ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสารที่เกิดจากการเผนไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรอง
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (9 กรกฎาคม 67) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสารที่เกิดจากการเผนไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียมพ.ศ. ... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
นางสาวเกณิกา กล่าวว่า โดยที่กฎกระทรวง (พ.ศ. 2540) ไม่ได้กำหนดว่าสารที่ใช้ในการปรุงแต่งชนิดใดเป็นสารต้องห้าม และไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมปริมาณของสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบไว้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่การผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบมีการเติมสารที่ใช้ในการปรุงแต่งหลายชนิด รวมถึงไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก
สธ. จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง และได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย และเว็บไซต์กรมควบคุมโรค และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว รวมทั้งได้ดำเนินการวิเคราะห์การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ด้วย
ร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญดังนี้
1.กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ที่จะขายในราชอาณาจักรต้องแจ้งรายการส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้
2.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องไม่มีสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง สารที่ทำให้เกิดสีอันอาจจูงใจหรือดึงดูดให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ สารที่ทำให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือลดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสารที่ทำให้เข้าใจว่าเพิ่มพลังงานและความมีชีวิตชีวา
3.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องมีปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่เกินปริมาณที่กำหนด ได้แก่ (1) ทาร์ ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน (2) นิโคติน ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อมวน และ (3) คาร์บอนมอนอกไซต์ ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน
4.กำหนดให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ดำเนินการด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
5. กำหนดให้ใบรับรอง มีอายึ 3 ปี กรณีต้นฉบับใบรับรองชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอรับใบแทนใบรับรอง ภายใน 15 วัน และให้ใบแทนใบรับรองมีอายุเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามต้นฉบับใบรับรอง
6.กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลส่วนประกอบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในกรณีที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน
7.กำหนดค่าธรรมเนียมใบรับรองอัตราฉบับละ 100,000 บาท และใบแทนใบรับรองอัตราฉบับละ 2,000 บาท
8. กำหนดให้กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และภายในระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้บังคับใช้ ให้ยกเว้นการควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง และการควบคุมปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบปรับตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย
ทั้งนี้ กค. มีความเห็นว่า
-สธ. ควรศึกษาปริมาณการใช้ส่วนประกอบที่เหมาะสมไม่ให้เป้นกลิ่นหรือรสที่เด่นกว่าธรรมชาติของยาสูบ
-การที่ร่างกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เมนทอลซึ่งเป็นสารสกัดจากพืชตระกูลมินต์ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้พืชตระกูลมินต์ได้เป็นถ้อยคำที่ขัดแย้งและไม่สอดคล้องกันเอง ดังนั้นขอให้พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับสารอื่นใดที่ทำให้เกิดรสชาติและหรือกลิ่นของเมนทอล และชะเอมด้วย และถ้อยคำที่ว่า “...หรือสารอื่นใดที่ทำให้เกิดรสชาติหรือกลิ่นอันอาจจูงใจหรือดึงดูดให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบหรืออาจทำให้การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบง่ายขึ้น...” อาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย
-การกำหนดกรอบระยะเวลาควรมีการหารือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบ และชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบ เพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาในการบังคับใช้ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจกต้องมีระยะเวลาในการปรับตัวหลังการบังคับใช้
และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เห็นว่า ครม. สามารถพิจารณาอนุมัติหลักการรร่างกฎกระทรวงนี้ได้ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวร่างข้อ 5 ที่กำหนดว่าส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องไม่มีสารที่ใช้ในการปรุงแต่งตามที่กำหนดไว้ โดยยกเว้นเมนทอล และชะเอม นั้น อาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎกระทรวงนี้ และวัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาฯ จึงสมควรที่ สธ. จะได้มีการศึกษาผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นจากแพทย์และผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
- 163 views