ตั้งแต่ประเทศไทยริเริ่ม “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” อย่างเป็นทางการในปี 2545 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “30 บาทรักษาทุกโรค” และ “บัตรทอง” เป็นที่ประจักษ์ว่ากองทุนฯนี้คือ “การปฏิวัติด้านสาธารณสุข” ที่ใช้ภาษีอย่างคุ้มทุน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ปัจจุบัน มีคนไทยมากกว่า 48 ล้านคนอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกองทุนฯ ซึ่งทำให้การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขเป็น “สิทธิ” ที่ทุกคนพึงมี โดยประชาชนไม่ต้องกังวลกับค่ารักษาพยาบาลแพงเกินตัวเหมือนในอดีต

แม้ว่ากองทุนฯจะเผชิญแรงกดดันทางการเมือง และการคัดค้านจากบางกลุ่ม แต่มันก็ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นต้นแบบความสำเร็จของโลก เรียกได้ว่าเป็น “กรณีพิเศษ” ที่ประเทศไม่ร่ำรวยประเทศหนึ่ง สามารถนำร่องจัดสรรงบประมาณดูแลสุขภาพคนเกือบห้าสิบล้าน ทั้ง ๆ ที่เพิ่งผ่านวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจหรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในปี 2540

อย่างไรก็ดี เบื้องหลังความสำเร็จไม่ใช่เรื่องที่ได้มาอย่างง่ายดาย Hfocus ชวนย้อนประวัติการเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ผ่านการสัมภาษณ์พิเศษ แอนน์ มิลส์ (Anne Mills) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สุขภาพ และรองผู้อำนวยการรองผู้อำนวยการวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) วิทยาลัยภายใต้มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ศาสตราจารย์มิลส์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วงก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเป็นทั้งอาจารย์และผู้ให้คำปรึกษากับนักนโยบายสาธารณสุขไทย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์มิลส์ยังเป็นหนึ่งในทีมงานประเมินผลลัพธ์และความคุ้มค่าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะ 10 ปีแรก

จากความฝัน​ สู้การแก้ปมการเงินการคลัง

“ฉันมาประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ 2530 จำได้ว่าตอนนั้นผู้ป่วยยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยยากจน โรงพยาบาลมีรายได้หลักจากค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ค่ารักษาของประเทศไทยในตอนนั้นมีราคาแพงกว่าประเทศอื่น ๆ อยู่มาก” ศาสตราจารย์มิลส์รำลึกความหลัง

ในตอนนั้น ภาพของระบบสาธารณสุขไทยไม่ต่างอะไรจาก “การค้า” หากผู้ป่วยมีเงิน ก็ได้รับการรักษาอย่างดี แต่ถ้าไม่มีเงิน ก็หมดโอกาส ในบางกรณี ผู้ป่วยต้องคุกเข่าอ้อนวอนขอให้แพทย์ช่วยรักษาเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

ศาสตราจารย์มิลส์รู้จักกับ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาได้ระยะหนึ่ง โดยรับรู้มาตลอดว่านายแพทย์สงวนมีวิสัยทัศน์ ความรู้ และความฝัน

เขาอยากสร้างระบบสาธารณสุขที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่แบ่งแยกเศรษฐานะ

ในอีกด้าน นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ลูกศิษย์ของศาสตราจารย์มิลส์ เพิ่งจบปริญญาเอกและกลับมาประเทศไทย นายแพทย์วิโรจน์มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพ จึงเข้ามาช่วย นายแพทย์สงวนหาโมเดลการเงินการคลังสำหรับทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นายแพทย์วิโรจน์และศาสตราจารย์มิลส์จึงร่วมกันทำวิจัย โดยศึกษาวิธีการจัดสรรงบประมาณกองทุนสุขภาพต่าง ๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ

ระบบการเงินการคลังดูจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในตอนนั้น เพราะการทำให้ประชาชนหลายล้านคนรักษาฟรี ย่อมนำมาสู่คำถามถึงแหล่งที่มาของเงิน และผลกระทบที่จะเกิดกับการคลังของรัฐบาลในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยยังมีสถานะเป็นเพียงประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง

การศึกษานำไปสู่ข้อสรุป นั่นคือ รัฐบาลสามารถใช้ภาษีเลี้ยงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ โดยไม่ล้มละลายหรือสร้างหนี้สาธารณะ หากใช้วิธีจัดสรรงบประมาณแบบ “งบเหมาจ่ายรายหัว” ซึ่งเปรียบเสมือนเงินประกันถัวเฉลี่ยสำหรับผู้มีสิทธิในระบบ มีลักษณะการจ่ายแบบ “ปลายปิด” สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้

