นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (2550 – 2551) เปิดเผยถึง กรณีที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเรื่อง “อนาคตเศรษฐกิจไทย เรากำหนดได้” จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เมื่อ 5 กันยายนที่ผ่านมา โดยสั่งให้กระทรวงการคลังศึกษาเรื่องปฏิรูปภาษี นั้น ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ายาสูบก่อความเสียหายมากมาย ทั้งต่อตัวผู้สูบเอง ต่อครอบครัว และประเทศชาติ ในแวดวงการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกศึกษา พบว่า นโยบายภาษีเป็นนโยบายที่ให้ผลสูงสุด จึงชี้แนะทุกประเทศให้ใช้มาตรการภาษีเพื่อให้ยาสูบราคาสูงขึ้น จะได้บริโภคลดลง ช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งไทยได้ร่วมลงนามให้สัตยาบันกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ หรือ “กฎหมายควบคุมยาสูบโลก” เมื่อเดือนกันยายน 2560 แต่พบว่า รัฐบาลกลับดำเนินการตรงข้ามในเรื่องภาษี คือ ทำให้บุหรี่ต่างชาติหลายยี่ห้อเสียภาษีลดลงและจำหน่ายในราคาลดลงมากอย่างเหลือเชื่อ
“ทุกวันนี้หน่วยงานด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข สสส. และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทุ่มเททำงานเพื่อให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง แต่มาตรการต่างๆ กลับส่งผลได้ไม่มากนัก เพราะบุหรี่นอกราคาถูกลง อันเป็นผลจากนโยบายภาษีของกระทรวงการคลัง ทำให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย อัตราการสูบบุหรี่จึงลดยาก” นพ.หทัย กล่าว
ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม ผู้อำนวยการ สสท. และกรรมการวิชาการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าฟิลลิป มอร์ริส บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่รายงานว่าในปี 2561 มีปริมาณการส่งบุหรี่มาประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือเพิ่มถึงร้อยละ 67.1 จากปีก่อน และจากรายงานล่าสุดก็พบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 นี้ก็ยังเพิ่มอีกร้อยละ 26.6 เทียบกับ 6 เดือนแรกของปีที่แล้ว มีการอธิบายด้วยว่าสาเหตุที่เพิ่มขึ้นมากนั้นเป็นผลจาก “การปฏิรูปภาษีสรรพสามิตของไทยเมื่อเดือนกันยายน 2560” ข้อมูลที่ปรากฏจึงเป็นเรื่องน่าอายขายหน้าชาวโลก เพราะแสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บภาษียาสูบของไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาส่งผลให้มีการนำเข้าบุหรี่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ดร.สุชาดา กล่าวว่า นอกจากภาษีสรรพสามิตแล้ว ควรปฏิรูป ภาษีเงินได้จากผู้ขายยาสูบที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร ซึ่งเพิ่งมีการลงนามเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บในกฎกระทรวงเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา จากเดิม คือ ให้จัดเก็บ ณ ต้นทางสำหรับบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งดีอยู่แล้ว โดยหลักสากลให้ถือปฏิบัติต่อสินค้าที่นำเข้าอย่างเท่าเทียมกับสินค้าที่ผลิตในประเทศที่เรียกว่าหลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment: NT) รัฐบาลจึงควรกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้จากผู้ขาย ณ ต้นทางด้วย ซึ่งสามารถทำได้โดยร่วมมือกับกรมศุลกากรที่ปัจจุบันก็ช่วยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนกรมสรรพากรอยู่แล้ว การจัดเก็บภาษีจากต้นทางยังช่วยลดปัญหาบุหรี่หนีภาษี ซี่งจะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
"เพื่อการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ขอเรียกร้องให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนแก้ไขการจัดเก็บภาษียาสูบเสียใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมายโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบโดยด่วน เพื่อที่ประเทศของเราจะได้ไม่เสียชื่อและไม่เสียหายมากไปกว่านี้" ดร.สุชาดากล่าว
- 30 views