กรมควบคุมโรค เปลี่ยนยารักษาโรคไข้มาลาเรียขนานแรก ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี หลังพบว่ามีอัตราการรักษาหายขาดต่ำกว่าเกณฑ์ของ WHO
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 นพ.อัษฏางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากวารสารทางการแพทย์ ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าในหลายพื้นที่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อปรสิตพลาสโมเดียม ที่ดื้อต่อยารักษามาลาเรีย 2 ชนิด ที่มีการใช้รักษาโรคไข้มาลาเรียในปัจจุบัน นั้น กรมควบคุมโรค ได้มีการเปลี่ยนยารักษาโรคไข้มาลาเรียขนานแรก ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (จังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี) และดำเนินการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยาอย่างใกล้ชิด
ข้อมูลจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 พบรายงานผู้ป่วยโรค ไข้มาลาเรีย 3,279 ราย (เป็นคนไทย 2,345 ราย คิดเป็นร้อยละ 72) เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกัน (ปี 2561 พบผู้ป่วย 4,243 ราย) พบว่าจำนวนผู้ป่วยลดลงร้อยละ 23 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ ตาก ยะลา และกาญจนบุรี ส่วนชนิดของเชื้อที่พบส่วนใหญ่ คือ เชื้อไวแวกซ์ ร้อยละ 82 และฟัลซิปารัม ร้อยละ 14 สำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาที่พบรายงานเชื้อมาลาเรียดื้อยา ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ พบผู้ป่วย 127 ราย (ลดลงร้อยละ 76 ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา) เช่นเดียวกับจังหวัดอุบลราชธานี พบผู้ป่วย 98 ราย (ลดลงร้อยละ 71)
นพ.อัษฏางค์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังประสิทธิภาพยารักษาโรคไข้มาลาเรีย ปี 2561 พบว่าประสิทธิภาพของการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียฟัลซิพารัมที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนด้วยยาไดไฮโดรอาร์ติมิซินิน-ไปเปอร์ราควิน(DHA-PPQ) ในภาพรวมของประเทศมีอัตราการรักษาหายขาด คิดเป็นร้อยละ 94.7 แต่ในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี พบการรักษาหายขาด เพียงร้อยละ 81.8 และ 90 ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ต้องมากกว่าร้อยละ 90
จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแนวทางการใช้ยารักษามาลาเรีย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น มีมติให้เปลี่ยนยารักษาโรคไข้มาลาเรียขนานแรก สำหรับรักษามาลาเรียฟัลซิปารัมที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน จากยาไดไฮโดรอาร์ติมิซินิน-ไปเปอร์ราควินร่วมกับไพรมาควิน เป็นยาอาร์ติซูเนต-ไพโรนาริดีน ร่วมกับยาไพรมาควิน เฉพาะในจังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี สำหรับในพื้นที่อื่นของประเทศไทย ยังคงใช้ยารักษาสูตรเดิม (ยาไดไฮโดรอาร์ติมิซินิน-ไปเปอร์ราควินร่วมกับไพรมาควิน) และได้ดำเนินการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยา และเพิ่มศักยภาพและความครอบคลุมของการให้บริการตามยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569
สำหรับมาตรการกำจัดเชื้อมาลาเรียดื้อยา ประกอบด้วย 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียระหว่างประเทศ 2.เพิ่มศักยภาพประเทศเพื่อนบ้านในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย 3.มีระบบการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยา และเพิ่มศักยภาพและความครอบคลุมของการให้บริการ 4.การควบคุมยุงพาหะ โดยพ่นสารเคมี และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันยุงพาหะสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรียอย่างใกล้ชิด โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการกองทุนโลกด้านมาลาเรีย (Global fund: RAI2E) องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ (TICA) และได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัยและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ควรป้องกันตนเองจากยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุง เป็นต้น หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น ภายหลังกลับจากป่า ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 142 views