ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและรุนแรง หากเทียบกับต่างประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนของเขามีเวลาเตรียมตัว และรัฐบาลมีงบประมาณเพื่อรองรับ เพราะเป็นประเทศที่ “รวยก่อนแก่” แต่สำหรับประชากรไทยนั้นส่วนมาก “แก่ก่อนรวย” อีกทั้งรัฐบาลยังไม่สามารถจัดสวัสดิการให้สำหรับทุกคนได้
จากการบรรยายเรื่อง “สังคมอายุยืน เตรียมตัวรับมืออย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ "Voice of the voiceless: the vulnerable populations" ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
งานนี้ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย ผศ.ดร.รักชนก คชานุบาล อาจารย์จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สุรเดช เดชคุ้มวงศ์ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ต่างย้ำชัดว่า ประเทศไทยต้องเตรียมตัวตอนนี้ก่อนที่จะสายเกิน ในอนาคตคนไทยทุกคนจะได้รับผลกระทบจากสังคมสูงวัย หากทำได้ทุกภาคส่วนต้องลงมือทำเลยโดยไม่ต้องรอ
ผลจากความสำเร็จของการคุมกำเนิดในประเทศไทยทำให้อัตราการเกิดลดลง อีกทั้งครอบครัวสมัยใหม่ยังนิยมมีลูกน้อยลง ประกอบกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุข คนไทยจึงมีอายุยืนยาวมากขึ้น โครงสร้างประชากรไทยจึงเปลี่ยนไป ในอนาคตจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก คาดว่าในปี 2579 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ
ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนไทยสูงขึ้น ผู้ชายอยู่ที่ 72 ปี และผู้หญิง 79 ปี การกำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปีจึงอาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป ควรพิจารณาขยายอายุการทำงานในภาครัฐและเอกชน ควรส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น รัฐบาลไทยตั้งเป้าขยายอายุเกษียณราชการเป็น 63 ปีภายในปี 2567 ขณะที่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีแก่เอกชนที่จ้างพนักงานสูงอายุต่อ แต่ยังจำกัดเงินเดือนไว้ไม่เกิน 15,000 บาท
งานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยจะลดและเลิกการทำงานจำนวนมากเมื่ออายุ 45 ปีเป็นต้นไป จำนวนนี้พบว่า ส่วนมากเป็นหญิงซึ่งต้องการอยู่บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ และบางส่วนต้องดูแลหลาน อีกเหตุผล เพราะความสามารถในการใช้พลังแรงกายทำงานลดลง และไม่ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สูงขึ้นด้วย
เมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เด็กเกิดใหม่ลดลง สัดส่วนวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง คนวัยทำงานจะต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบันกลุ่มคนในวัยทำงาน 4 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และเด็ก 1 คน แต่ในเวลาไม่เกิน 15 ปี กลุ่มคนวัยทำงาน 2 คนจะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และเด็กอีก 1 คน จึงน่าเป็นห่วงคุณภาพของคนวัยทำงานในอนาคตซึ่งเป็นผู้จ่ายภาษีเป็นงบประมาณของประเทศ อาจจะทำให้เกิดวิกฤตทางการคลัง ภาษีอากร และระดับการออมลดลง
รัฐบาลต้องส่งเสริมและมีมาตรการบังคับให้คนทำงานมีการออมเพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวเองยามชรา หากพิจารณาระบบสวัสดิการเพื่อรองรับกลุ่มคนทำงานในปัจจุบัน 37 ล้านคน พบว่า เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีระบบสวัสดิการ จำนวน 2 ล้านคน คนทำงานในภาคเอกชนมีระบบประกันสังคมรองรับ 15 ล้านคน ขณะที่อีก 20 ล้านคน เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้างและแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับ ต้องพึ่งตนเอง รัฐบาลได้ตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ส่งเสริมให้ประชาชนออมต่อเนื่องตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไว้ใช้หลังเกษียณ โดยรัฐเติมเงินให้อีกส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ยังพบรูปแบบการออมอย่างอื่น เช่น ชาวบ้านคำปลาหลาย อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ออมต้นไม้เป็นบำนาญชีวิต มีข้อตกลงว่าทุกครัวเรือนจะปลูกต้นไม้ยืนต้นอย่างน้อยปีละ 10 ต้นในที่ดินของตนเอง เป็นการออมด้วยต้นไม้ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามเวลา เมื่อมีเหตุจำเป็นไม้ยืนต้นเป็นสินทรัพย์ที่สามารถตัดขายหรือแปรรูปได้