ข้อเสนอดังกล่าว อาจถือได้ว่าเป็นข้อเสนอด้านการปฏิรูปการเงินการคลังครั้งใหญ่ของประเทศไทยก็ว่าได้ โดยก่อนหน้านั้น ภาษีมักถูกนำมาใช้จ่ายกับข้าราชการและการดำเนินงานของภาครัฐ แม้จะมีการจ่ายให้ความช่วยเหลือประชาชน แต่ก็ยังเป็นลักษณะการจ่ายด้วยนโยบายแบบบนลงล่าง รัฐบาลใช้ “ดุลพินิจ” ในการจัดสรรงบประมาณ เลือกกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์เฉพาะกรณี หรือเฉพาะโครงการ

แต่สิ่งที่หมอสงวนและหมอวิโรจน์เสนอ คือ การนำภาษีมาใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยไม่เลือกกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์เฉพาะ โดยรัฐบาลมีหน้าที่ผูกพันในการจัดสรรงบประมาณประจำปีให้กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แทนที่จะใช้ดุลพินิจรายกรณีอย่างแต่ก่อน

“ฉันไม่คิดว่าประเทศไทยจะกล้าใช้ระบบภาษีในตอนนั้น เพราะประเทศไทยกำลังพัฒนา ส่วนมากแล้ว ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างมักไม่นิยมโมเดลการจัดสรรงบประมาณด้วยภาษี (เพราะยังเก็บภาษีได้ไม่มาก) เช่น ในเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้ระบบประกันสังคม (ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชนเพียงบางส่วน) มากกว่าการใช้ภาษีจ่ายให้ประชาชนแบบเต็ม ๆ” ศาสตราจารย์มิลส์กล่าว

“จะว่าแล้ว การใช้เงินภาษีสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยมีเสถียรภาพ เดินหน้าได้เร็วกว่าที่อื่น”

การเมือง สุขภาพ สองเรื่องที่แยกไม่ขาด

“การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ นายแพทย์สงวนเห็นความสำคัญของการเมือง และทำให้นักการเมืองเห็นความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขามีความตั้งใจ และยอมเสี่ยงที่จะเจรจากับนักการเมือง เพื่อผลักดันให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ศาสตราจารย์มิลส์เล่า

เงื่อนไขทางการเมืองที่สำคัญในช่วงก่อตั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ภาคประชาชนเข้มแข็ง​ และ ทักษิณ ชินวัตร

ในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าด้วยนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ได้กำหนดบทบาทของรัฐบาลในการทำนโยบายสาธารณะในทุกด้านอย่างชัดเจน เช่น การพัฒนาการศึกษาและกระบวนการยุติธรรม ส่วนในด้านสาธารณสุข ได้เขียนไว้ในมาตรา 82 ว่า “รัฐจะต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง”

การเขียนรัฐธรรมนูญไว้เช่นนี้ เปรียบเสมือนลายแทงให้นักการเมืองที่จะเข้าสู่สังเวียนเลือกตั้ง ต้องทำการบ้านอย่างหนัก และเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

ในปี 2541 ทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทยและเตรียมลงเลือกตั้งในปี 2544 จึงทำกระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน นักธุรกิจ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำมาจัดทำนโยบายหาเสียงที่ตรงใจกับประชาชนมากที่สุด

ในจังหวะนี้เองที่นายแพทย์สงวนทำงานรณรงค์​ร่วมกับภาคประชาชนเพื่อทำร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมี จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นที่ปรึกษา นายแพทย์สงวนยังเดินสายเสนอโมเดลสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ​ พร้อม แต่กลับไม่มีพรรคการเมืองไหนให้ความสนใจอย่างจริงจัง

มีเพียงทักษิณและทีมงานนโยบายสาธารณสุขของพรรคไทยรักไทย ซึ่งมี นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นหัวหอก ที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก และดึงมาเป็นหนึ่งในแคมเปญหาเสียง ด้วยสโลแกน “30 บาทรักษาทุกโรค”

เมื่อชนะการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยก็รักษาสัจจะด้วยการเร่งออก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 และตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ในการซื้อบริการจากโรงพยาบาลให้กับประชาชน

จึงถือได้ว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เริ่มอย่างเป็นทางการในที่สุด

“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือส่วนผสมของการเมืองและการออกแบบระบบทางเทคนิค” ศาสตรจารย์มิลส์ให้ความเห็น

“ฉันเคยทำการศึกษาและประเมินระบบสุขภาพในประเทศแอฟริกาใต้ พบว่าเมื่อก่อนนี้มีประชากรร้อยละ 20 ที่มีประกันสุขภาพจากการทำงาน แม้ว่าตอนนี้ รัฐบาลตกลงในเชิงหลักการที่จะผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังไม่สามารถเกิดได้ เพราะฝ่ายการเมืองแบ่งขั้วอย่างรุนแรง

