‘หมอเลี๊ยบ’ เดินหน้าปฏิรูปห้องฉุกเฉิน ชงแยกประเภท ‘สีแดง = ฉุกเฉิน’ ‘สีเขียว = เร่งด่วน’ ชี้ห้องฉุกเฉินจำเป็นต้องเป็นระบบปิด ใครก็เข้าไม่ได้ ต้องมีการคัดกรอง ลดภาระหมอ EP ระบุ เป็นหน้าที่ สพฉ.ต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุน
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมช.สาธารณสุข ในฐานะที่ปรึกษาด้านการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ถึงแนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้ห้องฉุกเฉินเกิดปัญหา คือมีทั้งผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ ผู้ป่วยเร่งด่วนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา และผู้ป่วยที่มาขอรักษานอกเวลาเพื่อความสะดวกสบายของตัวเอง
อย่างไรก็ดี ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หากผู้ป่วยทุกกลุ่มเดินทางมาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก็จะเกิดความแออัด และทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยเร่งด่วนไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ฉะนั้นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังดำเนินการก็คือการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ห้องฉุกเฉินกลับมาสู่มาตรฐานที่ควรจะเป็นอีกครั้ง
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า โครงการที่ต้องการนำร่องคือการทดลองว่าห้องฉุกเฉินในอุดมคติคืออะไร และจำเป็นต้องมีการแยกประเภทห้องฉุกเฉินเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน กล่าวคือ “สีแดง” คือห้องฉุกเฉินต้องเป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ และต้องมี “สีเขียว” คือห้องเร่งด่วนที่ต้องมีกระบวนการคัดกรองว่าใครเหมาะสมจะเข้าห้องเร่งด่วน
“สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้จะต้องมีการปรับปรุงทางกายภาพ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาล 21 แห่งที่เริ่มนำร่องแล้วนั้น บางแห่งมีกายภาพเรียบร้อยแล้ว บางแห่งยังไม่มีก็เร่งปรับปรุงทางกายภาพ ซึ่งในวันนี้กฎของ สปสช.เปิดช่องจะช่วยสนับสนุนได้เฉพาะ “ห้องสีเขียว” เท่านั้น ส่วนห้องสีแดงยังเป็นเรื่องที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งช่วยตัวเองอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วตรงนี้เป็นเรื่องของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายให้ ซึ่งถ้าหากรัฐบาลสนับสนุนให้เท่ากับเอกชนก็จะนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก คือหมอ EP ทุกคนคงชอบมาก แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้ขนาดนั้นหรือไม่” นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของห้องสีเขียวหรือห้องเร่งด่วนนั้น จะไม่ใช่แพทย์ EP (Emergency physician หรือแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน) เป็นผู้ตรวจ แต่จะเป็นแพทย์อีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ได้อยู่เวรปกติ แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือแพทย์ EP กลับต้องมาดูแลทั้งหมดในทุกๆ เรื่อง นั่นทำให้แพทย์เหนื่อยมาก ขณะที่ผู้ป่วยก็รู้สึกว่าล่าช้า ทั้งหมดนำไปสู่ความขัดแย้ง ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการทำคือการจำกัดความขัดแย้งนี้ ด้วยการทำให้มีบุคลากรมากขึ้น จัดโซนนิ่งให้ชัดเจนขึ้น มีวัสดุอุปกรณ์ที่เราต้องการ คือกลับไปสู่มาตรฐานที่ควรจะเป็น
“ในระบบที่ถูกต้อง ห้องฉุกเฉินจะต้องเป็น Close system คือระบบปิด ใครก็เข้าไม่ได้ ต้องมีการคัดกรอง คือต้องมีจุดคัดกรองก่อนว่าไปห้องไหน ไปห้องสีเขียว ห้องเร่งด่วน หรือห้องฉุกเฉิน ควรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่หน้าห้องฉุกเฉินเพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้ามาได้ ห้องฉุกเฉินต้องเหมือนกับห้องผ่าตัดที่ไม่สามารถให้คนภายนอกเข้ามาได้ ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับประเด็นการสื่อสารกับญาติที่รออยู่ด้วย อย่างที่โรงพยาบาลระยองจะมีการสื่อสารด้วยวงจรปิดแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างไรอยู่ เช่นกำลังตรวจคลื่นหัวใจ กำลังส่งไปเอกซเรย์” นพ.สุรพงษ์ กล่าว
- 275 views