ้ามีเชื้อ สัญญาณเส้นฟลูออเรสเซนต์ในเครื่องทดสอบจะแสดงผลค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้นคล้ายตัว S แต่ถ้าไม่มีเชื้อจะไม่เห็นสัญญาณใดๆ เส้นสัญญาณจะแบนราบ
"การแปลผล ถ้าไม่มีสัญญาณใดๆ จะรายงานว่าไม่พบสารพันธุกรรม หรือ ผลลบ แต่ถ้ามีสัญญาณเส้นฟลูออเรสเซนต์สูงขึ้น จะแปลผลว่าเป็นผลบวก มีการติดเชื้อ" ดร.พิไลลักษณ์ กล่าว
ทั้งนี้ การตรวจในห้องปฏิบัติการจะไม่ได้ตรวจเฉพาะตัวเชื้อเท่านั้น แต่ยังตรวจหาเชื้อในสารพันธุกรรมของมนุษย์ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าถ้าผลเป็นลบในตัวอย่างนั้นๆ จะเป็นผลลบจริงๆ
ขณะที่ ดร.บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ หัวหน้าสำนักวิชาการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในส่วนของการตรวจหาภูมิคุ้มกันว่า ปัจจุบันมีชุดตรวจแบบ Rapid Test เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังจากรับไวรัสไปแล้ว 5-7 วัน ทั้งนี้ภูมิคุ้มกันมี 2 ชนิดคือ IgM และ IgG ขึ้นอยู่กับชุดตรวจนั้นว่าใช้กับ IgM หรือ IgG หรือตรวจทั้ง 2 ชนิด
"ชุดตรวจจะมีลักษณะเป็นตลับ เมื่อเจาะเลือดแล้ว ก็หยดเลือดลงไป จากนั้นหยดสารที่จะพาเลือดลงไปในตลับ บนตลับจะเคลือบสารบางอย่างเพื่อให้ตรวจหาภูมิคุ้มกันได้ จากนั้นหยดสารละลายตัวที่สอง เสร็จแล้วทิ้งไว้ 15-30 นาที ก็เฝ้าดูว่ามีแถบสีเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีแถบสีเกิดขึ้นแปลความว่าเป็นผลบวก" ดร.บุษราวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ดี ขอย้ำว่าการอ่านผลแปลผลต้องทำโดยบุคคลากรทางการแพทย์เท่านั้น เพราะแถบสีอาจไม่ชัด อาจมีสีลางๆ ซึ่งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านผล และน้ำยาเหล่านี้ก็ต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว ถ้าเป็นน้ำยาที่มีขายในโซเชียลมีเดีย ยังไม่ได้ผ่านการอนุญาตจาก อย. ก็ต้องระวังด้วย
- 88 views