แม้จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต จนเจ้าตัวเรียกตัวเองว่าเป็น “จัณฑาลทางการเมือง” และโดนพิษการเมืองเล่นงานอย่างโชกโชน แต่ ณ วันนี้ของหมอเลี๊ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมช.สาธารณสุข ผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงก่อร่างสร้างนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ยังคงมีความสุขกับการทำงาน “การเมือง” อยู่มาก
ในวัย 62 ปี นอกเหนือจากการเป็นพิธีกรรายการทางวอยซ์ทีวีแล้ว หมอเลี๊ยบ รับอีกบทบาทหนึ่ง ในฐานะ “ที่ปรึกษา” อย่างไม่เป็นทางการของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข โดยเน้นหนักเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการจัดการ “ระบบบริการ” ของกระทรวงสาธารณสุข
ต้นเดือน ส.ค. หลังอนุทิน รับตำแหน่งรัฐมนตรีได้ไม่นาน “เสี่ยหนู” ก็ไปเชิญ หมอเลี๊ยบ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา และหลังจากนั้น ก็จับพลัดจับผลู กลายเป็นกำลังสำคัญในการวางแผน “ปฏิรูป” กระทรวงสาธารณสุขในอีกหลายเรื่อง หลังจากกระทรวงหยุดนิ่งในความขัดแย้งมานานหลายปี และไม่มีการ “รื้อใหญ่” มานาน
Hfocus มีโอกาสนั่งคุยยาว ๆ กับ นพ.สุรพงษ์ เพื่อเล่าถึงงานที่เข้าไปช่วยให้คำปรึกษา ณ เวลานี้ และภาพฝันของกระทรวงสาธารณสุข ที่ควรจะเป็นในอนาคต
“ผมถามท่าน (อนุทิน) ครั้งแรกว่าจะเอาจริงแค่ไหน ถ้าเอาจริง ผมก็ยินดีมาช่วย ถ้าไม่เอาจริงก็ไม่เป็นไร ณ ขณะนี้ ผมคิดว่าท่านยังเอาจริงอยู่นะ ทุกอย่าง ท่านบอกว่าเดินหน้าเต็มที่” หมอเลี๊ยบ เล่าให้ฟัง
แต่ละสัปดาห์ หมอเลี๊ยบ ขับรถไปที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนั่งประชุมกับข้าราชการ กับเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง สัปดาห์ละครั้ง โดยเขานิยามตัวเองว่า “ให้คำปรึกษา” เท่านั้น ไม่มีตำแหน่งทางการ และไม่มีค่าตอบแทน เป็นการทำงาน โดยสานต่อความฝันของตัวเองที่ค้างคาไว้ให้สำเร็จล้วน ๆ
ฝันของ นพ.สุรพงษ์ 3 เรื่อง ได้แก่
1.การจัดการ Pain Point ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
2.การนำระบบ “ไอที” เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ
และ 3.การพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการโรงพยาบาล และการกระจายอำนาจสู่องค์การมหาชนแห่งใหม่
ทั้งหมดนี้ เกิดจากการระดมสมองของ “หัวกะทิ” ในกระทรวงสาธารณสุข จนกลั่นออกมาเป็นนโยบายใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่มากในสายตาของคนในแวดวงสุขภาพ เมื่อเทียบกับสิ่งที่หมอเลี๊ยบเคยทำเมื่อ 18 ปีก่อน อย่าง “30 บาทรักษาทุกโรค” แต่ก็นับเป็นก้าวสำคัญ หากนับว่าก่อนหน้านี้ กระทรวงแทบไม่มีนโยบายใหม่อะไรออกมาเลย
ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน หมอเลี๊ยบ ร่วมสร้างสิ่งที่ตัวเขาเรียกว่า “Task Force” หรือ กองกำลังพิเศษ ระดมทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายปฏิบัติการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรอิสระภายใต้กระทรวงสาธารณสุข (องค์กรตระกูล ส.) รวมถึงผู้ที่มีฝีมือจาก “นอกวง” เข้ามาร่วมเป็นทีมงานเฉพาะกิจ ในการทำเรื่องเหล่านี้ และให้โฟกัสเฉพาะเรื่องพวกนี้เท่านั้น
“ที่ผ่านมา ไม่มีการกระจายอำนาจให้คนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้มาแก้ปัญหา เรื่องทุกๆ เรื่องเลยมารอเป็นคอขวด หลังจากนี้ไม่ใช่ คือฝ่ายนโยบายควรจะมีหน้าที่แค่ด้านนโยบาย เสร็จปุ๊บ ฝ่ายประจำกับผู้เชี่ยวชาญกับเทคโนแครตก็ไปร่วมกันทำต่อไป” นพ.สุรพงษ์ระบุ
“กระทรวงสาธารณสุข เป็นกระทรวงที่มีคนเก่งมากที่สุดในประเทศไทย ผมผ่านมาหลายกระทรวง กระทรวงนี้ เป็นกระทรวงในฝัน มีคนเก่ง แล้วมีคนที่อยากทำอะไรเยอะ ๆ แต่อาจจะด้วยความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบายในอดีต ไม่แน่ใจว่าจะเดินแบบไหนดี เขาก็เลยยังไม่ค่อยกล้าขับเคลื่อน แสดงตัวเท่าไหร่ ช่วงหนึ่งที่มีปัญหา ไม่แน่ใจว่าจะเดินต่อ หรือหยุดเลย ทุกคนก็หยุด”
เพราะฉะนั้น นี่คือโอกาสสำคัญ ที่จะเข้าไปช่วยผลักดัน ให้กระทรวงที่รวมทั้ง “คนเก่ง” และ “ความวุ่นวาย” เข้าด้วยกัน แห่งนี้ ได้เดินหน้าต่อ...
“รับยาที่ร้าน” ปฐมบทแห่งการแก้ Pain Point
หนึ่งในนโยบายที่ออกไปแล้วก่อนหน้านี้ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เอาไปพูดโชว์ความสำเร็จด้วยที่ องค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ก็คือการ “รับยาที่ร้านยา” ซึ่งมาจากการออกแรงดันของหมอเลี๊ยบ
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เคยทดลองทำโครงการนี้ ร่วมกับโรงพยาบาล และร้านขายยาในหลายพื้นที่แล้ว ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ในการ “คิกออฟ” ในฐานะนโยบายเริ่มต้นของการแก้ปัญหากลุ่ม Pain Point
“หลักการคือ ผู้ป่วยต้องรอคิวทั้งเพื่อตรวจ และรอคิวเพื่อรับยา ปัญหาคือว่าทั้ง 2 ช่วงนี้ใช้เวลา และทำให้เกิดความแออัด แต่ที่มากกว่าความแออัดคือเรื่องเวลาของผู้ป่วย กลายเป็นเรื่องของที่ผู้ป่วยต้องมาทุกเดือนโดยไม่จำเป็น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียเวลามาก” หมอเลี๊ยบเล่าให้ฟัง
เขายังบอกอีกว่า ที่สะท้อนชัดเลย คือ 1 เดือน หลังจากสรุปโครงการ สะท้อนให้เห็นว่า มีบางเคสที่ผู้ป่วย “แฮปปี้” มาก จากการที่ไม่ต้องเดินทางครึ่งค่อนวัน มารับยาที่โรงพยาบาล