ต่างกับประเทศไทย ที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดก่อนที่ผู้เล่น(ทางการเมือง)แต่ละฝ่าย จะมีอำนาจมากล้นเกินไป และอยากรักษาผลประโยชน์ของตนเองจนระบบไม่เกิด”

ในเชิงโครงสร้างการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าสปสช.ถูกตั้งขึ้นโดยแยกการบริหารออกจากกระทรวงสาธารณสุข แต่ สปสช.ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีรัฐบาลและระบบรัฐสภาทำหน้าที่อนุมติงบประมาณ

“ดังนั้น คุณไม่สามารถแยกเรื่องการเมืองออกจากระบบสาธารณสุขได้เลย”

อย่างไรก็ดี มิลส์เห็นว่าอีกเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดระบบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขในรัฐบาลชุดก่อน ๆ

“ก่อนหน้าที่จะริเริ่มกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐบาลไทยเน้นนโยบายสร้างโรงพยาบาล และผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลและหมอกระจายในชนบท ทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้ แค่มีเงินอย่างเดียว มันยังไม่พอ”

“ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประเทศไทยมีระบบจัดทำเลขบัตรประชาชน ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีฐานข้อมูลประชากรตั้งแต่เริ่มต้น และยังมีระบบข้าราชการ ที่ถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพบ้าง แต่ก็มีความสามารถมากพอที่จะตั้งระบบ และเปิดดำเนินงานภายใน 9 เดือน (หลังมีรัฐบาลไทยรักไทย)”

“จริง ๆ แล้ว มีประเทศอื่น ๆ ที่ทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในกรณีของประเทศไทย ถือว่ามีระดับพัฒนาการที่ ‘ไม่ธรรมดา’ เลย”

การจัดการ ‘ความคาดหวัง’ ต่อระบบ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับแต่คำชม หากแต่ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพ

ข้อมูลจาก สปสช.ระบุว่า การประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มจากร้อยละ 83.01 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 95.66 ในปี 2560 ซึ่งถือว่าเป็นระดับความพอใจที่สูงมาก

ขณะที่การการประเมินความพึงพอใจของผู้ให้บริการ เช่น แพทย์ เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารโรงพยาบาล พบว่าเพิ่มจากร้อยละ 45.66 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 69.65 ในปี 2560 ซึ่งถือว่าเป็นระดับความพอใจที่น้อยกว่าฝั่งประชาชน จึงพออนุมานได้ว่าผู้ให้บริการน่าจะประสบข้อติดขัดหลายประการ เช่น ความแออัดของโรงพยาบาและภาระงานที่เพิ่มขึ้น

“เวลาที่คุณทำให้คนเข้าถึงการรักษาฟรี แน่นอนอยู่แล้วว่าจะทำให้คนมาโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นในอังกฤษที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันไม่มีระบบไหนที่สมบูรณ์พร้อมหรอก”

“การทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ‘การแลกเปลี่ยน’ (Trade-off) และการจัดการกับแรงกดดันที่มาจากความคาดหวังของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ”

ในด้านงบประมาณ พบว่าในปีงบประมาณ 2546 กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวที่ 1,202.40 บาท/คน/ปี รวมเป็นงบประมาณ 56,091 ล้านบาท จนกระทั่งในปีงบประมาณ 2562 ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัว 3,426.56 บาท/คน/ปี รวมเป็นงบประมาณ 166,445 ล้านบาท นำมาสู่ความกังวลต่อระบบการคลังของรัฐบาลในอนาคต

อย่างไรก็ดี แม้ว่างบเหมาจ่ายรายหัวจะสูงขึ้นถึง 3 เท่า แต่ในภาพรวม ยังอยู่ในสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพี ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เป็นเหตุเป็นผล และสะท้อนว่าประเทศไทยยังมีความสามารถจ่ายให้กับระบบสุขภาพได้อีก

ศาสตราจารย์มิลส์กล่าวว่าในระยะยาว เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น จะทำให้คนคาดหวังที่จะได้รับการรักษาที่ด้วยเทคโนโลยีหรือยาที่แพงขึ้น

“คุณจะพบกับแรงกดดันจากความคาดหวังแบบนี้ในทุกจุดของการทำระบบสุขภาพ แต่ประเทศไทยยังถือว่าสามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้ดี

ตอนที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินงานมาครบหนึ่งทศวรรษ ฉันได้เข้าไปมีส่วนในการประเมินความคุ้มทุนและผลลัพธ์ของโครงการ ได้พบความน่าสนใจตรงที่ประเทศไทยมีความพยายามในการจัดการกับโรคที่มีค่ารักษาแพง เพื่อจัดการกับแรงกดดันนี้”

