“หมอธีระวัฒน์” เผยกระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าเต็มที่ หลัง “อนุทิน” ยืนกรานไม่เอาสารเคมีอันตรายภาคการเกษตร ย้ำกระทบสุขภาพทั้งเฉียบพลันและระยะยาว มีข้อมูลวิจัยชัด เคยส่งกรรมการวัตถุอันตรายแต่ไร้การพิจารณา ต้องรอวัดใจกลาง พ.ย.นี้ จะเห็นแก่สุขภาพของประชาชนชาวไทยหรือไม่ 

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เดินหน้าเต็มที่ไม่เอาสารเคมีอันตรายภาคการเกษตร เพราะการใช้สารเคมีเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ขณะที่มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ยังคงเดินหน้ารวบรวมรายชื่อไม่เอาสารเคมีอันตรายเช่นกัน (ร่วมลงชื่อ)

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562  สังคมออนไลน์ รวมทั้งเพจเฟซบุ๊ก  อนุทิน ชาญวีรกูล  มีการแชร์ภาพโรงพยาบาลต่างๆในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ทยอยขึ้นป้ายไม่เอาสารเคมีอันตราย โดยเห็นได้จากรพ.ในจังหวัดศรีสะเกษ เริ่มขึ้นป้ายแล้ว อาทิ รพ.บึงบูรพ์ รพ.ศรีรัตนะ รพ.เมืองจันทร์ รพ.เบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา รพ.น้ำเกลี้ยง รพ.วังหิน รพ.โพธิ์ศรีสุวรรณ รพ.ขุขันธ์ รพ.ไพรบึง เป็นต้น (ภาพรพ.ขึ้นป้าย) 

 

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้ และมีข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมาตลอด เพราะเห็นถึงอันตรายชัดเจน โดยโรงพยาบาลต่างๆ ก็ไม่อยากให้คนป่วย เพราะหากป่วยแล้วโอกาสหายยากมาก ล่าสุดโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ต่างทยอยขึ้นป้ายไม่เอาสารเคมีอันตรายพวกนี้แล้ว และคาดว่าสัปดาห์หน้า รพ.ในสธ.น่าจะทั่วประเทศขึ้นป้ายแน่นอน เพราะไม่มีใครอยากรักษาคนที่เราช่วยไม่ได้

 ต้องวัดใจ คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะลงมติอีกทีกลางเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้  ว่าจะให้ใช้สารเคมีต่อหรือจะเห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน  ซึ่งจริงๆ ไม่ควรแค่อำนาจคณะกรรมการชุดนี้ชุดเดียวเป็นผู้ตัดสิน เพราะที่ผ่านมาก็ชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบของประชาชนภาพรวมเลย 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีข้อมูลการศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศถึงผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช และสารเคมีกำจัดแมลง ส่วนที่กลุ่มบริษัท หรือผู้ที่สนับสนุนออกมาพูดว่า ไม่ใช่สารเคมีกำจัดวัชพืช แต่เป็นสารเคมีควบคุมวัชพืช แตต่ จริงๆ คือ กำจัด เพราะในความเป็นจริงการใช้ ไม่ได้ใช้เล็กน้อย แต่ใช้มากและนาน ที่สำคัญผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบระยะยาว โดยผลกระทบแบบเฉียบพลันจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารที่ได้รับ และวิธีการที่สัมผัสเมื่อถูกที่ผิวหนังก็จะอักเสบ บวม เป็นตุ่มน้ำได้ และจะเป็นช่องทางให้สารพิษเข้าสู่ร่างกาย ขณะเดียวกันทำให้มีเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเข้าร่างกายได้ ก็เป็นต้นเหตุให้เกิดเนื้อเน่า หนังเน่า และหากลุกลามก็จะทำให้เชื้อโรคเข้ากระแสเลือด เกิดเป็นโลหิตเป็นพิษ ช็อก และเสียชีวิตได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น เมื่อเนื้อเน่า ผิวหนังเน่า หากเน่าเมื่อไหร่ก็ต้องตัดแขนตัดขา นอกจากนี้ สารเคมีกำจัดแมลงก็เช่นกัน อันตรายเหมือนกัน ขณะที่ผลระยะยาว สารเหล่านี้จะปนเปื้อนมากับน้ำ อาหาร ทางพืชผักผลไม้มีสารเหล่านี้ปะปน ซึ่งหากร่างกายรับมาเป็นเวลานาน ย่อมเสี่ยงก่อเชื้อมะเร็งในร่างกายได้ งานวิจัยมีรองรับหมด อย่างในสัตว์ทดลอง ทั้งหนู และลิง พบว่าการให้สารในปริมาณน้อยๆ ย่อมก่อโรคพาร์กินสันเกิดขึ้น ซึ่งพิสูจน์ได้จากการตรวจสมอง และพบความผิดปกติในยีนจริง สิ่งเหล่านี้มีตีพิมพ์ลงในวารสารชั้นนำของโลกทั้งสิ้น

“เรามีงานวิจัยรองรับหมดทุกอย่าง ซึ่งเคยส่งให้กรรมาธิการวิสามัญ และเคยส่งให้กรรมการวัตถุอันตรายก่อนหน้าที่จะลงมติในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 แต่เขาก็ไม่ได้นำมาพิจารณา ถัดมาได้มีการพิจารณาอีกทีวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ได้ส่งรายงานฉบับนี้และข้อมูลเพิ่มเติม ก็ยังสรุปว่าไม่มีสาระสำคัญว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งรายงานที่ส่งควบรวมทั้งรายงานของต่างประเทศ และในประเทศ เป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข และควบรวมของมหาวิทยาลัยต่างๆที่ได้ลงพื้นที่และพิสูจน์แล้วว่า สารเคมีเหล่านี้ปะปนในสิ่งแวดล้อม” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

“หมอธีระวัฒน์” เผยไม่ใช่แค่ตนที่ถูกข่มขู่ หลังต้านสารเคมีอันตราย สธ.-สปสช.ยังโดน!