ปลัดสธ.พร้อมผู้บริหาร อย.ตั้งโต๊ะแจงกรณีประกาศฯ ปลดล็อกสารสกัด “กัญชา-กัญชง” ย้ำเป็นยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารซีบีดีบริสุทธิ์-ทีเอชซี 0.2% ด้าน ม.รังสิตเสนอปรับสัดส่วนทีเอชซีใหม่ ส่วนหมอจุฬาเผยมีกัญชงสายพันธุ์อื่นนอกเหนือจากขึ้นทะเบียน
เมื่อเวลา 13.47 น. วันที่ 2 กันยายน 2562 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มอบหมายให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมสุขภาพจิต และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว “สธ.แจงกรณีประกาศฯ ปลดล็อกสารสกัดในกัญชาและกัญชงตามคุณสมบัติที่กำหนด”
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องการใช้กัญชากัญชงมาใช้ประโยชน์ ชัดเจนว่าเป็นเรื่องทางการแพทย์ ซึ่งในเรื่องกัญชงก็เป็นการใช้เส้นใยในอุตสาหกรรม จึงพิจารณาว่า ควรต้องนำมาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น จึงได้ออกออกประกาศ 2 ฉบับ เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ทั้งกัญชา และกัญชง ที่สำคัญประกาศดังกล่าวให้ผลิตภายในประเทศไทย ไม่ได้มีการเอื้อหรือนำเข้าเข้ามา โดยอย่างการผลิตสารซีบีดีบริสุทธิ์ ก็จะเป็นการผลิตออกมาในห้องปฏิบัติการเท่านั้น
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า สำหรับประกาศกระทรวงที่ออกมา 2 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) และประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 ยังคงกำหนดให้ทั้งกัญชากัญชง เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่มีการยกเว้นบางกรณี เนื่องจากพบว่ามีสารที่ใช้ประโยชน์ได้ และยังสามารถสนับสนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยพืชกัญชาที่ได้รับการยกเว้นจากยาเสพติด คือ สารซีบีดีบริสุทธิ์ ซึ่งใช้ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น 2.สารทีเอชซีต่ำ ไม่เกิน 0.2% สามารถนำมาใช้เป็นยาได้ 3.กัญชง ในส่วนเมล็ดกัญชง และน้ำมันจากเมล็ด เป็นส่วนประกอบในอาหาร และ4.น้ำมันจากเมล็ดและสารสกัดจากเมล็ดใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง
“ โดยยังกำหนดว่า ใน 5 ปีแรกสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ใช่ของนำเข้าเข้ามา จึงขอย้ำว่า อย.ไม่ได้มีอะไรซ่อนเร้น เราทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อคนไทย และการกำหนดตามประกาศดังกล่าวส่วนหนึ่งก็ยังเป็นการรองรับในอนาคตที่องค์การอนามัยโลกจะมีการพิจารณาปลดล็อกซีบีดีจากยาเสพติดในช่วงปี 2563 ” นพ.ธเรศ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม จะมีการแจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประกาศผ่านเว็บไซต์ในอย.ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะอนุญาตให้เอกชนปลูกกัญชงได้เมื่อไหร่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เนื่องจากกฎกระทรวงเดิมเกี่ยวกับกัญชง เขียนว่าผู้อนุญาตการปลูกต้องเป็นภาครัฐ เราได้รับมอบจากท่านนรองนายกฯ ในการปรับแก้กฎกระทรวง เพื่อให้เอกชนเข้ามาขออนุญาตปลูกได้ แต่ต้องเป็นคนภายในประเทศเท่านั้น ขณะนี้กำลังดำเนินการเข้าสู่คณะรัฐมนตรีและผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน โดยกฎกระทรวงหากร่างเสร็จแล้วก็จะมีการทำโฟกัสกรุ๊ปก่อน และประชาพิจารณ์โดยกว้างต่อไป อย่างไรก็ตาม ตามกฎกระทรวงเดิมภาครัฐต้องอนุญาต และต้องเป็นพันธุ์ที่มีการรับรอง แต่เน้นเส้นใยเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันก็มีสถาบันวิจัยพื้นที่สูงได้ขออนุญาตปลูกแล้ว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
