รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ เตรียมผลิตหลักสูตร “กัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์” พร้อมตอบสนองในทุกมิติ นำร่อง กศน. พร้อมขยายสู่ อสม. ชี้ทุกคนต้องเรียนรู้ เพื่อการส่งเสริมกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ


 
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562  ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมบรรยายพิเศษ “กัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์” ภายในงานมหกรรมภูมิปัญญาอาเซียน จัดโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ว่า วันนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเองเราพัฒนาเรื่องกัญชาช้ากว่าประเทศอื่นทั้งในอาเซียนและทวีปอื่น ๆ หลายสิบปี ทั้งในทางการแพทย์ สันทนาการและนันทนาการ เราเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไม่เฉพาะกัญชาเท่านั้น แต่เราสูญเสียงบประมาณในการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์จำนวนมหาศาลในแต่ละปี เลยจุดประกายความคิดและอยากมีส่วนร่วมจึงได้เสนอให้มีการผลิตหลักสูตร “กัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ทุกเพศทุกวัย ในทุกมิติของสังคม 


“ส่วนตัวเรียนสาย วิทย์-คณิต สมัยก่อนก็เรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผ่านถั่วงอก ปัจจุบันก็ยังทำแบบนั้นดู จะดีแค่ไหนถ้าเราใช้กัญชาเป็นสื่อในการศึกษา  ที่ต้องรู้จริง รู้ลึก รู้ถึงประโยชน์ รู้ถึงโทษ ของกัญชาทุกมิติ ตามความเหมาะสมของช่วงอายุ ช่วงวัย ตามการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และจากที่ได้นำเสนอความคิดนี้ไปก่อนหน้านี้ ก็มีฟีดแบคมากมาย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนไม่เห็นด้วยก็เกรงจะกระทบถึงความเหมาะสม จึงอยากให้ท่านที่ยังมีคำถาม ให้มาเรียนรู้ที่อภัยภูเบศร ที่ภูมิภูเบศร ที่ได้ทำการทดลอง วิจัย สมุนไพรหลายชนิด และต่อยอดพัฒนากัญชาในทางการแพทย์ อยากให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน ทั้งส่วนของภาคสาธารณสุขที่ใช้กัญชาเป็นสมุนไพรทางเลือก และขับเคลื่อนมิติของกฎหมาย ปกป้องกัญชาไทยให้สามารถใช้กับคนไทย และพัฒนาเป็นสินค้าส่งออก สอดคล้องกันทั้งดีมานด์และซัพพลายไม่โอเวอร์ทางการตลาด เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว  
ดร. กนกวรรณ กล่าวด้วยว่า จากการหารือในเบื้องต้นจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อผลิตหลักสูตร “กัญชาพาเรียน” และจะบรรจุเข้าไปอยู่ในการเรียนการสอนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กศน. โดยเป็นศึกษาในภาคปฏิบัติคือเรียนรู้จากพื้นที่จริงเป็นเวลา 4 เดือน โดยมีรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นพี่เลี้ยง และควบคุมคุณภาพของผู้เรียนตลอดหลักสูตร จากนั้นจะคัดเลือกผู้เรียนที่มีความพร้อมเพื่อเป็นเครดิตในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายผลไปสู่ อสม. ที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และอบรมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเป็นเส้นทางสายอาชีพ ยกระดับ อสม.เพื่อไปสู่นวัตกร ในพื้นที่อีอีซี ต่อไปในอนาคต