อภัยภูเบศรเจ้าภาพประชุมวิชาการมหกรรมสุขภาพอาเซียน 8 ประเทศเข้าร่วม ขนนวัตกรรมภูมิปัญญาโชว์ ลาวเปิดความรู้กัญชารักษาริดสีดวงทวาร รูมาตอยด์ มะเร็งกระดูก
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มีการจัดงานประชุมวิชาการมหกรรมสุขภาพอาเซียน หรือ ASEAN Health Wisdom Conference 2019 ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม โดยปีนี้มี 8 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา และไทย โดยแต่ละประเทศได้ นำนวัตกรรมดูแลสุขภาพตามปรัชญาตะวันออกมาจัดแสดง
นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การจัดงาน มหกรรมภูมิปัญญาสุขภาพอาเซียน ครั้งนี้ ถือเป็นงานใหญ่ที่สุดในรอบปีของโรงพยาบาลฯ โดยไฮไลท์สำคัญของการประชุม คือ สนับสนุนการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการแพทย์แผนโบราณและการแพทย์ทางเลือกเพื่อชุมชนอาเซียนที่ยั่งยืน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอความรู้ การใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการแพทย์ดั้งเดิมของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า งานประชุมวิชาการครั้งนี้ แต่ละประเทศนำข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ อาทิ ประเทศเวียดนาม นำเสนอ งานวิจัยว่านแร้งคอคำ กับการรักษาต่อมลูกหมากโต และเนื้องอกมดลูก ซึ่งตรงกับภูมิปัญญาหมอยาพื้นบ้านของไทยเช่นกัน ประเทศมาเลเซีย นำเสนอสมุนไพรพื้นบ้าน ปลาไหลเผือก หรือ ตงกัต-อาลี หรือรู้จักทั่วไปในชื่อ โสมมาเลย์ ช่วยเพิ่มพลังและสุขภาพเพศชาย จากการศึกษาพบว่าช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในเพศชายให้เพิ่มขึ้นได้ถึง 46.8% และยังเพิ่มความแข็งแกร่งและเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ประเทศเมียนมา นำเสนอการรักษาอัมพาตใบหน้า ด้วยการแพทย์แผนเมียนมา ปัญจกรรม การฝังเข็มและการให้ยาสมุนไพรร่วมด้วย
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงานนี้ นอกจากสมุนไพรพื้นบ้านที่คุ้นเคยแล้ว ยังมีเรื่อง กัญชา ที่ถูกหยิบมาเป็นการเรียนรู้ในงานด้วย โดยประเทศลาวนำเสนอข้อมูลกัญชา ว่ามีการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนลาวหลายโรค เช่น ริดสีดวงทวาร รูมาตอยด์ มะเร็งกระดูก แต่ใช้ร่วมกับพืชสมุนไพรอื่น และงานนี้เรายังได้จัดนิทรรศการกัญชาทางการแพทย์ ที่สอนเรียนรู้ตั้งแต่สายพันธุ์ เทคนิคการปลูก เก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูปและการเก็บรักษา คัดเลือกสายพันธุ์ ที่ให้สารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ทั้งที่ให้สาร THC และ CBD เพื่อการใช้ในการรักษาเฉพาะโรค พร้อมร่วมมือกับภาคการศึกษา นำร่องกัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างการเรียนรู้ในเยาวชนอย่างครบมิติทั้งด้านคุณโทษ ชีววิทยาของต้นกัญชา หลักทางฟิสิกส์ และเคมีของกัญชา
ดร.แอนนี่ จอร์ช หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์ บริษัทไบโอทรอพิคส์ เมืองเบอฮัต ประเทศมาเลเซีย กล่าวถึงคุณสมบัติของ ตงกัต-อาลี หรือที่รู้จักในชื่อภาษาไทยว่า โสมมาเลย์ หรือปลาไหลเผือก ในช่วงการประชุมวิชาการอาเซียน ว่า ตงกัตอาลีพบมากในมาเลเซีย เวียดนาม ชวา สุมาตรา ไทยและบอร์เนียว โดยบริษัทฯได้นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ มีสรรพคุณในการเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน เพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายและเพิ่มจำนวนอสุจิ โดยการสกัดน้ำตงกัต-อาลีตามมาตรฐานสากล ด้วยการผสมผสานความทันสมัยของวิทยาศาสตร์ใส่ลงไปในพืชดั้งเดิม จากนั้นนำส่วนรากมาสกัดและอบแห้ง ผ่านการศึกษาด้านความปลอดภัยและพิษวิทยา และได้รับการรับรองคุณภาพแล้ว
ดร.แอนนี่ จอร์ช
“จากการศึกษาพบว่า ตงกัต-อาลี ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน และช่วยปรับฮอร์โมนเทสโทสนเทอโรนให้เพิ่มขึ้น 48.6% และมีคุณสมบัติในการต้านความชรา อีกทั้งยังช่วยเสริมสมรรถนะด้านกีฬา ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อทั้งในกลุ่มผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก เพิ่มความอึด ลดความเครียด ลดระดับคอร์ติซอลซึ่งเป็นตัววัดความเครียด และเพิ่มเทสโทสเทอโรนในการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงเรื่องสุขภาพทางเพศของผู้ชายได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ” ดร.แอนนี่ กล่าว
- 72 views