กรมควบคุมโรค ยอมปรับร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบยาสูบฉบับใหม่ ให้ใส่สารปรุงแต่งบางชนิด แต่สารชูรส ชูกำลังยังห้ามใส่ พร้อมยืดเวลาปรับตัวจาก 3 ปี เป็น 4 ปี รอเข้า ครม.พิจารณา
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ถือเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบของพี่น้องประชาชนคนไทย เนื่องจากเป็นมาตรการที่เข้าไปควบคุมสารประกอบต่างๆ ที่ไม่ได้มีอยู่ในใบยาสูบโดยธรรมชาติและไม่ได้เป็นสารจำเป็นตั้งต้นในกระบวนการผลิต แต่เป็นสารที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ เติมหรือปรุงแต่งเข้าไปในตัวมวนบุหรี่ เพื่อให้สูบง่าย เกิดการเสพติดมากขึ้น ซึ่งสารประกอบเหล่านี้ส่งผลกระทบและอันตรายโดยตรงกับตัวผู้สูบ รวมถึงผู้ได้รับควันบุหรี่ด้วย โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่ 2 ซึ่งยกร่างขึ้นเพื่อทดแทนกฎกระทรวงฯ ฉบับเดิมที่บังคับใช้เป็นกฎหมายมากกว่า 27 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 มีความล้าสมัย ไม่ทันต่อสถานการณ์ และไม่สอดคล้องกับข้อมูลวิชาการในระดับสากล ตลอดจนข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
กรมควบคุมโรค ดำเนินการเสนอร่างกฎหมาย และรับฟังความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงฯ จากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผ่านระบบกลางทางกฎหมาย เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค นอกจากนี้ ได้มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและนำไปสู่การกำหนดมาตรการควบคุมส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยร่วมกับตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อสรุปร่วมกันอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างมิติสุขภาพและมิติเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการปรับแก้เนื้อหาสาระของร่างกฎกระทรวงฯ ให้ผ่อนคลายขึ้นเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย โดยยังอนุญาตให้ใส่สารปรุงแต่งบางชนิดที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตบุหรี่ซิกาแรต และบุหรี่ซิการ์ ได้แก่ เมนทอล ชะเอม โกโก้ น้ำตาล กากน้ำตาล น้ำผึ้ง หรือสารอื่นใดที่ทำให้เกิด รสหวาน ความหวานทุกชนิด และให้เลื่อนระยะเวลาการเริ่มบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่งจากเดิม 3 ปี ออกเป็น 4 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคการผลิต มีระยะเวลาที่เหมาะสมในการปรับตัวให้รองรับกับการควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ในส่วนสารปรุงแต่งชนิดอื่นที่ไม่จำเป็นต่อการผลิต แต่กลับส่งผลต่อการเสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้น เช่น สารชูกำลัง สารที่ทำให้เกิดสีจูงใจ หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ยังจำเป็นต้องห้ามใส่หรือปรุงแต่งไว้เช่นเดิม
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารปรุงแต่งบุหรี่ที่เป็นอันตราย ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับโทษพิษภัยและโรคที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3852 หรือต้องการขอรับคำปรึกษาเพื่อการเลิกบุหรี่ โทรสายด่วน 1600 ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่าการอนุญาตให้ใส่สารเหล่านี้จะยิ่งทำให้ดึงดูดให้น่าสูบมากขึ้นหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า เดิมกฎกระทรวงเมื่อปี 2540 ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการห้ามเติมสารกลิ่นรสต่างๆ มีแต่เรื่องของห้ามเติมทาร์ นิโคติน ทำให้ที่ผ่านมาบุหรี่ต่างๆ ก็สามารถออกรสชาติต่างๆ ได้ การออกร่างกฎกระทรวงนี้เราเข้มขึ้น โดยยกรายละเอียดมาจากองค์การอนามัยโลก โดยเราก็กำหนดว่าห้ามใส่พวกสมุนไพรเครื่องเทศ อย่างชะเอม อบเชย มิ้น กานพลู สารปรุงแต่ง สารจูงใจ สารกลิ่นรส สารชูกำลัง กัญชา พอเราจะห้ามหมดเลยก็มีประเด็นขึ้นมาทำให้ร่างไม่ผ่าน จากการหารือกับภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ ก็เห็นตรงกันว่า ยอมให้ใส่ได้แค่เมนทอล ชะเอม โกโก้ แต่อย่างอื่นเราห้ามใส่จริงๆ ก็ถือว่าเข้มขึ้น เพราะกฎกระทรวงเก่าไม่เคยห้ามมาก่อน
ส่วนเรื่องของน้ำตาล กากน้ำตาล น้ำผึ้ง ตรงนี้ไม่ได้เป็นการใส่เพื่อให้เกิดการจูงใจในเรื่องของกลิ่นรส แต่ที่เขียนไว้เนื่องจากให้ไปทดแทนการผลิตยาสูบ ที่เวลาผลิตแล้วใบยาสูบสูญเสียความหวานตรงนี้ไป จึงเป็นการใส่ในกระบวนการผลิตเพื่อทดแทนเท่านั้น ซึ่งก็จะมีการกำหนดว่าไม่ให้ใส่จนถึงขั้นดึงดูดหรือมีกลิ่นรสหวานออกมาที่ทำให้จูงใจหรือสูบง่ายขึ้น สำหรับการยืดเวลาปรับตัวจาก 3 ปีเป็น 4 ปี ก็เพื่อให้เวลาให้การปรับตัวจากการที่มีการลงเครื่องจักรหรือการผลิตที่มีการใส่สารกลิ่นรสต่างๆ ไปแล้ว หรือการเคลียร์สต๊อกที่มีอยู่ให้ค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ครม. โดยสำนักงานเลขานุการ ครม.กำลังเวียนส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น โดยร่างกฎกระทรวงต้องออกมาภายใน พ.ย. 2567 เพราะหากตกไปก็จะยิ่งควบคุมอะไรไม่ได้
- 170 views