“ตอนที่เราทำไป 1 เดือนแล้วสรุป มีการพูดคุยตัวอย่างเคส มีเคสหนึ่งที่ต้องเดินทาง 4 ชั่วโมงจากบ้าน เพื่อมารับยา แล้วเดินทางกลับอีก 8 ชั่วโมง พอรับยาที่ร้านยาเพราะอาการเขา stable เขาก็ดีใจมาก เพราะต่อไปนี้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาโรงพยาบาลทุก ๆ เดือน 6 เดือนอาจมาแค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้น นี่คือหลักการ Patient Center คือเอาคนไข้เป็นศูนย์กลาง”
หมอเลี๊ยบอธิบายว่า หลักการสำคัญของนโยบายนี้ ก็คือการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เป็น “โรคเรื้อรัง” ซึ่งรับยาสม่ำเสมออยู่แล้ว ให้ไม่ต้องไปเข้าคิวรอตรวจ หรือรอเรียกรับยาที่โรงพยาบาล โดยมีภาพฝันที่ไกลกว่า คือในอนาคต ร้านยา อาจจะเป็นศูนย์ในการทำ “Telemedicine” หรือการแพทย์ทางไกลก็ได้
“แต่ถ้าถามว่าสุดท้ายจะลดความแออัดลงได้มั้ย มันก็ควรจะลด เพราะถ้าเอาผู้ป่วยเรื้อรังคงที่ออกไปได้เยอะ ถ้ามัน 40% แบบทุกวันนี้ คนไข้ก็จะหายไป 40%” หมอเลี๊ยบเล่าให้ฟัง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงค่อนขอดว่ารับยาที่ร้าน ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากจำนวนคนไข้ ที่เดินทางมารับยาที่ร้านไม่มากนัก และเสียงจากโรงพยาบาลที่ยังไม่ยอม “ปล่อยยา” ให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้าน แต่ นพ.สุรพงษ์ ก็ยืนยันว่า ที่ผ่านมา มาถูกทางแล้ว และตัวเลขล่าสุดที่กระทรวงสาธารณสุขได้มา คือ ณ ขณะนี้ มีการลงทะเบียนของผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ขณะนี้ เป็นเฟสที่นำร่อง 50 โรงพยาบาล 500 ร้านขายยา ซึ่งก็ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขพอสมควร นั่นคือเรื่อง mindset ของคนในโรงพยาบาล เพราะบางโรงพยาบาลมีความรู้สึกว่าทำตามนโยบาย แต่ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าการทำอย่างนี้ปรัชญามันคืออะไร”
“กับอีกส่วนหนึ่งคือ ร้านขายยาที่เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล หลายร้านเป็นร้านประเภทเชน เพราะฉะนั้น ในแง่ความรู้สึกผูกพัน สนิทสนม แบบร้านขายยาข้างบ้าน ยังไม่มี ซึ่งก็พยายามเน้นว่าให้ใช้ร้านยาที่ใช้เภสัชกรในชุมชน เพราะสามารถสร้างความสัมพันธ์ของการรับยาได้ดีกว่า ดูแลต่อเนื่องได้ดีกว่า” หมอเลี๊ยบระบุ
โดยเขายืนยันว่าถึงที่สุดแล้ว ร้านขายยา อาจจะไม่ใช่ “ทางออก” เดียว ในการลดความแออัด
“คือถ้าสุดท้าย มี รพ.สต. อยู่แล้ว มีคลินิกชุมชนอบอุ่นอยู่แล้ว ก็ใช้ทางเลือกนั้น ไม่จำเป็นต้องไปร้านยา ผู้ป่วยก็มีทางเลือกอื่นที่ใกล้บ้านกว่า สามารถไปรับยาได้ เราแค่อำนวยความสะดวกให้กับคนไข้มากขึ้น” นพ.สุรพงษ์ สรุป
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
โรงพยาบาล “ล้อมกรุง” จตุรทิศ อุดรูรั่วระบบสุขภาพ กทม.
