"พยาบาลวิชาชีพ" เปิดอีกมุมกรณีประธานอสม.บ้านเหล่าเสนร้องทุกข์ได้รับผลกระทบการบริการหลังถ่ายโอนรพ.สต.ไป อบจ. ชี้หากรพ.สต.ไม่พร้อมควรชะลอการโอนภารกิจไว้ก่อน
จากกรณีประธาน อสม.บ้านเหล่าเสน จ.ศรีสะเกษ เขียนจดหมายด้วยลายมือ ส่งถึง “นพ.สสจ.” ขอหมอกลับคืน รพ.สต. ว่าได้รับผลกระทบจากการบริการ นั้น ต่อมาในวันเดียวกัน นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ให้สัมภาษณ์ในตอนหนึ่งว่า "ความเป็นจริงไม่ได้มีผลกระทบต่อการบริการ บุคลากรที่ถ่ายโอนไป หรือรพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปก็ยังปฏิบัติงาน ให้บริการสาธารณสุขกับประชาชนเช่นเดิม"
เรื่องนี้ล่าสุด 31 ต.ค. 66 นางสาวษารินทร์ สิงห์สวัสดิ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ อดีตทำงาน รพ.สต.บ้านเหล่าเสน จ.ศรีสะเกษ ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า เนื่องจากบุคลากรทั้ง 7 คน เคยวางแผนระบบการทำงานร่วมกันไว้ที่ รพ.สต.บ้านเหล่าเสน เพื่อให้บริการชาวบ้านอย่างเป็นระบบมาโดยตลอด จนกระทั่งเรามีการทำเรื่องขอถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ. จากนั้นในความเป็นจริง เมื่อเราไปศึกษาแล้วไม่เป็นตามที่คาดไว้ จึงได้ทำหนังสือขอยกเลิกการถ่ายโอนรพ.สต.ไป อบจ.ทั้งคนและของ
หลังจากนั้นได้ติดตามข่าวมาตลอดและเข้าใจว่าเราได้ทำเรื่องขอยกเลิกสำเร็จแล้ว และคิดว่าถ้าบุคลากรทั้งหมด 7 คนไม่ไป และ รพ.สต.ไม่มีบุคลากรทำงาน ก็ไม่ควรจะได้รับการโอนภารกิจไป จนกระทั่ง วันที่ 6 กันยายน 66 หนังสือออกมาว่าคนสามารถขอยกเลิกการถ่ายโอนได้ แต่ รพ.สต.ตามภารกิจต้องถูกถ่ายโอนไป ซึ่งเราพยายามทุกช่องทางที่จะให้ รพ.สต.ยังอยู่ เนื่องจากเราวางระบบและมาตรฐานไว้สูงมากในการให้บริการคนไข้ ซึ่ง รพ.สต.เหล่าเสน มีพยาบาล 2 คน นักวิชาการ 1 คน เจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุข 1 คน และผู้ช่วยการพยาบาล 3 คน ซึ่งเปรียบเสมือนกับโรงพยาบาลย่อยที่ให้บริการได้หลากหลายมิติมาก
ทั้งนี้ จากการที่ต้องย้ายออกจาก รพ.สต. กะทันหัน เนื่องจาก รพ.สต. ถูกถ่ายโอนภารกิจไปอยู่ อบจ. แล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ถ่ายโอนไป ผู้บังคับบัญชาต้องให้ย้ายกลับต้นสังกัดนั่นคือ สสอ. เพื่อบริหารบุคลากรให้กับหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้วนั่นเอง
ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ มันเป็นเรื่องฉุกเฉินและเราไม่ได้ตั้งตัวเลย เราได้มีการปรึกษากับหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาแล้วว่าจะให้ทำอย่างไรกับเรื่องนี้เพราะว่ายังไงภารกิจก็ต้องถูกถ่ายโอนไป ปรากฎว่าเมื่อถึงวันที่ 2 ตุลาคม 66 ทาง กกถ.ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ต้องออกจากพื้นที่ รพ.สต.ไป และให้เจ้าหน้าที่ที่ถ่ายโอนไปรายงานตัวที่ อบจ. แล้วเริ่มปฎิบัติงานได้เลย ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ในปีงบฯ 67 พบว่า จ.ศรีสะเกษ มี รพ.สต.ที่ถ่ายโอนภารกิจไปอบจ.ทั้งหมด 4 แห่ง แต่มี 1 แห่งขอยกเลิกถ่ายโอนแต่ไม่สามารถทำได้ ยกเลิกได้เฉพาะบุคลากร ซึ่งหนึ่งใน 4 แห่งนี้ รพ.สต.บ้านเหล่าเสนนั้นมีบุคลากรทั้งหมด 7 คน ที่ต้องออกจากพื้นที่หมดเลย
นางสาวษารินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มองว่าในการจัดการบริหารถ้าหากคิดว่า รพ.สต.ไม่พร้อม น่าจะชะลอการถ่ายโอนไว้ก่อนเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ แต่กลับมาบริหารจัดการกันเอง โดยให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ รพ.สต. อื่นมาหมุนเวียนกัน เช่น ให้นักวิชาการสาธารณสุขมาอยู่เพื่อตรวจคนไข้ ซึ่งในความเป็นจริงนักวิชาการไม่สามารถทำหัตถการหรือจ่ายยาได้ และมีพยาบาลหมุนเวียนมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้อยู่ประจำ แต่ที่ใกล้เคียงกับ รพ.สต.บ้านเหล่าเสนมี 3 แห่ง(รวมรพ.สต.บ้านเหล่าเสน) มีพยาบาล 1 คนเท่านั้นที่หมุนเวียนกันมาให้บริการ แน่นอนว่าทำให้มีปัญหาในการให้บริการคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้ติดบ้านติดเตียง ส่วนใหญ่คือ เบาหวาน ความดัน ซึ่งต้องได้รับการลงพื้นที่ไปดูแลที่บ้านคนไข้ รวมถึงการฟอกไตที่บ้านด้วย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทำฟันก็ไม่มีด้วย ฉะนั้นการให้บริการต่างๆจะเกิดความยากลำบากมาก อย่างการทำฟัน หนึ่งวันจะรับได้ไม่กี่ราย จึงทำให้คนไข้เดินทางไปที่โรงพยาบาลทำให้ถูกเลื่อนนัดการรักษาไปด้วย
"รพ.สต. 1 แห่ง เปรียบเสมือนกับโรงพยาบาลย่อย การที่เจ้าหน้าที่จะออกไปต้องมีการเตรียมพร้อมกันก่อน มีการพูดคุยกันก่อนวางแผนร่วมกันก่อน ซึ่งคนเดิมที่อยู่มีการวางระบบไว้อย่างดีอยู่แล้ว ในการติดตามคนไข้ การเยี่ยมบ้าน การประสานงานต่อเนื่อง และยังคุ้นชินกับคนในพื้นที่อยู่แล้วว่าคนไข้แต่ละคนต้องให้การดูแลอย่างไร ซึ่งโรงพยาบาลหนึ่งแห่งการที่เจ้าหน้าที่เอาภารกิจไปนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่คนเดิมยังอยู่สัก 1-2 คน ก็ยังจะพอพูดคุยปรึกษากันได้ว่าจะดำเนินต่อไปยังไงบ้าง…"นางสาวษารินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
-ชุมชนบ้านเหล่าเสน จ.ศรีสะเกษ เขียนจดหมายถึง นพ.สสจ. ร้องทุกข์รับผลกระทบถ่ายโอนรพ.สต.แล้ว
-“เลอพงศ์” เช็กพื้นที่ศรีสะเกษ หลังทราบข่าวอสม.บ้านเหล่าเสนร้องรับผลกระทบถ่ายโอน ข้อเท็จจริงคนละเรื่อง!
- 6624 views