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การออกแบบสิทธิประโยชน์รักษาโรคไตวาย ซึ่งแต่เดิม ผู้ป่วยโรคไตวายมักมีความคาดหวังว่าต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือด หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งล้วนแล้วเป็นวิธีการรักษาที่มีราคาแพง และกองทุนฯยังไม่มีความสามารถทางการเงินมากพอที่จะจ่ายให้ได้

กองทุนฯจึงทำสิทธิประโยชน์ เน้นให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเริ่มด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีต้นทุนที่ไม่แพงมาก หลังจากนั้น หากรักษาครบ 5 ปี จึงเปลี่ยนให้การรักษาแบบฟอกเลือดหรือบริการเปลี่ยนไตฟรีในขั้นสุดท้าย

นอกจากนี้ ยังให้เงินสมทบกับหน่วยบริการที่ให้บริการล้างไตผ่านช่องท้อง เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานเชิงรุกและให้คำปรึกษาผู้ป่วยโรคไต

ซึ่งการจัดการทั้งหมดนี้ สามารถควบคุมงบประมาณ และยังทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ถ้วนหน้า

เป้าหมายที่ต้อง ‘ทะเยอทะยาน’

สังคมผู้สูงอายุ และแนวโน้มการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs ที่พุ่งสูงขึ้น เป็นความท้าทายที่หลักระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากำลังประสบ โดยเพิ่มความต้องการดูแลรักษาผู้ป่วยในระยะยาว นั่นย่อมหมายถึงภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

“ในเรื่องของผู้สูงอายุ ด้วยลักษณะครอบครัวที่เปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ครอบครัวไม่มีลูก ๆ หลายคนมาดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดบ้านเหมือนในอดีต แต่ประเทศไทยรู้ว่าตนเองจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่เนิ่น ๆ จึงพอมีเวลาในการวางแผนระบบในอนาคต” ศาสตราจารย์มิลส์กล่าว

“ระบบต้องสร้างสมดุลของการพัฒนาบริการที่โรงพยาบาล และการทำให้คนสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องมาลงเอยที่โรงพยาบาลในทุกกรณี ในเชิงรูปธรรม อาจจัดระบบด้วยการทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว หรือสนับสนุนให้สมาชิกในครัวเรือนช่วยดูแลกันและกัน เน้นการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งประเทศไทยก็ทำเรื่องนี้มาตลอด แต่ยังสามารถพัฒนาได้อีก”

ในระดับโลก ยังมีความท้าทายที่ใหญ่ขึ้นไปอีก

ในปี 2558 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งมีตัวชี้วัดหนึ่ง คือการทำให้ทุกประเทศมีระบบสุขภาพที่เข้าถึงได้ และเป็นธรรมภายในปี 2573

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพาไปถึงเป้าหมาย

ความสำเร็จของประเทศไทยในการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นแนวหน้าของโลกในเรื่องนี้ เป็นแหล่งศึกษาดูงาน และมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษากับนักทำนโยบายในประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตนเอง

“ความสำเร็จของประเทศไทย มาจากเงื่อนไขต่าง ๆ เฉพาะตัว ฉันคิดว่าสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย เช่น ในทวีปแอฟริกาหรือประเทศลาว คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ก้าวหน้าแบบประเทศไทยได้ในทันทีทันใด พวกเขาอาจต้องเน้นให้บริการระดับปฐมภูมิ ในช่วงริเริ่มสร้างระบบ เพราะยังไม่มีโครงสร้างด้านสาธารณสุขที่ดีนัก

ดังนั้น การทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแต่ละประเทศ จึงอยู่ที่นิยามที่พวกเขาให้กับระบบ และความพร้อมด้านบริการสาธารณสุข เช่น จะให้สิทธิประโยชน์ตอนเริ่มได้มากน้อยแค่ไหน มีความคุ้มค่าหรือไม่ ใช่ว่าจะให้สิทธิประโยชน์ทุกอย่างได้ จำเป็นต้องเลือกสิ่งที่ทำได้และเหมาะสม”

ศาสตราจารย์มิลส์มองว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจฟังดูทะเยอทะยานเกินไป

“หากเรามีเป้าหมาย เราก็จะมีหมุดหมายให้เดินไปข้างหน้า มันอาจจะดีที่เราทะเยอทะยานไว้ก่อน”

เพราะนั่นคือจุดเริ่มที่ทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย จุดประกายจากความเชื่อที่ว่า “อะไรก็เป็นไปได้”

สัมภาษณ์: ปริตตา หวังเกียรติ และ สุภชาติ เล็บนาค /เรียบเรียง: ปริตตา หวังเกียรติ