เมื่อพิจารณาในแง่คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ แม้คนไทยจะมีอายุยืนยาวขึ้น แต่พบว่ามีเพียง 5% เท่านั้นที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ในอนาคตจะพบเห็นผู้สูงอายุนั่งรถเข็นและใช้เปลนอนในโรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าสนใจคือ ผู้สูงอายุมักประสบอุบัติเหตุภายในบ้าน และสถานที่ที่ผู้สูงอายุไปทำกิจกรรมบ่อยๆ
คนส่วนมากมักจะคิดว่า อุบัติเหตุในผู้สูงอายุเกิดจากสภาพร่างกายที่มีแขนขาอ่อนแรง สายตาฝ้าฟาง แต่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า 75% ของผู้สูงอายุที่ประสบเหตุเกิดจากสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย ไม่เหมาะสม เช่น ทางเดินขรุขระ มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีราวจับในห้องน้ำ บันไดสูงชันและลื่น ทุกวันมีผู้สูงอายุเสียชีวิตเพราะล้มวันละ 3 คน ปีละราว 1,000 คน ในความเป็นจริงแล้วการปรับสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่หกล้มหรือพิการ
ประเทศไทยจำเป็นจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน ที่อยู่อาศัย อาคาร สวนสาธารณะ และระบบขนส่งให้ปลอดภัย เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ถึงแม้ได้ปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคาร พ.ศ. 2548 ให้อาคารขนาดใหญ่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับคนชราและผู้พิการ แต่กลับไม่มีผลบังคับกับอาคารที่สร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้
ขณะที่บางชุมชน เช่น เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชนให้ปลอดภัย ระดมช่างในชุมชนช่วยปรับปรุงบ้านที่พร้อมออกค่าวัสดุเพื่อให้เหมาะกับผู้สูงวัย
จากงานวิจัยพบว่า 10 ปีสุดท้ายในชีวิตของคนไทย โดยเฉลี่ยอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ มักอยู่ในภาวะพึ่งพา ไม่สามารถดำเนินกิจวัตรได้ตามปกติ สิ่งที่ควรทำคือ ยืดเวลาในช่วงเวลาสุขภาพดียาวออกไปมากที่สุด ลดช่วงภาวะพึ่งพา และช่วงเวลาป่วยหนักก่อนเสียชีวิตให้สั้นที่สุด ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานสุขภาพได้รณรงค์ให้คนไทยออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง มีโภชนาการที่เหมาะสม มีความฉลาดรู้ด้านสุขภาพ
หลายพื้นที่มีการรวมตัวกันเป็นชมรมผู้สูงอายุ สร้างกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิก ในทางสังคมนั้นเมื่อเมื่อเข้าสู่สถานะผู้สูงอายุ พวกเขามักจะรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้คุณค่า ว้าเหว่ นอกจากนี้พบว่า ยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวตามลำพัง ไม่มีผู้ดูแล การรวมตัวทำกิจกรรมด้วยกันจึงเป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกัน สามารถพึ่งพาเกื้อกูลกันได้ในหลายด้าน
ด้าน อ.โพทะเล จ.พิจิตร มีการดึงผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงออกมาเป็นพลังของสังคม และดึงคนกลางคนซึ่งเป็นผู้สูงอายุสำรองเข้าร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัย จัดกลุ่มจิตอาสาเยี่ยมคนป่วยติดบ้านติดเตียงเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน
ชุมชนและโรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนา อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ด้วยการสนับสนุนของวัดศรีดอนมูลจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพที่อยู่ตรงกลางระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล ผสมผสานกิจกรรมบำบัด กายภาพบําบัด แพทย์แผนไทยและการฝังเข็ม ให้ผู้ป่วยมีกิจกรรม เป็นการเตรียมตัวในการดูแลที่บ้านต่อไป
ขณะที่ใน จ.ลพบุรี โรงพยาบาลลำสนธิ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จัดทำตั้งทีมบริบาลผู้สูงอายุในแต่ละตำบล อาสาสมัครจะเวียนไปบ้านผู้สูงอายุผู้ป่วยติดเตียงเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระความกดดันของญาติบุตรหลานที่ต้องดูแลผู้ป่วยในแต่ละวัน เป็นต้น
