Shi S และคณะได้ตีพิมพ์งานวิจัยเพื่อประเมินแนวโน้มการแพร่กระจายข่าวลวงเรื่องกัญชารักษามะเร็ง ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ Cureus เดือนมกราคม 2019
เค้าวิเคราะห์โดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลโดยใช้ Google trends ตั้งแต่ปี 2011-2018 ในประเทศสหรัฐอเมริกา
พบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างทีเดียว
1. มีการค้นหาเรื่องกัญชารักษามะเร็งมากกว่าการค้นหาวิธีรักษามะเร็งแบบมาตรฐานถึง 10 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่เปิดเสรีกัญชาหรือปลดล็อคกฎหมาย
2. ในบรรดาข่าวที่เผยแพร่เกี่ยวกับวิธีการรักษามะเร็งแบบทางเลือกนั้น มีกัญชาถึงราวหนึ่งในสี่
3. ข่าวลวงตัวท็อปเรื่องกัญชารักษามะเร็งนั้นทำให้คนหลงเชื่อมาอ่าน คลิกหรือแชร์ รวมกว่า 4 ล้านครั้ง ในขณะที่ความพยายามแก้ข่าวลวงด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องนั้น คนกลับตอบสนองเพียง 36,000 ครั้งเท่านั้น
4. องค์กรวิชาการหรือหน่วยงานด้านมะเร็งมีอัตราการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ประชาชนและผู้ป่วยน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ
5. หากเทียบตัวต่อตัว ระหว่างข้อมูลที่เผยแพร่จากหน่วยงานวิชาการที่เชื่อถือได้ กับข่าวลวงเรื่องกัญชารักษามะเร็ง พบว่าอัตราการ retweet ต่างกันราวฟ้ากับเหว กล่าวคือ ข่าวลวงมีอัตราการ retweet เยอะกว่าข่าวจริงถึง 100 เท่า (527 vs 5.6 retweets)
ในขณะที่อัตราการดู คลิก แชร์ ในเฟซบุ๊คนั้น ข่าวลวงเรื่องกัญชารักษามะเร็งก็เอาชนะข่าวจริงไปถึง 4,500 เท่า (452,050 vs 98 engagements)
งานวิจัยนี้น่าสนใจ และน่าจะสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมข่าวลวงทั้งหลาย จึงสามารถทำให้หลายต่อหลายคนเชื่องมงายเรื่องกัญชารักษามะเร็งได้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ทำไงดี?
ดูแลลูกหลานและคนในครอบครัวให้ดี พยายามใช้สติและปัญญาในการเสพข่าว เลี่ยงแหล่งข่าวที่เล่นกับกิเลสและความกลัว
พยายามช่วยกันทำให้คนใกล้ชิดรู้เท่าทันเท่าที่สามารถจะทำได้
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
Shi S et al. False News of a Cannabis Cancer Cure. Cureus. 2019 Jan 19;11(1):e3918. doi: 10.7759/cureus.3918.
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 381 views