อีกโปรเจคหนึ่งที่หมอเลี๊ยบ ดันสุดตัวคือนโยบายที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสนอเพื่อแก้ปัญหาระบบบริการในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยการยกเครื่องโรงพยาบาล 5 แห่ง 5 ทิศ สังกัดกระทรวงฯ ได้แก่ โรงพยาบาลปทุมธานี โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าฯ (นนทบุรี) โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลสมุทรปราการ และโรงพยาบาลสมุทรสาคร ในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพ โรงพยาบาลจตุรทิศ ภายใต้คำที่หมอเลี๊ยบใช้ว่า “รีเฟรช” ระบบบริการของโรงพยาบาลเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือระบบบริการของเมืองใหญ่ได้ง่ายขึ้น
อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือในกรุงเทพมหานครนั้น แม้จะมีประชากรเกิน 10 ล้านคน แต่ไม่มี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ไม่มีโรงพยาบาลอำเภอ มีเพียงโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพียงไม่กี่แห่ง และข้ามขั้นไปโรงพยาบาลซึ่งเป็น “โรงเรียนแพทย์” อย่างรามาธิบดี หรือศิริราช ให้คนไข้เข้าไปกระจุกตัว แออัดกันอยู่ในนั้น ซึ่งช่องโหว่เหล่านี้ ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เติบโตกันแบบก้าวกระโดด
เพราะฉะนั้น โรงพยาบาล 5 แห่ง จะถูกยกเครื่องครั้งใหญ่ ทั้งในแง่การบริหารจัดการ ภาวะผู้นำ และทำแผนพัฒนาโรงพยาบาลเหล่านี้ ให้มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยจากในเขตเมืองให้มากขึ้น
“ใน 5 โรงพยาบาล แต่ละแห่ง ก็มีประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลที่ไม่เหมือนกันเลย แต่ที่ดีที่สุดคือ นครปฐม ที่นำเสนออะไรไปไกลมาก คือมีความพร้อมขนาดเป็น Training Center ได้ เพราะมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช และมีระบบต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าสามารถใช้โรงพยาบาลนครปฐมได้ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริง ก็ไม่ต้องไปที่ศิริราช นี่คือรูปแบบที่เราอยากเห็น” หมอเลี๊ยบระบุ
ทั้งหมดนี้ เขายืนยันว่าภายใน 1 ปี โรงพยาบาล 5 แห่ง ต้องมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด โดยอาจสามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลอำเภออื่นใกล้ ๆ หรือหากคิดนอกกรอบ ก็สามารถทำ Contract กับโรงพยาบาลเอกชนที่เตียงยังว่างอยู่ได้ การเปลี่ยนแปลงในโรงพยาบาลเหล่านี้ อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวง ว่าหากคิดนอกกรอบ และคิดนอก “ข้อจำกัด” ของความเป็นหน่วยงานราชการ ก็ยังมีโอกาสอื่นอยู่ในอนาคต
ส่วนปัญหาอีกเรื่องที่อยู่ในหมวด Pain Point คือการแก้ปัญหา “ห้องฉุกเฉิน” ซึ่งหมอเลี๊ยบ อธิบายไว้แล้วใน (ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน จุดเริ่มต้นสู่การปฏิรูปสาธารณสุขทั้งระบบ สัมภาษณ์ "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี")
รื้อระบบ “ไอที” หนึ่งความฝัน ที่ยังทำไม่สำเร็จ