นอกจากจะมีจำนวนน้อยลงแล้ว คุณภาพของประชากรไทยอาจจะด้อยลงในอนาคต เพราะครอบครัวที่พร้อมมองว่าการมีลูกเป็นภาระ จึงไม่มีลูกหรือมีแค่คนเดียว แต่แม่วัยใสซึ่งท้องโดยไม่พร้อมกลับเพิ่มขึ้น อีกทั้งพ่อแม่วัยแรงงานส่วนใหญ่ต้องทิ้งครอบครัวมาทำงานในเมืองใหญ่ ปล่อยให้เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย อาจจะขาดการเลี้ยงดูที่เหมาะสม และอาจเกิดปัญหาซ้ำเติม เช่น ปัญหายาเสพติด อุบัติเหตุ ตั้งท้องไม่พร้อม เป็นต้น
คุณภาพเด็กที่จะเกิดเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศจึงน่าเป็นห่วง สังคมไทยต้องวางแผนและออกแบบชีวิตครอบครัวส่งเสริมการมีลูกและเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ กรมสรรพากรเสนอสนับสนุนการมีบุตร ด้วยการให้พ่อและแม่หักลดหย่อนภาษี จากการมีบุตรคนที่ 2 มีกฎหมายให้โรงพยาบาลรัฐสามารถให้คำปรึกษา และบริการฝังยาคุมกำเนิดฟรีแก่วัยรุ่นหญิงเพื่อลดผลกระทบและป้องกันปัญหาแม่วัยใส
จะเห็นได้ว่า ปัญหาของสังคมสูงวัยไม่ได้เป็นเรื่องของผู้สูงวัยในปัจจุบันเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับคนทุกวัย คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนวัย 40 ถึง 50 ปีในปัจจุบันซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ต้องลุกขึ้นมาวางระบบเพื่อช่วยตนเอง ไม่อาจคาดหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูได้เหมือนในอดีต ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา ซึ่งไทยพึ่งพิงแรงงานอยู่ในปัจจุบันก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นกัน อนาคตปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาสำคัญที่หวังพึ่งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้อีก
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องสร้างระบบสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพดี มีช่วงเวลาเจ็บป่วยก่อนเสียชีวิตสั้นลง ทั้งยังต้องปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่ให้ปลอดภัยสอดคล้องกับสังคมสูงวัย ต้องสร้างระบบการออมที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในยามชรา อีกทั้งชุมชนก็ต้องช่วยสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัย สังคมไทยต้องหันมามองผู้สูงอายุว่าไม่ใช่ภาระ แต่คือ ผู้เชี่ยวชาญชีวิต เป็นคลังปัญญา คลังประสบการณ์ และเป็นพลังในการขับเคลื่อนเพื่อดูแลสังคมและผู้อื่น
จากตัวอย่างของหลายประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนไทย อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สวีเดน ฯลฯ พบว่าแต่ละพื้นที่รับมือสังคมสูงวัยในหลากหลายรูปแบบ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ส่งเสริมการเกิดในระดับที่เหมาะสม สนับสนุนให้เลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ ดึงผู้สูงอายุที่แข็งแรงมีประสบการณ์เชี่ยวชาญชีวิตออกจากบ้าน กลับสู่สังคม และปกป้องผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย โดยชุมชนต้องร่วมกันเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
ตัวอย่างหนึ่งของท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในการดูแลคนสูงอายุ อย่างเช่น เทศบาลเมืองโพธาราม จ.ราชบุรี เปิดศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุและพิการ โพธาราม (Day Care Center)โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งราชการ พ่อค้า ประชาชน และอาสาสมัครจิตอาสา เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการพื้นฐาน มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังส่งเสริมความรู้และทักษะกับผู้สูงอายุและครอบครัวในการดูแลฟื้นฟู
“ต้องสร้างความเข้าใจว่า สังคมสูงวัยเกิดขึ้นแน่ และไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุเท่านั้น ทุกคนได้รับผลกระทบหมด เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วย สื่อเองต้องทำหน้าที่ให้คนเข้าใจ เมื่อก่อนเรารณรงค์ให้มีลูกน้อย แต่ตอนนี้ต้องรณรงค์แผนชีวิตครอบครัวว่าจะอยู่กันอย่างไร ชุมชนจะอยู่อย่างไร แต่ละท้องที่ต้องลุกขึ้นมาเพื่อวางระบบด้วยตัวเอง จะไปหวังส่วนกลางอย่างเดียวไม่ได้ สถานการณ์จะรุนแรงมากอีกในประมาณ 10 ปี ถ้าไม่วางระบบตอนนี้ไม่ทันแน่ ต้องทำตอนนี้” ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กล่าว
- 657 views