“หมอธีระ” เผย “ไนซ์” หน่วยงานประเมินสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ สหราชอาณาจักร ประกาศ “แนวทางรักษาผู้ป่วยโดยกัญชาแนะนำใช้ดูแล 4 โรค” ผู้ป่วยอาการปวดเรื้อรังห้ามใช้รักษา ส่วนผู้ป่วยมะเร็งและกล้ามเนื้อเกร็ง แนะใช้เฉพาะกรณีรักษาด้วยยามาตรฐานไม่ได้ผล ขณะที่โรคลมชักข้อมูลวิชาการยังจำกัด ซ้ำผลข้างเคียงสูง หวั่นไทยเร่งผลักดันนโยบายกัญาชารักษาผู้ป่วย สร้างผลเสียต่อสาธารณะ แนะพิจารณารอบคอบ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือไนซ์ (National Institute for Health and Care Excellence: NICE) เป็นหน่วยงานในประเทศสหราชอาณาจักร ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ และประเมินความเหมาะสมของยา เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีกระบวนการกลั่นกรองเข้มข้นบนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ได้มีการออก “แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยใช้กัญชาทางการแพทย์” ในระบบสุขภาพ ภายหลังจากที่ใช้เวลาในการพิจารณา โดยมีคำแนะนำในการใช้ดูแลผู้ป่วย 4 โรค ดังนี้
1. ผู้ป่วยมะเร็งที่มีคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงหลังได้เคมีบำบัด สามารถใช้ยานาบิโลน (Nabilone) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสารสกัดจากกัญชาเพื่อเสริมการรักษาได้เฉพาะในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยามาตรฐานแล้วไม่ดีขึ้นเท่านั้น และต้องระวังเรื่องผลข้างเคียงด้วยเสมอ
2. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ห้ามใช้กัญชาในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นยา Nabilone, Dronabinol, THC หรือแม้แต่ที่ผสมระหว่าง CBD และ THC ก็ตาม ส่วน CBD นั้นจะใช้สำหรับในการวิจัยได้เท่านั้น
3. ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งในโรค Multiple sclerosis ใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงที่รักษาด้วยยามาตรฐานแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น โดยให้สามารถลองใช้ยาพ่นแบบสเปรย์ ที่มีส่วนผสมของ CBD กับ THC เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ หากประเมินแล้วอาการลดลงมากกว่าร้อยละ 20 จึงจะสามารถใช้ต่อได้
4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักรุนแรง ข้อมูลวิชาการนั้นมีจำกัดมาก โดยสรรพคุณยังไม่ชัดเจน และมีผลข้างเคียงสูง ยังไม่สามารถให้คำแนะนำในการใช้ในกระบวนการดูแลรักษาได้ ทั้งนี้ในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการเผยแพร่คำแนะนำในการใช้สำหรับโรคลมชักรุนแรงในเด็ก ได้แก่ Dravet Syndrome และ Lennox-Gastaut Syndrome อย่างเป็นทางการ โดยมีแนวโน้มที่จะสามารถใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานแล้ว
รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า จากการประกาศแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์โดยไนซ์ที่ออกมานี้ ทำให้หลายคนที่เชียร์การนำกัญชามารักษาผู้ป่วยต่างรู้สึกช็อก เนื่องจากที่ผ่านมาในการเคลื่อนไหวนโยบายกัญชาในประเทศไทย อังกฤษเป็นประเทศที่ถูกยกเป็นต้นแบบของการเปิดใช้เสรีกัญชาทางการแพทย์เสมอ แต่เมื่อดูประกาศที่ออกมานี้จะเห็นได้ว่า นอกจากไม่ได้เปิดให้ใช้ได้เสรีแล้ว ยังกำหนดรักษาได้ 4 โรค และการใช้รักษาในแต่ละโรคยังมีข้อจำกัดการใช้ตามข้อบ่งชี้ที่มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสกดดันการพิจารณาที่ให้ปลดล็อคกัญชาก็ตาม เมื่อหน่วยงานไนซ์มีประกาศแบบนี้แล้ว คงต้องส่งเสียงถามว่าวันนี้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ของไทยเพื่อให้เสรีนั้น จะใช้ข้อมูลหลักฐานใดในการเดินหน้า ขณะที่มีการผลักดันจัดตั้งคลินิกกัญชาในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีการผลักดันให้แพทย์แผนปัจจุบันทำงานรักษาร่วมกันการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกโดยให้มีการจ่ายกัญชาในการรักษา ซึ่งกรณีหากเกิดผลข้างเคียงขึ้น รักษาโดยกัญชาแล้วไม่หาย ซ้ำทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการรักษาจนภาวะโรคลุกลาม ตรงนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หน่วยงานที่ทำในเรื่องกัญชาควรมีการทบทวนหรือดำเนินการอย่างไร รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า วันนี้เรื่องกัญชาทางการแพทย์ควรชัดเจน เพราะในส่วนแพทย์แผนปัจจุบันจากแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยกัญชาทางการแพทย์ ไนซ์ประกาศชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถนำมารักษาได้ทุกโรค และแต่ละโรคที่ใช้รักษายังมีข้อจำกัดอย่างมาก ส่วนของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก การนำมาใช้รักษาต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าเป็นการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่มาตรฐานการรักษาจะต่างจากแพทย์แผนปัจจุบัน โดยขึ้นอยู่กับความเชื่อและความยินยอมพร้อมใจของผู้รับบริการต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งมีข้อมูลชัดเจนแล้วว่า หากใช้การแพทย์ทางเลือกรักษา ไม่รักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน อัตราการตายจะสูงกว่า 2.5 เท่า หากใช้เป็นการเสริมการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมาก อย่างการทำปฏิกิริยากับยาแผนปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบาย ไม่มุ่งแต่ผลักดันจนส่งผลเสียต่อสาธารณะตามมาได้
- 67 views