ย้อนกลับไป 18 ปีที่แล้ว ขณะที่หมอเลี๊ยบ นั่งเป็น รมช.สาธารณสุข ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หนึ่งในเรื่องที่ยังค้างคา และไม่ได้ทำต่อก็คือการเซ็ตระบบ “สารสนเทศ” ด้านสุขภาพ ให้สามารถเข้าใจทั้งสถิติสุขภาพ การเบิกจ่ายงบประมาณ สถานะการเงินของโรงพยาบาล ซึ่งในเวลานั้น ถูกมองว่าเป็น “ความฝัน”
แต่ดูเหมือนว่า ผ่านมา 18 ปี ระบบไอทีของกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังคงเป็นภาพฝันอยู่เหมือนเดิม เพราะระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุข ต่างคน ต่างก็มีระบบไอทีของตัวเอง ไม่เคยมีมาตรฐานในการเชื่อมต่อ และสถิติสุขภาพ การเบิกจ่ายงบประมาณ ก็ไม่เคยถูกเชื่อมต่อมายังส่วนกลาง ด้วยระบบที่ทันสมัย
“ปัญหาก็คือสถาปัตยกรรมไอทีในกระทรวง หรือของระบบบริการทั้งระบบ ไม่เคยถูกออกแบบ ต่างคนต่างทำ รพ.หนึ่งมีจินตนาการอย่างไร ก็ทำตามจินตนาการของตัวเอง แต่ละคนก็แต่ละจินตนาการ มาตรฐานในการเชื่อมต่อก็ไม่มี ทุกวันนี้ intrahospital หลายที่ไปด้วยดี แต่ interhospital มีปัญหา ฉะนั้น บางที่อาจจะบอกว่าฉันจัดระบบไอทีได้ดี paperless แล้ว มีการจองคิวออนไลน์ได้ มี lean process แล้ว แต่นั่นก็แค่ intrahospital เท่านั้น พอถึงระบบส่งต่อคุณไปไม่ได้”
“หรือแม้แต่ระบบในแง่ของการมองภาพของตัวฐานข้อมูลด้านการเงิน สมมติถ้า สธ.จะเป็น regulator ก็ควรรู้ได้หมด ว่าโรงพยาบาล จะจัดซื้อยาที่อยู่ในค่าเฉลี่ยเท่ากันไหม ไม่ใช่ว่ายาตัวหนึ่ง มีราคาตั้งแต่ 20-100 บาท ถ้าทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริหารต่าง ๆ ด้วยว่า ถ้าเราจะซื้อยาสักตัว มันควรจะซื้อเท่าไหร่ ควรจะเข้าไปดูได้ ว่าเขาซื้อกันเท่าไหร่ ไม่ควรซื้อแพงกว่าคนอื่น” อดีต รมช.สาธารณสุขระบุ
นอกจากนี้ ภาพฝันของเขา ยังไปไกลจนถึงการสร้างระบบ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ว่าขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลไหน หรือจะใช้ระบบไอที ในการ “จองคิว” ได้อย่างไร นอกจากนี้ หากมีข้อมูลสุขภาพอยู่ในระบบแล้ว หากจะต้องส่งต่อข้ามโรงพยาบาล หรือย้ายโรงพยาบาล ก็ให้โรงพยาบาลปลายทาง สามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นทันที หากได้รับอนุญาต
“ถามว่าเรื่องใหญ่ไหม ใหญ่ แต่ปัญหาคือไม่มีใครวางมาตรฐานเลย แล้วก็ไม่มี “บอดี้” ไหน ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลมาตรฐานไอที ทั้งที่ในต่างประเทศหลายแห่ง มีบอดี้ ทำเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะ” นพ.สุรพงษ์ เล่าให้ฟัง
ในความเห็นของหมอเลี๊ยบ หน่วยงานที่จัดการระบบข้อมูลสุขภาพ และระบบสารสนเทศ อาจต้องมี พ.ร.บ.ของตัวเอง ให้เป็น Health Data Center ซึ่งหมายถึงต้องร่างเป็นกฎหมาย และนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ในสภาพการเมืองแบบนี้
ขณะเดียวกัน เรื่อง Health Data Center ที่มุ่งหวัง ก็อาจต้องรวมเรื่องการบริหารจัดการ “การเงิน” ในระบบสุขภาพ และอาจต้องขยายไปถึง “ผู้ซื้อบริการ” อย่าง สปสช. สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลางด้วย โดยในเฟสแรก น่าจะสามารถเชื่อมต่อระหว่าง สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ไปก่อน