เมื่อถามต่อว่า จะอนุญาตให้ใช้สายพันธุ์กัญชงอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า สายพันธุ์กัญชงที่ขึ้นทะเบียนเดิมมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีทีเอชซีต่ำอยู่แล้ว แต่ในรายละเอียดก็คงต้องพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องขอหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนก่อน
นพ.ธเรศ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการปรับแก้กฎหมายรองรับกัญชงนั้น จะมีการพิจารณาปรับแก้ประกาศกระทรวงฯ เกี่ยวกับเครื่องสำอาง 1 ฉบับ โดยให้นำน้ำมันจากเมล็ดกัญชงและเมล็ดกัญชงใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางได้ และแก้ประกาศกระทรวงเกี่ยวกับอาหาร 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นการกำหนดให้นำเมล็ดกัญชงและน้ำมันจากเมล็ดกัญชงใช้ในอาหารได้ และกำหนดมาตรฐานของอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชง
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัยมหาวิทยาลัยรังสิต และเครือข่ายประชาสังคมกัญชาฯ กล่าวว่า ทันทีที่เห็นร่างประกาศกระทรวงฯ สิ่งที่กังวล ประการแรก คือ กฎกระทรวงเมื่อปี 2559 กำหนดความหมายของกัญชงว่า มีสารทีเอชซีไม่เกิน 1 % จากใบและดอก แต่ประกาศกระทรวงฯ เหลือ 0.5 % ซึ่งตัดไปครึ่งหนึ่ง โดยตอนกำหนดของเดิมกำหนดจากฐานอะไร สายพันธุ์ไทยหรือไม่ และที่กำหนดใหม่คือครอบคลุมพันธุ์อะไร ครอบคลุมของเดิมหรือไม่ และที่สุดท้ายบอกว่า ต้องมีทีเอชซีไม่เกิน 0.2 % คืออะไร ประการที่สอง ที่ระบุว่าร่างประกาศกระทรวงฉบับนี้พูดถึงซีบีดีสูงมาก เราเป็นห่วงว่า ประชาชนไม่มีทางทำได้ ต้องซื้อเครื่องสกัดขนาดใหญ่ แต่ล่าสุดทาง อย.บอกว่า ใช้แต่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ดังนั้น ตนขอให้มีการเขียนในประกาศเพิ่มเติมได้หรือไม่ว่า ใช้เฉพาะแค่ห้องปฏิบัติการเท่านั้น
“อยากทำความเข้าใจสื่อมวลชนว่า ในร่างอนุสัญญาต่างๆ ไม่มีการกำหนดทีเอชซีว่าเป็นกัญชง กัญชา จึงไม่มีกฎหมายโลกมากำหนด ดังนั้น ประเด็นนี้ต้องชัดเจนว่า ไม่มีกฎหมายโลก เพียงแต่มีมาตรการในการมากำกับการใช้ และเมื่อไม่มีมาตรฐานโลก ทำให้แต่ละประเทศกำหนดกัญชงไม่เหมือนกัน อย่างยุโรปกำหนดสารทีเอชซีไม่เกิน 0.2% และในอเมริกาไม่เกิน 0.3% ขณะที่ออสเตรเลียกำหนด 1 % ดังนั้น สิ่งที่เราเคยกำหนดไว้ก็ไม่ได้เกินไปจากประเทศอื่น เนื่องจากพันธุ์พืชไทยมีบางพันธุ์ไม่ถึง และเลยกว่า 0.3% แต่ไม่เกิน 1% ใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่เป็นห่วงจากการกำหนดเปอร์เซ็นต์แคบเกินไป จะทำให้เรามีสายพันธุ์แคบเกินไป ปัจจุบันทราบจากอย.มีการขึ้นทะเบียนเพียง 4 สายพันธุ์ ซึ่งพันธุ์แบบนี้ถือว่าไม่เยอะ และเหมาะแค่การทำเส้นใย หรือไม่ ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดในช่วงทีเอชซีใหม่ให้อยู่ในช่วง 0.2-1 % ได้หรือไม่ หากทำแบบนี้ก็จะทำให้ประชาชนและเอกชนแข่งขันกันในการพัฒนาสายพันธุ์” นายปานเทพ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีกัญชาสายพันธุ์ที่มีทีเอชซีค่อนข้างมาก แต่ปัญหาของทางการแพทย์ต้องการซีบีดีมากกว่า และเนื่องจากเรามีกัญชาซีบีดีน้อย ซึ่งการที่ทางสธ.จะพยายามเอากัญชงมาใช้ประโยชน์ในเรื่องซีบีดีไม่ใช่แค่เส้นใย แต่ปัญหาคือ สายพันธุ์กัญชงที่เรามียังมีน้อย ยิ่งกำหนดให้มีทีเอชซี 0.2% ยิ่งมีจำนวนน้อยแค่ 4 สายพันธุ์ ทั้งๆที่ปัจจุบันมีกัญชงสายพันธุ์อื่นๆอีก อย่างล่าสุดมีข้อมูลว่ามีกัญชงในประเทศไทยอีก 4 สายพันธุ์ที่มีสารทีเอชซี 0.7-0.8% ซึ่งเกินกำหนด ตรงนี้ก็ต้องมาผลักดันเพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนในร่างกฎหมายใหม่ที่อย.กำลังดำเนินการ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
- 47 views