ปลัดสาธารณสุขประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมินัดแรก ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ส่งแพทย์ลงตำบลเพื่อดูแลประชาชนร่วมกับทีมวิชาชีพและ อสม. เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดรอคอย ลดแออัดในโรงพยาบาลใหญ่
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย
4 กันยายน 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 1/2562 ตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุม
คณะกรรมการมีมติเห็นชอบขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้มีหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ ดูแลประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพใกล้บ้าน มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำตัวเป็นที่ปรึกษา ให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพคนในครอบครัวและชุมชน และมีข้อมูลด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการทุกระดับ โดยจากการมีบริการปฐมภูมิ ตาม พรบ. ใน 10 ปี จะทำให้ประชาชนสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ ลดนอนโรงพยาบาล ลดป่วย ลดพิการ ประหยัดเวลารอคอย จาก 3 ชั่วโมง เหลือ 44 นาที ประหยัดเงินค่าเดินทางไป รพ. เฉลี่ย 1,655 บาท/คน และลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 227,570 ล้านบาท
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวน 1,180 แห่ง ครอบคลุมประชากร 13 ล้านคน ซึ่งในปี 2563 จะมีเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านคน (ร้อยละ 40 ของประชากร) และมีหน่วยบริการเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 แห่ง โดยที่ประชุมได้เห็นชอบประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ปรับปรุงเรื่องแพทย์และการบริการ โดยจัดทำประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง การกำหนดให้แพทย์อื่นทำหน้าที่ดูแลผู้รับบริการแทนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พ.ศ. .... เรื่อง ลักษณะของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการที่จะขึ้นทะเบียน การขึ้นทะเบียน และการแบ่งเขตพื้นที่ เพื่อเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ พ.ศ. ....
ทั้งนี้ หน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ 1 หน่วย ให้การดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ 8,000 - 12,000 คน โดยมีทีมหมอครอบครัวประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 2 คน และนักวิชาการสาธารณสุข 2 คน และทีมสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ได้แก่ ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ แพทย์แผนไทย เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเภสัชกรรม ตามความเหมาะสมของพื้นที่ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
- 484 views