“ตอนที่คิด ก็ต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาคิด ก็จะมีตั้งแต่ โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลกระทรวง ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีจากมหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยระดมสมองว่าจะมองสถาปัตยกรรมยังไง เขาก็คิดไปไกลพอสมควรแล้ว ผมก็บอกเขาว่า สิ่งที่อยากเห็นเป็น quick win ก็ควรจะได้เห็นว่าไอทีมีประโยชน์ยังไงต่อผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ” นพ.สุรพงษ์ กล่าว
ยกตัวอย่างเช่น “รับยาที่ร้าน” ก็ควรมีระบบไอทีช่วยในการส่งข้อมูลจากโรงพยาบาลไปยังร้านยา โดยที่ร้านยาสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้ และสามารถตอบกลับข้อมูลบางส่วนได้เช่น เภสัชกรร้านยา ควรจะสามารถให้ผู้ป่วยที่รับยามาแล้ว เอายาจากบ้านมาดูได้ว่าหมดไปหรือยัง เพราะผู้ป่วยบางคนอาจกินยาที่ให้ไปไม่ครบ
ก่อนหน้านี้ เคยมีงานวิจัยว่า ผู้ป่วยเรื้อรังจำนวนหนึ่ง ให้ยาไปสำหรับ 30 วัน แต่กินไปแค่ 20 อีก 10 วันกลับลืมกิน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรจะจ่ายยาไปอีก 30 วัน ควรจ่ายแค่ 20 หรือจ่ายไปแค่ให้ครบ 30 ในเดือนถัดไปก็ได้ คือรวมแล้ว มีมูลค่ายาที่คงเหลืออย่างนี้ ปีนึงประมาณ 2,000 ล้านบาท หากสามารถประหยัด 2,000 ล้านบาทตรงนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับระบบบริการในอนาคต
แน่นอน ระบบไอที น่าจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อาจจะต้องออกแรงมาก หากต้องการให้ประสบความสำเร็จ...
โรงพยาบาล “องค์การมหาชน” แห่งที่ 2 ต้องเกิด เพื่อทำลาย “กำแพงแก้ว”
Task Force อีกหนึ่งทีม ที่ถูกเซ็ตขึ้นในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ก็คือการดันโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็น “องค์การมหาชน” แห่งที่ 2 ให้ได้ หลังจากผ่านมาเกือบ 20 ปี กระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลที่เป็นอิสระ ปลดแอกจากระบบราชการได้เพียงแห่งเดียว คือโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
หมอเลี๊ยบ ชวน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และผู้ปลุกปั้นโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ให้มาเป็นกำลังสำคัญของกองกำลังชุดนี้
“ที่เราเห็นก็คือ ปัจจุบัน หลายโรงพยาบาล มีจำนวนเตียง มากกว่ากรอบอัตรากำลัง แล้วก็บรรจุคนได้ตามกรอบที่ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ให้ไว้เท่านั้น ในความเป็นจริง เราเห็นศักยภาพของโรงพยาบาลอีกมากมาย ที่จะสามารถพัฒนาไปได้เยอะ แต่ด้วยข้อจำกัดของระบบราชการ ทำให้เขาไปต่อไม่ได้ ก็เลยบอกท่านรัฐมนตรี ว่าขอตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ แล้วจะชี้ดูว่า มีโรงพยาบาลไหนที่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นองค์การมหาชนแห่งใหม่” หมอเลี๊ยบเล่าให้ฟัง
คำตอบของ “อนุทิน” ก็คือ “ทำให้เต็มที่” และทำแล้วต้องเกิดประโยชน์กับประชาชน
“ผมบอกใช่ คือถ้าจะมีองค์การมหาชนแห่งที่ 2 ต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน และต้องสำเร็จเท่านั้น เพราะถ้าเกิดล้มเหลว มีปัญหา แนวคิดองค์การมหาชน จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกเลย” อดีต รมช.สาธารณสุข ระบุ
เขาบอกว่า ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกโรงพยาบาล ที่พร้อมจะเป็นองค์การมหาชนแห่งใหม่ โดยมี นพ.วิทิต และทีมจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เข้าไปร่วมคัดเลือก รวมถึงต้องทำ Feasibility Study หรือการศึกษา “ความเป็นไปได้” อย่างละเอียด
ตัวชี้วัด 3 ข้อ ที่หมอเลี๊ยบเห็นว่าควรจะเป็นคือ 1.ต้องมีความพร้อมทางการเงิน ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ขาดทุน 2.ต้องมีโอกาส ทั้งในการทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และทำให้โรงพยาบาลเข้มแข็งด้วยตัวเอง ไม่ใช่เกิดขึ้นตามการร้องขอของรัฐมนตรี หรือปลัดกระทรวงฯ และ 3.โรงพยาบาลนั้น ต้องสามารถสร้างโอกาสใหม่ ในการเติบโต ยิ่ง “ก้าวกระโดด” ยิ่งดี เพื่อทลาย “กำแพงแก้ว” ซึ่งคนในกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารกระทรวงบางคนในอดีต ที่มักจะค่อนขอดว่าแท้จริงโรงพยาบาลบ้านแพ้ว มีปัญหาซุกไว้ใต้พรม และรูปแบบองค์การมหาชน ไม่ได้ดีเลิศขนาดนั้น
“ผมคิดว่ามันเป็น mindset ของคนในกระทรวง ที่คิดว่า... อยากจะเก็บโรงพยาบาลต่าง ๆ ไว้กับกระทรวง แต่ถ้าพูดจริง ๆ แล้ว บ้านแพ้ว ก็ยังเป็นองค์การมหาชน คือต้องมองว่าบ้านแพ้ว คือรัฐวิสาหกิจหนึ่ง ถ้ากระทรวงอื่น ๆ มีรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรีสามารถให้นโยบาย กำหนดทิศทางได้ บ้านแพ้วก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่รัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่แสวงหากำไร แต่องค์การมหาชน ไม่แสวงหากำไร แต่ต้องอยู่รอด และต้องให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น”
“ถ้าวันนี้ผมเป็นบ้านแพ้ว อาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกระทรวง แต่บ้านแพ้วมีคณะกรรมการ มีที่มาจากกระทรวง มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นั่งเป็นบอร์ด รวมถึงยังมีผู้ว่าฯ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และยังมีบอร์ดจากหลายส่วน แต่ถามว่ายังสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ไหม ยังสังกัดแน่ และกระทรวงยังต้องทำหน้าที่ Regulate อีกเยอะ และยังต้อง Regulate ต่อไป” นพ.สุรพงษ์ ระบุ
ขณะนี้ หมอเลี๊ยบบอกว่า ได้ “เป้าหมาย” โรงพยาบาลองค์การมหาชนแห่งใหม่แล้ว และอยู่ในระหว่างการทำ Feasibility Study อย่างละเอียด โดยผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน โดยน่าจะใช้เวลาราว 3 เดือน ซึ่งหากต้นปีหน้าถ้าการประเมินความเป็นไปได้ผ่าน มองเห็นโอกาสเติบโตได้ดี ก็มีโอกาสได้เห็นบ้านแพ้ว 2 อย่างแน่นอน...
สปสช. ต้อง “สมาร์ท” กว่านี้ และต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้ได้
บทส่งท้าย ที่อยู่นอกเหนือ 3 หัวข้อที่ผ่านมา คือการปฏิรูปหน่วยงานที่ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่าง สปสช. ซึ่งเขา มีส่วนในช่วงตั้งไข่ เมื่อ 17 ปีที่แล้ว
เรื่องทั้งหมด เริ่มมาจากการที่ นพ.สุรพงษ์ ต้องเข้าไปนั่งเคียงข้างอนุทิน ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งจัดขึ้นเดือนละครั้ง แล้วพบว่ามีแต่เรื่อง “จุกจิก” ไม่มีการมองไปข้างหน้า และไม่เห็นอนาคต ไม่ต้องพูดถึง 20 ปี แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็มองไม่เห็นว่า สปสช.จะทำอะไร และจะอยู่ตรงไหน แล้วจะทำอย่างไรให้เป็นองค์กรที่ “สมาร์ท” กว่านี้ให้ได้
แน่นอน หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ฉุดรั้ง สปสช. ก็คือความขัดแย้งกับกระทรวงสาธารณสุข ถึงขั้นว่าพยายามลดอำนาจของ สปสช.ลง และตัวปลัดกระทรวงฯ ก็ปฏิเสธในการเข้าประชุมบอร์ด ทำให้ สปสช. ต้องอยู่ในโหมด “สงคราม” กับกระทรวงฯ ตลอดมา
จนถึงวันนี้ แม้ความขัดแย้งจะคลี่คลายไปแล้ว แต่ความคับข้องใจในบุคลากรกระทรวงก็ยังคงอยู่ และผลกระทบสำคัญของความขัดแย้งที่ผ่านมา ก็คือทำให้องค์กรที่เคยขึ้นชื่อว่า “ก้าวหน้า” อย่าง สปสช. ติดอยู่ในวังวน คือไม่สามารถไปต่อได้
“ผมคิดว่าเราอยู่ในคอมฟอร์ทโซนมานาน 5 ปีแล้ว ซึ่งการตั้งรับ ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่า สปสช. ไม่สมาร์ทพอ ในการทำหน้าที่นี้” นพ.สุรพงษ์ระบุ
3 เรื่องที่หมอเลี๊ยบยกตัวอย่างก็คือ สปสช.ควรจะยกเครื่องระบบไอทีครั้งใหญ่ เปลี่ยนระบบ Call Center ให้สมาร์ทมากขึ้น และสร้างระบบในการ “เบิกจ่ายเงิน” ให้โรงพยาบาลแบบ “วันต่อวัน” ให้ได้ ไม่ให้ระบบราชการ เป็นภาระ ทำให้การจ่ายเงินหลายครั้งถูกดีเลย์ออกไปโดยไม่จำเป็น
“แล้วที่สำคัญคือ คุณควรจะ ‘ทรีท’ โรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกที่เป็นพาร์ทเนอร์ ไม่ใช่ลูกน้อง เพราะถ้าเปรียบเทียบกับบรรดา ‘Sharing Economy’ ไม่ว่าจะเป็น Grab หรือ Airbnb เขาคือคนที่มาร่วมทำการกิจกับคุณ เพราะฉะนั้น คุณมีหน้าที่ให้องค์กรของคุณเป็นองค์กรที่ฉลาดที่สุด เพื่อรองรับการทำงาน ให้เขาทำงานได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ ต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่ของ สปสช.” อดีต รมช.สาธารณสุข ผู้มีส่วนร่วมสร้าง สปสช.ระบุ
“ผมว่าภารกิจ สปสช. คือต้องทำให้ตัวเอง smart มาก เพื่อให้องค์กรอื่นที่ทำภารกิจ – บทบาทเดียวกัน สามารถเปรียบเทียบ เป็นตัวชี้วัด ให้เขาสามารถสมาร์ทแบบนี้ได้บ้าง”
ทั้งหมดนี้ นพ.สุรพงษ์ บอกว่า นัดคุยกับทีมงานจาก สปสช. ซึ่งเขามีความสัมพันธ์อันดีร่วมกันตลอด 17-18 ปีที่ผ่านมาแล้ว และทุกคนเห็นด้วย ว่าจะต้องเดินหน้าเรื่องเหล่านี้เต็มตัว และอยากเห็นอะไรที่ท้าทาย ที่ควรจะรออยู่ข้างหน้า
เพราะฉะนั้น หากอนุทิน ยังเป็นรัฐมนตรี และหมอเลี๊ยบ ยังคงได้รับดาบอาญาสิทธิ์ ให้ร่วมทำหน้าที่นี้ สปสช.ก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป...
สัมภาษณ์: สุภชาติ เล็บนาค และปริตตา หวังเกียรติ /เรียบเรียง: สุภชาติ เล็บนาค
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน จุดเริ่มต้นสู่การปฏิรูปสาธารณสุขทั้งระบบ สัมภาษณ์ "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี"
- 648 views